LTF สับเปลี่ยนเป็น Thai ESGX รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ต่อยอดการลงทุนอย่างยั่งยืน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
14 พฤษภาคม 2568
495 views
TSI-Article-687-Inv-tax-benefits-switching-ltf-to-thai-esgx-sustainable-Thumbnail
Highlights
  • การสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องโอน LTF ทุกกองทุนที่ถืออยู่ภายในช่วงเวลาที่กำหนด และต้องถือครอง Thai ESGX อย่างน้อย 5 ปีเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

  • กองทุน Thai ESGX เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนภาษีและต่อยอดเงินลงทุน LTF เดิมอย่างมีประสิทธิภาพ

  • นักลงทุนควรศึกษาเงื่อนไข ข้อดี และข้อควรระวังให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพื่อใช้โอกาสนี้ในการสร้างผลตอบแทนและความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนยอดนิยมของคนไทย เนื่องจากให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่กับการออมเงินระยะยาวในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ยกเลิกสิทธิ์การซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับเงินลงทุนใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนที่ถือ LTF เดิมเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ในการบริหารเงินลงทุนหลังครบกำหนดถือครอง

 

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ และสนับสนุนให้เงินลงทุนยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดทุนไทย รัฐบาลจึงเปิดทางเลือกใหม่ “กองทุน ThaiESGX (Thai ESG Extra)” ขึ้นมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือ LTF เดิมสามารถ “สับเปลี่ยน” หน่วยลงทุน LTF ที่มีอยู่ ไปยังกองทุน Thai ESGX พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

สิทธิประโยชน์ LTF เดิมสิ้นสุดลง ถอนเงินลงทุนออกหรือคงไว้ในตลาดหุ้นไทย

หลังจากที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF เดิมสิ้นสุดลง อาจลังเลว่า จะถอนเงินลงทุนออกหรือจะคงไว้ในตลาดหุ้นไทยต่อไปดี ล่าสุด ภาครัฐได้ออกมาตรการใหม่เปิดทางเลือกให้ “สับเปลี่ยน” LTF ที่ถืออยู่ ไปยังกองทุน Thai ESGX ซึ่งไม่เพียงช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 500,000 บาท ในรอบใหม่ แต่ยังเป็นการต่อยอดเงินออมเข้าสู่หุ้นกลุ่มยั่งยืนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว ซึ่งมาตรการนี้ไม่ได้บังคับ แต่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจด้วยตนเอง และหากสนใจใช้สิทธิประโยชน์นี้ ต้องเข้าใจเงื่อนไขที่สำคัญก่อนลงมือสับเปลี่ยน เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสและรักษาผลประโยชน์สูงสุด

เงื่อนไขการสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX

การสับเปลี่ยนกองทุน LTF เป็นกองทุน Thai ESGX เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้

  • ต้องสับเปลี่ยน LTF ทุกกองทุน ทุก บลจ. ที่ถืออยู่ ต้องโอนหน่วยลงทุน LTF ทั้งหมดที่ถืออยู่ ณ วันที่ 11 มีนาคม 2568 (ยกเว้นหน่วยใน Class SSF) ไปยังกองทุน Thai ESGX หากสับเปลี่ยนไม่ครบ จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ช่วงเวลาการสับเปลี่ยน สามารถดำเนินการสับเปลี่ยนได้เฉพาะในช่วงวันที่ 13 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2568 เท่านั้น
  • ห้ามขายหรือสับเปลี่ยน LTF หลังวันที่ 11 มีนาคม 2568 หากมีการขายคืนหรือสับเปลี่ยน LTF ไปยังกองทุนอื่น (ทั้งในบลจ.เดียวกันหรือข้ามบลจ.) หลังวันที่ 11 มีนาคม 2568 จะหมดสิทธิ์รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการสับเปลี่ยนนี้

วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 500,000 บาท

1. ปีแรก (2568) ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท
2. ปีที่ 2 – 5 (2569 – 2572) ลดหย่อนปีละ 50,000 บาท

มูลค่า LTF ที่สับเปลี่ยนเกิน 500,000 บาท ส่วนเกินไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน

หากมูลค่า LTF ที่สับเปลี่ยนเกิน 500,000 บาท ส่วนที่เกินจะไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อน แต่ยังต้องถือครองครบ 5 ปี

• ต้องถือครอง Thai ESGX อย่างน้อย 5 ปี

หน่วยลงทุน Thai ESGX ที่ได้จากการสับเปลี่ยนต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวันจากวันที่สับเปลี่ยน) หากขายก่อนครบกำหนด จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษี

• สามารถโอนข้าม บลจ.ได้

สามารถสับเปลี่ยน LTF จากหลาย บลจ. มารวมไว้ที่ Thai ESGX กองทุนเดียวได้ แต่ควรตรวจสอบเงื่อนไขกับแต่ละบลจ.ก่อนดำเนินการ

กระนั้นก็ดี ก่อนจะตัดสินใจสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX หนึ่งในคำถามสำคัญคือ “แล้วจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอะไรบ้าง เพราะสิทธิ์ลดหย่อนภาษีถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การลงทุนในกองทุนรูปแบบนี้คุ้มค่าและน่าสนใจมากขึ้น

 

สำหรับการสับเปลี่ยนในรอบนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจที่ให้วงเงินลดหย่อนสูงสุดถึง 500,000 บาท พร้อมเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับกองทุนรูปแบบอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เงินลงทุนยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดทุนไทย และสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว



เนื้อหานี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน?

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจากการสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX

1. ลดหย่อนภาษีสูงสุด 500,000 บาท

นักลงทุนที่สับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่โอนจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยแบ่งเป็น

  • ปีแรก (2568) ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท
  • ปีที่ 2 – 5 (2569–2572) ลดหย่อนได้ปีละ 50,000 บาท รวม 200,000 บาท

รวมแล้วจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 500,000 บาทตลอดโครงการ

2. เงื่อนไขการใช้สิทธิ์

  • ต้องสับเปลี่ยน LTF ทุกกองทุนที่ถืออยู่ (ไม่สามารถเลือกบางกองทุนหรือบางส่วนได้)
  • หากยอด LTF ที่สับเปลี่ยนต่ำกว่า 500,000 บาท จะใช้สิทธิ์ได้ตามยอดจริง
  • ส่วนที่เกิน 500,000 บาทจะไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนในรอบนี้ แต่ยังต้องถือครองครบ 5 ปีเช่นกัน

3. ต้องถือครอง Thai ESGX อย่างน้อย 5 ปี

เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี หน่วยลงทุน Thai ESGX ที่ได้รับจากการสับเปลี่ยนต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) หากขายก่อนครบกำหนด จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและอาจต้องเสียเบี้ยปรับตามกฎหมาย

  • โอกาสในการวางแผนภาษีล่วงหน้า การกระจายสิทธิ์ลดหย่อนออกเป็น 5 ปี ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนภาษีและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หมายความว่า การสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX จึงไม่ใช่แค่การต่ออายุสิทธิ์ลดหย่อนภาษี แต่ยังเป็นโอกาสในการวางแผนการเงินระยะยาวอย่างรอบคอบและคุ้มค่าอีกด้วย

 

ด้วยเงื่อนไขสำคัญของ Thai ESGX ที่ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปี และบางคนอาจถือ LTF เกินกว่า 500,000 บาท ราชันย์ ตันติจินดา CFP® K Wealth ธนาคารกสิกรไทย แนะนำว่า ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจโอน LTF ไป Thai ESGX อย่างรอบคอบ

TSI-Article-687-Inv-tax-benefits-switching-ltf-to-thai-esgx-sustainable-01

ฐานภาษียิ่งสูง ยิ่งควรโอน

• ผู้ที่มีฐานภาษีสูง

เช่น หากคุณมีอัตราภาษีเงินได้ระหว่าง 25 - 35% หรือมีเงินเดือนประมาณ 130,000 – 460,000 บาทขึ้นไป การโอนเงินจาก LTF เดิมไปลงทุนในกองทุน Thai ESGX จะช่วยให้คุณได้เงินคืนภาษีเฉลี่ยประมาณปีละ 5 - 7% ของเงินที่โอนไป “ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะแค่ถือกองทุนต่อเนื่อง 5 ปี โดยไม่ต้องลงทุนเงินใหม่เพิ่มเลย


ในกรณีที่มีเงินลงทุน LTF มากกว่า 500,000 บาท เช่น 1 ล้านบาท ซึ่งเกินเพดานลดหย่อนสิทธิใหม่ แต่ส่วนที่ใช้สิทธิได้ (500,000 บาทแรก) ก็ยังทำให้ได้รับเงินคืนภาษีเฉลี่ยปีละ 2.5 - 3.5% ของมูลค่า LTF ทั้งก้อน ดังนั้น ก็ยังถือว่าคุ้มในการถือต่อ 5 ปี เช่นกัน”  ราชันย์ กล่าว

• ผู้ที่มีฐานภาษีน้อย

เช่น 10% หรือเงินเดือนประมาณ 40,000 – 55,000 บาท เงินคืนภาษีที่ได้รับไม่สูงมาก ประมาณ 10% ของมูลค่า LTF ที่ถือ หรือเฉลี่ยปีละ 2% และหากลงทุนตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่มี LTF โดยไม่เคยขายคืนเลย จนมี LTF สะสมมูลค่าสูง เช่น 1 ล้านบาท เงินคืนภาษีที่ได้ จะอยู่ที่เพียง 5% ของมูลค่า LTF (= เงินคืนภาษี 50,000 ÷ มูลค่า LTF 1 ล้านบาท) หรือเฉลี่ยปีละ 1% เท่านั้น “สำหรับคนกลุ่มนี้ การขายคืน LTF และนำเงินไปลงทุนทางเลือกอื่น อาจมีความน่าสนใจมากกว่า”

อายุยิ่งน้อย ยิ่งควรโอน

ทางเลือกลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุน Thai ESGX กองทุน Thai ESG และประกันชีวิตแล้ว หลักๆ จะเป็นกองทุน RMF ที่ต้องถือและลงทุนต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ดังนี้

• อายุน้อยกว่า 50 ปี

เช่น อายุ 30 ปี RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องและถือไปอีกอย่างน้อย 25 ปี ดังนั้น Thai ESGX ที่ลงทุนเพียง 5 ปี จึงน่าสนใจมากกว่า เพราะระยะเวลาการลงทุนสั้นกว่าลงทุนใน RMF ถึง 5 เท่า

• อายุมากกว่า 50 ปี

เช่น อายุ 53 ปี การลงทุนใน RMF อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะ Thai ESGX ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม หรือจนถึงอายุประมาณ 58 ปี ส่วน RMF หากเคยลงทุนต่อเนื่องมาก่อนหน้าแล้ว อาจเหลือลงทุนต่ออีกเพียง 2 - 3 ปี (ต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปีขึ้นไปด้วย) จนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถขายคืน RMF ได้ “อีกทั้ง RMF ยังมีกองทุนตราสารหนี้ ให้เลือกลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เหมาะกับการถือลงทุนระยะสั้นถึงระยะกลาง เพื่อเน้นรักษาเงินต้นส่วนใหญ่ ให้พร้อมใช้ในวัยเกษียณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ราชันย์ ตันติจินดา แนะนำ

สรุปก่อนตัดสินใจ สับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX

ก่อนจะตัดสินใจสับเปลี่ยน LTF เป็น Thai ESGX หลายคนอาจกำลังชั่งใจว่าทางเลือกนี้ “คุ้มค่า” หรือ “เหมาะสม” กับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองหรือไม่ เพราะแม้จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ แต่ก็มีเงื่อนไขและข้อพิจารณาหลายประการที่ต้องชั่งน้ำหนักให้รอบด้าน

ดังนั้น ควรพิจารณาเป้าหมายทางการเงิน สภาพคล่อง และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเองก่อนตัดสินใจ หากมั่นใจว่าตอบโจทย์เป้าหมายและข้อจำกัดของตัวเอง การสับเปลี่ยนครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่คุ้มค่าและสร้างโอกาสในระยะยาว


รู้จักกองทุน Thai ESG แบบเจาะลึก พร้อมแนวคิดในการตัดสินใจเลือกลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี ผ่าน e-Learning หลักสูตร “เจาะลึกกองทุนลดหย่อนภาษี Thai ESG” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน