หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น ตอน 2

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
4 Min Read
28 เมษายน 2565
4.204k views
Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น ตอน 2_Thumbnail
Highlights
  • การไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน ก็เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด

  • เสน่ห์ของการลงทุนหุ้น คือความพยายามที่จะลดความเสี่ยง แต่ยังคงสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้

ในตอนที่แล้ว ผมได้ตอบคำถาม 4 ข้อ สำหรับผู้ต้องการเริ่มลงทุนในหุ้น หรือผู้ที่เริ่มลงทุนหุ้นแล้วยังไม่มั่นใจว่าเราเข้าใจหุ้นจริงหรือไม่ ซึ่ง 4 คำถามประกอบไปด้วย

1. หุ้นคืออะไร
2. ลงทุนหุ้นแล้วได้อะไร
3. ลงทุนหุ้นเริ่มต้นอย่างไร
4. ลงทุนหุ้นได้ผลตอบแทนเท่าไร

โดยหากใครยังไม่ได้อ่าน ให้ย้อนไปอ่านได้ที่นี่ "บทความ : หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น" วันนี้ผมจะมาตอบอีก 2 คำถาม ได้แก่

5. นักลงทุนหุ้นมีกี่ประเภท
6. การลงทุนหุ้นมีความเสี่ยงไหม

และในฉบับต่อไปผมจะมาตอบอีก 3 คำถาม คือ ลงทุนหุ้นเริ่มเมื่อไรดี ซื้อหุ้นอย่างไรถึงได้ผลตอบแทนที่ดี และคำถามสุดท้าย เลือกหุ้นลงทุนอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถามที่ว่าจะซื้อหุ้นอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่ดี หรือซื้อหุ้นอะไรดีนั้น ผมคงตอบอย่างละเอียดไม่ได้ในฉบับนี้หรือฉบับหน้า แต่ติดตามบทความผมไปเรื่อย ๆ ครับ รับรองจะสอนวิธีลงทุนหุ้นที่ถูกต้องสำหรับทุกประเภทการลงทุน

คำถามที่ 5

นักลงทุนมีกี่ประเภท : นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้มีประเภทเดียวหรอกหรือ ก็แค่ซื้อแล้วก็ขายวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จริงอย่างที่ว่าละครับ แต่ประเภทนักลงทุนของผมจะแบ่งตามวิธีการลงทุน ซึ่งหากเราไม่เข้าใจว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหนถือว่าเป็นความผิดพลาดมหันต์ และผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน เพราะนักลงทุนแต่ละประเภทมีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกัน และก็ใช้ความรู้ในการลงทุนที่แตกต่างกันด้วย

“การไม่รู้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน ก็เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด”

 

จากประสบการณ์ของผม นักลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ และ 4 ประเภทย่อย ประกอบไปด้วย

1. นักลงทุน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย
  • นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) คือ นักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะยาว เหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น นักลงทุนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทในระยะยาวเป็นหลัก (ซึ่งในฉบับถัด ๆ ไปเราจะมาคุยกันว่าบริษัทที่จะยั่งยืนในระยะยาวมีวิธีการวิเคราะห์อย่างไร) ส่วนผลตอบแทนที่คาดหวังจะมีทั้งราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาวจากการเติบโตของกำไรของบริษัท และที่สำคัญคือ เงินปันผลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น

 

  • นักลงทุนห่านทองคำ (Yield Investor) คือ นักลงทุนที่เน้นเรื่องอัตราผลตอบแทนของเงินปันผลเป็นหลัก จะให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอของบริษัทที่เข้าไปลงทุน เหมือนห่านที่ออกไข่ทองคำมาให้ทุกวัน (แต่อย่าฆ่าห่านนะ) ซึ่งไม่ต่างจากนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เน้นเงินปันผลเช่นเดียวกัน แต่นักลงทุนห่านทองคำจะเน้นผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงและสม่ำเสมอ แต่ไม่เน้นเรื่องการเติบโตของกำไรมากนัก เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า น้ำประปา ที่กำไรสม่ำเสมอและให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสม่ำเสมอ แต่ด้านกำไรที่เติบโตตามเศรษฐกิจไม่ได้โดดเด่น แต่ข้อดีคือ มีความเสี่ยงของการลงทุนที่ต่ำกว่าหุ้นของนักลงทุนเน้นคุณค่าที่จะให้ความสำคัญของการเติบโตของกำไรในระยะยาวมากกว่า

 

2. นักเก็งกำไร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทย่อยเช่นกัน
  • นักลงทุนโมเมนตัม (Momentum Investor) คือ นักลงทุนที่ลงทุนตามสถานการณ์ของตลาดหุ้นหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น (Event Driven) เป็นหลัก เช่น การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เงินฝืด อัตราดอกเบี้ย ตัวเลขนำเข้า – ส่งออก การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางเงินไหลเข้า – ไหลออก เป็นต้น

 

นอกจากนี้ อาจมีการเก็งกำไรตามการเปลี่ยนแปลงผลกำไรของบริษัทในระยะสั้นหรือกลาง เช่น ผลกำไรรายไตรมาส รายปี หรือแม้กระทั่งเก็งกำไรจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ การเมืองในประเทศ เป็นต้น เชื่อไหมเดือนมิถุนายน ราคาหุ้นโรงหนังจะปรับขึ้น ช่วงตรุษจีน ราคาหุ้นของบริษัทที่ขายหมูขายไก่ขึ้น หรือช่วงมอเตอร์โชว์หุ้นกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์และหุ้นกลุ่มยานยนต์จะขึ้น หุ้นส่งออกจะขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นต้น (เพราะอะไรลองไปคิดต่อดูนะครับ)

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่านักลงทุนประเภทนี้ต้องมีความรู้มากพอสมควร ที่จะต้องรู้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มีผลอย่างไรต่อราคาหุ้น ทั้งรายกลุ่มอุตสาหกรรมและรายบริษัท อย่างไรก็ตาม แม้จะยากแค่ไหน แต่ก็มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่เก็งกำไรแบบนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้นหรือรู้ไม่มากพอ แต่ที่น่ากลัวคือ นักวิเคราะห์หุ้นชอบแนะนำให้นักลงทุนซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น ตามวิธีนี้เยอะมาก ดังนั้น นักลงทุนที่ไม่เหมาะกับการลงทุนแบบนี้มักจะไม่ประสบความสำเร็จ และอาจถึงขั้นโทษว่าตลาดหุ้นเหมือนบ่อนการพนันมากกว่า

 
“อย่าตกเป็นเหยื่อของการลงทุนหุ้น เพราะความรู้น้อยโดยเด็ดขาด”

 

  • นักเก็งกำไร (Speculator) คือ นักลงทุนที่เน้นทำกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในระยะสั้น ระดับรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน โดยอาศัยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่เน้นดูกราฟราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายหุ้นเป็นหลัก โดยจะมีทฤษฎีว่าหากกราฟราคาหุ้นเคลื่อนไหวแบบนี้ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากหรือน้อย จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นจะปรับลงหรือขึ้น โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากนัก หรืออาจจะมีสัญญาณของตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่าราคานี้ต้องซื้อ ราคานี้ต้องขาย ดังนั้น นักลงทุนประเภทนี้ต้องดูกราฟราคาหุ้นเป็น ต้องรู้สัญญาณบ่งชี้ว่าควรซื้อหรือควรขาย และที่สำคัญแม้ว่าจะขาดทุนก็ต้องขายตามสัญญาณ ซึ่งเรียกว่าตัดขาดทุน (Cut loss) ซึ่งเป็นวินัยที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนประเภทนี้ แต่เชื่อผมเถอะ จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาเกือบ 30 ปี คือถึงเวลาต้องตัดขาดทุน ทำใจไม่ได้ สุดท้ายก็พ่ายแพ้ไป คนชนะคือคนที่เข้าใจ มีความรู้ และมีวินัยที่มากกว่า

 

ผมไม่ได้มีอคติกับการลงทุนประเภทไหนเลย โดยส่วนตัวผมเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่ากับห่านทองคำ แต่ก็มีเงินส่วนหนึ่งที่เข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่าง ๆ และงานที่ผมทำส่วนใหญ่ก็เป็นแนวให้คำแนะนำนักลงทุนแบบโมเมนตัม ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนประเภทไหนหรือจะเป็นหลายแบบก็ได้ มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น ผมขอแค่ให้แน่ใจว่าเรามีความรู้และความเข้าใจว่านักลงทุนแต่ละประเภทมีวิธีการลงทุนอย่างไร ดังนั้น เราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราเป็นประเภทไหน แต่หากยังตัดสินใจไม่ได้ การจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงผ่านกองทุนรวมถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่เราจะมีความรู้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำก่อนว่า แม้ว่าเราจะศึกษามาอย่างดีในการลงทุนประเภทต่าง ๆ แต่ไม่ได้การันตีว่าเราจะถูกต้อง 100% เพราะไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยด้านเทคนิคล้วนแล้วแต่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกประเภทต้องเข้าใจและต้องติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นตลอดเวลา เพียงแต่วิธีในการติดตามนั้นจะแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับประเภทการลงทุนที่เราเลือก เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไปความคิดเราอาจจะเปลี่ยน หรือลงทุนไปสักพักแล้วรู้สึกว่าเราเลือกประเภทนักลงทุนผิด เราก็สามารถเปลี่ยนวิธีการลงทุนได้

 

“จงอย่าปล่อยให้ความผิดพลาดครั้งเดียว ทำลายพอร์ตการลงทุนของเราทั้งหมด
ดังนั้น ติดตามธุรกิจหรือสถานการณ์ของตลาดหุ้นที่เราเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตามวิธีการลงทุนที่เราเลือก”

คำถามที่ 6

ลงทุนหุ้นมีความเสี่ยงไหม : เป็นคำถามที่คลาสสิคมากนะครับ ผมอยากถามกลับว่ามีอะไรที่เราทำทุกวันนี้ไม่มีความเสี่ยงบ้าง ขับรถก็เสี่ยงชน ข้ามถนนก็เสี่ยง ไปเที่ยวก็เสี่ยงฝนตก อยู่บ้านก็เสี่ยงหกล้ม ทุกเรื่องในชีวิตมีความเสี่ยงหมด แต่เรารอดกันมาได้ไม่ใช่เราไม่เสี่ยง แต่เรารู้จักบริหารหรือจำกัดความเสี่ยง เช่น กลัวค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ทำประกันชีวิต กลัวรถชนก็ทำประกันภัยรถยนต์หรือประกันอุบัติเหตุ กลัวหกล้มในบ้านก็ทำพื้นไม่ให้ลื่น ฯลฯ

และอะไรคือ เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนหุ้น แน่นอนคือความรู้ในการลงทุน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่เหมาะสม และการใช้เงินเย็นในการลงทุน ซึ่งเรื่องการป้องกันความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ผมต้องขยายความแน่นอน แต่ในฉบับนี้ผมอยากให้เปรียบเทียบกราฟราคาหุ้นของ 2 บริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน นั่นคือธุรกิจสื่อสาร ทั้งนี้เพื่อตัดความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมออกไปส่วนหนึ่ง สังเกตไหมครับหากเราเลือกหุ้นถูกความเสี่ยงก็จะลดลง ดังนั้น ความรู้ในการเลือกหุ้นจึงมีความสำคัญมากในการลดความเสี่ยง

Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น ตอน 2_01

อย่างไรก็ตาม การเลือกหุ้นลงทุนเพียงบริษัทเดียวก็ถือว่าเป็นความเสี่ยง เช่น หากเราเลือกลงทุนหุ้น TRUE ก็มีโอกาสขาดทุนสูงในระยะยาว (ข้อมูลในอดีตนะครับ ไม่ได้มองอนาคตซึ่งราคาอาจปรับขึ้นได้) ดังนั้น การลดความเสี่ยงอีกวิธีหนี่งคือการลงทุนในหุ้นหลายบริษัทมากขึ้น เพราะหากพลาดหุ้นบริษัทหนึ่ง อาจมีอีกบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ที่ผมกล่าวมาเป็นการป้องกันความเสี่ยงแบบการลงทุนระยะยาว แต่หากลงทุนแบบเก็งกำไร การเลือกหุ้นลงทุนก็ยังคงมีความสำคัญ แต่การกระจายความเสี่ยงด้วยการถือหุ้นหลายบริษัทคงไม่ใช่วิธีการป้องกันความเสี่ยงของการเก็งกำไร แต่วินัยในการตัดขาดทุนต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า

 

ดังนั้น โดยสรุปการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่เราเข้าไปลงทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นก็มีวิธีในการป้องกันความเสี่ยงที่สามารถนำมาใช้ให้เราไม่เสี่ยงเกินไปและยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่งดงามได้ ดังนั้น “เสน่ห์ของการลงทุนหุ้น คือความพยายามในอันที่จะลดความเสี่ยง แต่ยังคงสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้” ซึ่งในฉบันต่อ ๆ ไป เราคงเจาะลึกในรายละเอียดมากขึ้น

 

หมายเหตุ : ตัวอย่างหุ้นที่นำมา ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


เลือกหุ้นให้ถูกสไตล์ มีชัยไปกว่าครึ่ง สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้สไตล์การลงทุนแบบต่าง ๆ รวมไปถึงสไตล์หุ้นแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกหุ้นและวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Investment Styles ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: