หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น (ตอนจบ)

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
4 Min Read
17 มิถุนายน 2565
4.847k views
Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น_ตอนจบ_Thumbnail
Highlights
  • ก่อนที่จะลงทุนในหุ้น เราควรสำรวจความพร้อมของตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ก่อน เช่น มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินหรือไม่ เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินเย็นหรือเปล่า หรือแม้แต่ความรู้ด้านการลงทุนที่เรามีเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น

  • จากสถิติ “หุ้น” คือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว ดังนั้น การลงทุนในหุ้นจะได้ผลตอบแทนที่ดีได้ต้องลงทุนระยะยาว

  • หลักการเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ต้องเป็นบริษัทที่มีกำไรและเงินปันผลเติบโตสม่ำเสมอ มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง เป็นผู้นำในธุรกิจ และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เป็นต้น

ใน 2 ตอนที่แล้ว ผมได้ตอบคำถาม 6 ข้อ สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้น หรือผู้ที่เริ่มลงทุนหุ้นแล้วยังไม่มั่นใจว่าเราเข้าใจหุ้นจริงหรือไม่ ซึ่ง 6 คำถามประกอบไปด้วย

  1. หุ้นคืออะไร
  2. ลงทุนหุ้นแล้วได้อะไร
  3. ลงทุนหุ้นเริ่มต้นอย่างไร
  4. ลงทุนหุ้นได้ผลตอบแทนเท่าไร
  5. นักลงทุนหุ้นมีกี่ประเภท
  6. การลงทุนหุ้นมีความเสี่ยงไหม

 

โดยหากใครยังไม่ได้อ่าน ให้ย้อนไปอ่านได้ที่นี่ "บทความแรก : หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น" และ "บทความที่ 2 : หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น ตอน 2"  วันนี้ผมจะมาตอบอีก 3 คำถามสุดท้าย นั่นคือ

  1. ลงทุนหุ้นเริ่มเมื่อไรดี
  2. ซื้อหุ้นอย่างไรถึงได้ผลตอบแทนที่ดี
  3. เลือกหุ้นลงทุนอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าจะซื้อหุ้นอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่ดี หรือซื้อหุ้นพื้นฐานดีมีวิธีอย่างไร ผมคงตอบอย่างละเอียดไม่ได้ในฉบับนี้ และตอบไม่ได้ลึกนะครับ ไว้จะมาลงรายละเอียดในตอนต่อ ๆ ไป เรามาเริ่มตอบ 3 คำถามสุดท้ายกันเลย

คำถามที่ 7

เริ่มลงทุนหุ้นเมื่อไรดี

จะบอกว่าเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ด้วยการลงทุนหุ้นนั้นมีความเสี่ยงไม่ว่าเราจะลงทุนหุ้นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม ดังนั้น ก่อนจะเริ่มลงทุนหุ้น อยากให้ลองสำรวจตัวเอง ตามลิสต์ที่อยู่ด้านล่างนี้ว่าเราพร้อมหรือไม่

  • มีหนี้มากน้อยแค่ไหน หากมีหนี้ควรพยายามจ่ายหนี้ให้หมดก่อน เพราะผมมองว่าต้นทุนจากการกู้ยืมเงินสูงมากโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม หากเป็นหนี้ระยะยาว เช่น เงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัยก็อาจพอยกเว้นได้ที่จะลงทุนหุ้นพร้อมกับจ่ายหนี้ไปได้ เพราะหากรอปลดหนี้ที่อยู่อาศัยให้หมดก่อนคงใช้เวลานานพอควรและคงไม่ได้เริ่มลงทุน แต่เมื่อใดก็ตามที่เราได้เงินก้อนมา เช่น เงินโบนัส หรือมรดก เป็นต้น ผมแนะนำให้นำเงินไปชำระเงินกู้ก่อน

 

  • มีเงินฉุกเฉินเพียงพอ 3 – 6 เดือนของเงินเดือน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะการลงทุนหุ้นมีความเสี่ยงที่บางช่วงเวลาเราอาจขาดทุนและจำเป็นต้องใช้เงินด่วนไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น ตกงาน สุขภาพ ครอบครัว เป็นต้น เราอาจต้องขายหุ้นขาดทุนทั้งที่เราไม่อยากขายออกไป ซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสการลงทุน

 

  • กันเงินสำหรับเรื่องสำคัญ แม้ว่าการลงทุนจะสำคัญสำหรับการมีอิสรภาพทางการเงิน แต่เราต้องไม่ลืมว่ายังมีเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น เรื่องการศึกษาลูก การท่องเที่ยว ประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งก่อนที่เราจะกันเงินมาเพื่อลงทุนหุ้น เราควรมั่นใจว่าได้กันเงินออมสำหรับสิ่งที่สำคัญในชีวิตแล้ว

 

  • ควรเป็นเงินเย็น การกันเงินมาลงทุนหรือหากเราได้เงินก้อนมาแล้วจะนำเงินมาลงทุนหุ้น ควรต้องมั่นใจว่าเงินก้อนนั้นเป็นเงินเย็นจริง ๆ คือไม่ต้องนำมาใช้อย่างน้อย 5 ปี หรือต้องไม่พยายามนำเงินก้อนนี้ไปซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือของฟุ่มเฟือย เพราะการเติบโตของเงินหรือสินทรัพย์ต้องใช้เวลา หากเราลงทุนหุ้นมา 5 ปี ได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้วเรานำไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่มีมูลค่าลดลง เราจะต้องกลับมาเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่อีกรอบ ทำแบบนี้สองรอบ โอกาสพบอิสรภาพทางการเงินอาจเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจหายไปเลยก็ได้

 

  • มีความรู้มากพอ ความหมายของการมีความรู้มากพอ ไม่ได้หมายความว่ามีความรู้มากนะครับ ผมหมายถึงให้รู้จักตัวเองว่าเรามีความรู้แค่ไหน เพราะการลงทุนหุ้นมีตั้งแต่ง่ายไปยาก เช่น เราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนหุ้นผ่านกองทุนรวมก็ได้ ซึ่งไม่ได้ต้องใช้ความรู้มากเพราะเราให้ผู้จัดการกองทุนจัดการเรื่องการลงทุนหุ้นให้เรา แต่หากเราคิดจะลงทุนหุ้นรายตัวและลงทุนหุ้นเป็นสัดส่วนที่สูงในพอร์ตลงทุน เราต้องมีความรู้มากพอในเรื่องการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือหากจะลงทุนแนวเก็งกำไร ก็ต้องเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือทางเทคนิคต่าง ๆ ที่นำมาใช้เก็งกำไร จำไว้ว่าการตัดสินใจลงทุนหุ้นไม่ว่าจะผ่านกองทุนรวมหรือหุ้นรายตัว เราต้องมีความรู้เพียงพอที่จะตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เห็นใครซื้อก็ซื้อตาม ใครให้ขายก็ขาย เพราะไม่มีใครรู้แนวทางการลงทุนของเราเท่ากับตัวเราเอง

 

“เราต้องมีความรู้เพียงพอที่จะตัดสินใจลงทุนได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ใครบอกให้ซื้อก็ซื้อ ใครบอกให้ขายก็ขาย
เพราะไม่มีใครรู้แนวทางการลงทุนของเราเท่ากับตัวเราเอง”

คำถามที่ 8

ซื้อหุ้นอย่างไรถึงได้ผลตอบแทนที่ดี

จากสถิติในระยะยาว “หุ้น” คือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าในระยะยาว จากตารางด้านล่าง ซึ่งผมนำมาแสดงให้ดูในตอนก่อนหน้านี้ เราจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2007 – 2021 หรือ 14 ปีผ่านมา ซึ่งมีการผ่านวิกฤติใหญ่ ๆ มา 2 ครั้ง นั่นคือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤติ COVID-19 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 9.59% (ไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล) ขณะที่หุ้นโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7.82% (ไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล) ซึ่งสูงที่สุดหากไม่นับรวมทองคำ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลตอบแทนรายปีจะพบว่า ผลตอบแทนหุ้นมีความผันผวนสูงมาก โดยบางปีให้กำไรสูงกว่า 30% แต่บางปีก็ขาดทุนมากกว่า 40% หรือพูดภาษาการลงทุนก็คือ มีความเสี่ยงสูงมาก และสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ การลงทุนหุ้นจะได้ผลตอบแทนที่ดีได้คือต้องลงทุนระยะยาว

Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น_ตอนจบ_01

แต่มีคำถามตามมาว่า หากเราเป็นนักลงทุนเก็งกำไรที่ลงทุนระยะสั้น เราจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร เพราะการลงทุนหุ้นต้องลงทุนระยะยาว ผมต้องอธิบายว่า แม้เราจะลงทุนระยะสั้นแต่เราต้องลงทุนไปนาน ๆ เพราะแน่นอนว่า หากเราเก็งกำไรในปีที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงโอกาสที่จะกำไรอาจน้อยลงหรืออาจขาดทุนได้ ซึ่งหากเราท้อแล้วเลิกลงทุนไปเสียก่อน ปรากฏว่าในปีถัดไปหุ้นเป็นขาขึ้น แต่เรากลับไม่ได้เข้ามาเก็งกำไร ก็จะเสียโอกาสในการลงทุน

 

ดังนั้น แม้ว่าเราจะลงทุนแบบเก็งกำไร แต่เราก็ต้องอยู่ในตลาดหุ้นแบบต่อเนื่อง อย่าบ่นว่าเหนื่อยที่จะต้องคอยเฝ้าตลาด เพราะเราเลือกแล้วมิใช่หรือว่าเราจะเป็นนักเก็งกำไร ขออย่าท้อเพราะตลาดหุ้นไม่ได้ดีทุกปี แต่จากสถิติที่ผ่านมามีจำนวนปีที่ดีมากกว่าจำนวนปีที่แย่ นี่ถือว่าเป็นการให้กำลังใจนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 9% - 10% ต่อปี เราก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น เช่น หากเราเป็นนักลงทุนหุ้นแนว VI เราต้องมีวิธีดูว่าหุ้นที่มีพื้นฐานดีเป็นอย่างไร สามารถถือลงทุนระยะยาวได้หรือไม่ และควรซื้อหรือควรขายเมื่อไหร่ ที่ราคาเท่าใด

 

ส่วนนักลงทุนระยะสั้นเราต้องตัดสินใจซื้อขายได้ด้วยตัวเอง และมีวินัยในการตัดขาดทุน (Cut Loss) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่านักเก็งกำไร หากเราตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้และต้องพึ่งคนอื่น จะซื้อขายหุ้นทันได้อย่างไร ตลาดหุ้นเวลาบ้าคลั่งราคาขึ้นเร็วและลงเร็วมากนะครับ อย่างไรก็ตาม หากเราเป็นมือใหม่แล้วความรู้ยังไม่มากพอ ก็อย่าลืมว่าเรายังสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวม หรืออาจลงทุนหุ้นรายตัวแบบ Dollar Cost Average (DCA) หรือแบบ Value Averaging (VA) ได้ ซึ่งการลงทุนทั้งแบบ DCA และ VA นั้นลงทุนอย่างไร ผมจะนำมาอธิบายในตอนต่อไป พร้อมยกตัวอย่างจริงเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น

คำถามที่ 9

เลือกหุ้นลงทุนอย่างไร

แม้ว่าเราจะลงทุนหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้น เรายังต้องมีความรู้ว่ากองทุนรวมหุ้นใดที่เราควรซื้อ เช่น เราต้องการกองทุนรวมหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศ หรือเราต้องการกองทุนรวมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหรือกองทุนรวมหุ้นกลุ่มสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ช่วงเริ่มต้นของการลงทุนหุ้นเราอาจเลือกกองทุนรวมแบบรายประเทศ เช่น กองทุนรวมหุ้นไทยหรือกองทุนรวมหุ้นจีน หุ้นสหรัฐฯ เป็นต้น หรือหากอยากลงทุนหุ้นต่างประเทศแต่เลือกประเทศไม่ถูก เราก็สามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นโลกก็ได้ แต่หากเราจะเลือกหุ้นรายตัวไม่ว่าจะเป็นหุ้นในประเทศหรือหุ้นต่างประเทศ เราต้องมีความรู้ว่าเราจะเลือกหุ้นพื้นฐานดีได้อย่างไร ราคาไหนควรซื้อหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้เราต้องขายหุ้นตัวนั้นออกไป ซึ่งในตอนนี้ผมยังไม่อาจอธิบายในรายละเอียดการเลือกหุ้นพื้นฐานดีได้ แต่ผมขอบอกไว้ 6 หัวข้อหลักที่ผมใช้ในการเลือกหุ้นพื้นฐานดีเพื่อลงทุนแนว VI นั่นคือ

  1. เป็นบริษัทที่มีกำไรและเงินปันผลเติบโตสม่ำเสมอ
  2. เป็นบริษัทที่มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง
  3. เป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจ
  4. เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง
  5. เป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง
  6. เป็นบริษัทที่มีบรรษัทภิบาล

 

ใน 3 ตอนที่ผ่านมา ผมได้ตอบคำถามว่า ทำไมเราควรลงทุนหุ้น เริ่มลงทุนหุ้นต้องทำอย่างไร และจะลงทุนหุ้นอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่บางคำตอบยังคงเป็นเพียงหลักการคร่าว ๆ โดยเฉพาะวิธีการลงทุนหุ้นอย่างไรเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีนั้นยังคงต้องขยายความอีกมาก แต่อย่างน้อยเราเข้ามาในโลกของตลาดหุ้นมากขึ้นแล้ว และจากนี้ไปโลกของการลงทุนจะเปิดให้เราเข้ามาศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ติดตามตอนต่อไปครับ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทน ความเสี่ยง และภาษีจากการลงทุน ตลอดจนการวิเคราะห์หุ้น วิธีการซื้อขายหุ้น และสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร ลงทุนหุ้นฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: