หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
4 Min Read
14 มีนาคม 2565
8.568k views
Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น_Thumbnail
Highlights

หุ้นคือสิทธิของการเป็นเจ้าของกิจการ เช่น การร่วมกันเปิดร้านอาหารกับเพื่อนโดยออกเงินคนละครึ่ง แปลว่าเรามีสิทธิอยู่ในกิจการนั้นอยู่ครึ่งหนึ่ง ขณะที่ในตลาดหุ้น ก็จะมีหลาย ๆ บริษัทที่ทำการออกหุ้นและเสนอขายให้กับคนทั่วไป ซึ่งการที่เราไปซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านั้นและถือไว้ แปลว่าเราร่วมเป็นเจ้าของบริษัทนั้นด้วย เพียงแต่สิทธิความเป็นเจ้าของจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่เราถือ โดยเมื่อบริษัทมีกำไร หรือมีเงินเหลือ ก็จะแบ่งเงินมาจ่ายคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล

ตลาดหุ้นเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2518 นับถึงปัจจุบันก็เกือบ 47 ปีแล้ว แต่ทำไมคนไทยถึงเปิดบัญชีหุ้นเพียงประมาณ 5 ล้านบัญชี (จำนวนนักลงทุนน้อยกว่านี้เพราะบางคนเปิดมากกว่า 1 บัญชี) ในทางกลับกันจำนวนบัญชีผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีที่จดทะเบียนในประเทศไทย ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบัญชี ทั้งที่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเปิดมาและได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพียงแค่ไม่กี่ปี ทำให้ผมคิดว่าคนไทยไม่ใช่ไม่สนใจการลงทุน แต่การลงทุนในหุ้นขาดเสน่ห์อะไรทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีมากกว่า

 

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ระบุว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ก็เพราะมีความเชื่อมั่นว่าราคาจะขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ และคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูงเป็นสัดส่วนถึง 21.0% หรือเห็นเพื่อนหรือคนรอบข้างลงทุนและได้ผลตอบแทนสูง 11.5% และเพื่อนหรือคนรอบข้างชักชวนลงทุนอีก 9.0% ซึ่งจากเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายจากการลงทุนในตลาดสูง เนื่องจากความไม่เข้าใจในทิศทางตลาดที่อยู่ในภาวะความผันผวนสูง และอาจเป็นเป้าหมายต่อการถูกชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนแบบผิดกฎหมายได้ แต่ก็ทำให้ชวนคิดว่าที่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีนักลงทุนหน้าใหม่สนใจเยอะก็เพราะความผันผวนของราคา ที่ทำให้นักลงทุนสนุกกับการเก็งกำไร

 

ผมคงไม่ตั้งคำถามว่าสินทรัพย์ไหนดีกว่ากันระหว่างหุ้นหรือคริปโทเคอร์เร​นซี เพราะผมไม่ปฏิเสธโอกาสการลงทุนต่าง ๆ ที่เข้ามา แม้กระทั่ง พระเครื่อง นาฬิกา รูปภาพ NFT ไวน์ ฯลฯ เพียงแต่ผู้ลงทุนต้องมีความรู้และเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่วันนี้ผมจะพาทุกท่านมาเข้าใจสินทรัพย์ที่เรียกว่า “หุ้น” ว่าคืออะไร น่าลงทุนอย่างไร ความเสี่ยงคืออะไร ซื้ออย่างไร เริ่มลงทุนอย่างไร และที่สำคัญคือลงทุนอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ และอีกหลากหลายคำถามที่ผมมักถูกถามเป็นประจำ ทั้งหมดเพียงเพื่อให้นักลงทุนรุ่นใหม่หรือนักลงทุนที่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในหุ้นได้เข้าใจมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเพียงแค่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจหุ้นมากขึ้น ส่วนการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน เช่น คนที่ไม่ยอมสูญเสียเงินต้นเลย สามารถข้ามบทความนี้ได้เลยครับ

 

คำถามที่ผมมักถูกถามจากนักลงทุนในการลงทุนหุ้น

1. หุ้นคืออะไร : หุ้นคือสินทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของบริษัทที่เราเข้าไปซื้อหรือเข้าไปลงทุน เช่น เราเปิดธุรกิจร้านอาหาร เราเป็นเจ้าของคนเดียว นั่นหมายถึงเราถือหุ้น 100% กำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นในบริษัทนี้ของเราคนเดียว แต่หากเราร่วมลงทุนกับเพื่อนอีกคนแล้วถือหุ้นเท่ากัน นั่นหมายถึงเราถือหุ้นคนละ 50% ดังนั้น จะมีส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุน แต่หากเราร่วมกับเพื่อน 10 คนเปิดร้านอาหารแล้วถือหุ้นคนละเท่ากัน แต่ละคนก็จะถือหุ้นคนละ 10% แต่หากเราต้องการอำนาจควบคุมหรือส่วนแบ่งกำไรมากกว่าคนอื่น ๆ เราก็ต้องลงทุนเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่น ๆ เช่น 25% หรือหากต้องการควบคุมแบบมีอำนาจควบคุมมาก ๆ เราก็ต้องถือหุ้นมากกว่า 50% ขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจร้านอาหารของเราโตขึ้นเรื่อย ๆ ต้องการขยายสาขา และต้องการเงินทุนเพิ่ม เราก็ต้องไปคุยกับเพื่อน ๆ ที่ร่วมลงทุนว่ามีเงินมาเติมกันไหม แต่หากเพื่อนตอบกลับมาแบบไม่ใยดีว่า “ไม่มี” ทางเลือกต่อไปของเราคือการกู้ธนาคาร โดยไปที่ฝ่ายสินเชื่อ เพื่อนำเสนอโครงการของเรา ถ้าธนาคารเห็นว่ามีโอกาสก็จะให้เงินมาเพื่อลงทุนขยายสาขา ธุรกิจของเราก็เติบโตไปอีกเรื่อย ๆ โดยทุกคนยังมีสัดส่วนการถือหุ้นเหมือนเดิม ส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุนยังเท่าเดิม

 

ต่อมา เราจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหรืออาจคิดการณ์ใหญ่ต้องการขยายสาขาไปต่างประเทศ ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นอีก จึงไปที่ธนาคาร ธนาคารบอกว่าปล่อยสินเชื่อต่อไม่ได้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะธนาคารก็รับความเสี่ยงได้จำกัด เอาละตอนนี้พวกเราจะทำอย่างไร ตลาดหุ้นจึงเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนั้นในการหาเงินทุน พวกเราผู้ถือหุ้นของร้านอาหารจึงเข้าไปคุยกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อนำหุ้นบริษัทของเรามาเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปเพื่อที่จะนำเงินทุนไปขยายสาขาตามฝันของเราต่อไป นั่นคือการนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกหรือเรียกการขายหุ้นแบบนี้ว่า Initial Public Offering (IPO)

 

หลังจากขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไปแล้ว แน่นอนว่าเราและเพื่อน ๆ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่ลดลง แต่อำนาจการบริหารยังคงอยู่ เพราะเรายังคงถือหุ้นมากกว่า 50% เพียงแต่หุ้นของร้านอาหารเราจะไม่อยู่กับเฉพาะเพื่อน ๆ ของเราแล้ว แต่จะไปอยู่กับนักลงทุนทั่วไปทั้งนักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้บางคนไม่ได้ต้องการถือหุ้นนาน ๆ เหมือนพวกเราที่เป็นผู้ก่อตั้ง ดังนั้น หุ้นของเราจึงเข้าไปสู่ตลาดซื้อขายหุ้น หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ตลาดหุ้น” ซึ่งของประเทศไทยเรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand : SET)

 

เมื่ออยู่ในตลาดหุ้น หุ้นของเราก็สามารถเปลี่ยนมือกันได้อย่างง่ายดาย หน้าที่ของเราในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่หรืออาจเป็นผู้บริหารก็ต้องทำให้ธุรกิจมีกำไรดีที่สุด รวมถึงให้ข้อมูลกับนักลงทุน ส่วนนักลงทุนที่สนใจลงทุนบริษัทของเราก็เข้ามาลงทุนธุรกิจของเราผ่านตลาดหุ้นได้

 

เรื่องที่ผมยกมานี้ เป็นเรื่องของร้านอาหารในตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นจริงนะครับ เช่น หุ้น MK สุกี้ หุ้นร้านอาหาร ZEN หุ้นร้าน After You หรือหากลงทุนหุ้น CENTEL เราจะเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารเพียบเลย (ไก่ทอด KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s, Pepper Lunch, Chabuton, Cold Stone Creamery เป็นต้น)

 

2. ลงทุนหุ้นแล้วได้อะไร : หุ้นคือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ในโลกการลงทุนเลยในความคิดเห็นส่วนตัวของผม เพราะเราสามารถเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ได้มากมาย (ขอย้ำอีกที การซื้อและถือหุ้นเราคือ “เจ้าของ” เพียงแต่เป็นเจ้าของมากน้อยแค่ไหนตามสัดส่วนการลงทุน) ตั้งแต่ธุรกิจขายของทั่วไป ยันไปถึงธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง จะเป็นธุรกิจในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ เช่น เราสามารถเป็นเจ้าของ APPLE, GOOGLE, TOYOTA, PFIZER, STARBUCKS, XIAOMI หรือแม้กระทั่งเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลแมนยูฯ (เสียดาย LIVERPOOL ไม่เข้าตลาดหุ้น) เราสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่เราถนัดหรือมีความรู้มากที่สุดได้ และยังสามารถขายหุ้นได้หากไม่ต้องการเป็นเจ้าของแล้ว หรือเมื่อรู้สึกว่าธุรกิจที่เราลงทุน อนาคตเริ่มไม่สดใส หรือหากบริษัทที่เราลงทุนล้มละลาย ความเสียหายของผู้ถือหุ้นจะเท่ากับเงินที่ลงทุนไป เจ้าหนี้จะไม่สามารถไปตามเรียกหนี้จากผู้ถือหุ้นหรือจากเราได้เลย

 

หันมาคุยเรื่องผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนในหุ้นกันบ้าง เนื่องจากเราเป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่เราได้รับคือส่วนแบ่งกำไร หรือที่เรียกว่า เงินปันผล (Dividend) ผมว่าเงินปันผลคือผลตอบแทนที่สำคัญที่สุดในการลงทุนหุ้น เพราะหากเราเลือกธุรกิจที่ดี แล้วทำกำไรได้ต่อเนื่อง เราก็จะได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กำไรที่ทำได้ในแต่ละปี แต่อาจต้องยอมรับว่าหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น COVID-19 บริษัทขาดทุน เราอาจไม่ได้รับเงินปันผล แต่หากมั่นใจว่าสามารถผ่านวิกฤติได้ บริษัทจะกลับมาจ่ายปันผลต่อไปได้ เราก็เลือกที่จะถือหุ้นต่อไปได้ หรือนักลงทุนบางคนเก่งกว่านั้นอาจเปลี่ยนไปถือหุ้นบริษัทอื่นก่อนก็ได้ แต่คงต้องเป็นนักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์มากพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการคือกำไรจากราคาหุ้นขึ้น (Capital Gain) แต่ลืมไปว่าในโลกความเป็นจริงก็มีโอกาสขาดทุน (Capital Loss) ได้เช่นกัน ในความเห็นส่วนตัวของผม หากเราเข้าใจและมีความรู้ในเรื่องการเก็งกำไร และปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้นระยะสั้น ผมคิดว่านักลงทุนระยะสั้นหรือนักลงทุนเก็งกำไรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพียงแต่นักเก็งกำไรส่วนใหญ่มักขาดความรู้เรื่องการเก็งกำไรและที่สำคัญไม่กล้าตัดขาดทุน

 

3. ลงทุนอย่างไร : หากเราต้องการซื้อขายหุ้น สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อน คือ เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ คนรุ่นใหม่คงไม่มีปัญหาในการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบออนไลน์ หรือเปิดผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกมาก สามารถเข้าไปที่ SETinvestnow (คลิกที่นี่) หรือ Download Application Streaming ลงในมือถือและทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ทันที แต่หากเป็นคนที่ไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยีคงต้องไปที่บริษัทหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันในตลาดหุ้นว่า “โบรกเกอร์” (Broker) เพื่อเปิดบัญชีหุ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้หากเป็นโบรกเกอร์ที่ธนาคารถือหุ้นอยู่ เราสามารถเปิดบัญชีตามสาขาที่มีบริการได้ทันที ส่วนการส่งคำสั่งซื้อขายสามารถทำให้ 2 วิธี คือ ผ่านออนไลน์ (Website และ Application บนมือถือ) หรือผ่านพนักงานการตลาด (Marketing) หรือในตลาดหุ้นเรียกกันย่อ ๆ ว่ามาร์ (Mar) คนที่ถนัดเทคโนโลยีก็ซื้อขายแบบออนไลน์ ส่วนคนที่ไม่ถนัดเทคโนโลยีก็ต้องอาศัยการโทรหามาร์เพื่อส่งคำสั่งซื้อขาย กระนั้นก็ดี การเปิดบัญชีเราอาจอาศัยมาร์ แต่หากเริ่มซื้อขายแนะนำว่าให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพราะสะดวกกว่ามาก

 

4. ลงทุนหุ้นได้ผลตอบแทนเท่าไร : หุ้นแม้จะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว แต่ก็มีความผันผวนค่อนข้างสูง (ดูได้จากตารางด้านล่าง) ดังนั้น เป็นการยากที่จะบอกว่าลงทุนในหุ้นจะได้รับผลตอบแทนเท่าไร แต่ละคนได้รับผลตอบแทนไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 10 - 12% (รวมเงินปันผล) แต่บางปีขาดทุนถึง 50% และบางปีกำไรสูงกว่า 50% เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแบบระยะสั้นหรือระยะยาวล้วนแล้วแต่ต้องมีความรู้ สำหรับนักลงทุนระยะสั้นต้องรู้จังหวะเข้าออก นักลงทุนระยะยาวต้องเลือกหุ้นที่จะลงทุนให้เป็น และต้องรู้ว่าหุ้นราคาถูกแพงดูอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เราจะมาศึกษากันในบทความต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ฝากไว้ตรงนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์ด้านการลงทุน กล่าวไว้ว่า “ความเสี่ยงที่สุดในการลงทุน คือ ความไม่รู้” และบทความจากนี้เป็นต้นไป ความรู้ด้านการลงทุนหุ้นจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
Inv_หลากหลายคำถามกับการลงทุนหุ้น_01

เลือกหุ้นให้ถูกสไตล์ มีชัยไปกว่าครึ่ง สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้สไตล์การลงทุนแบบต่าง ๆ รวมไปถึงสไตล์หุ้นแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกหุ้นและวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Investment Styles” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้วิธีการลงทุนหุ้นแบบออนไลน์ รวมไปถึงการส่งคำสั่งซื้อขาย และฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ใน Settrade Streaming เพื่อเป็นตัวช่วยในการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Online Trading” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: