ฝ่าสงครามการค้าในยุค Trump 2.0 ด้วย Options

โดย ดร.รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.อินโนเวสท์ เอกซ์
3 Min Read
21 เมษายน 2568
561 views
TSI-Article-680-Inv-options-trade-war-strategy-Thumbnail
Highlights
  • ตลาดการเงินโลกกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหม่จากนโยบายการค้าในยุค Trump 2.0 ที่เริ่มต้นด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 10% และขยายวงกว้างสู่การประกาศภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนรุนแรง สร้างความท้าทายต่อนักลงทุนในการบริหารพอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ในสภาวะที่การคาดการณ์ทิศทางตลาดทำได้ยากขึ้น Options จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยง สร้างผลตอบแทน และวางแผนกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างยืดหยุ่น บทความนี้จะนำเสนอวิธีการประยุกต์ใช้ Options เพื่อรับมือกับความผันผวนในยุคสงครามการค้า พร้อมตัวอย่างกลยุทธ์ที่นักลงทุนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ภาวะตลาดหุ้นโลกช่วงมีนาคม - เมษายน 2568

ตลาดหุ้นโลกในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 มีความปั่นป่วนเป็นอย่างมากจากประเด็นสงครามการค้า ที่นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มจากที่ประเมินว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โลก (โดยเฉพาะจีน) ได้ปฏิบัติกับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรมในด้านการค้า โดยหลายประเทศได้มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาถูกเอาเปรียบ จึงต้องมีการจัดระเบียบโลกใหม่

 

โดยทรัมป์ ได้เริ่มขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนก่อน 10% ในทุกสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ หลังจากสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนดังกล่าวเป็นการขึ้นเพิ่มจากที่ได้เคยขึ้นภาษีไปแล้วในยุค Trump 1.0 (ปี 2560 – 2564)

 

หลังจากนั้นตลอดเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 ก็มีการโต้ตอบขึ้นภาษีไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จนมาถึงวันช็อกโลกที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศภาษีตอบโต้ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในวันที่ท่านเรียกว่าวันปลดแอก (Liberation Day) ซึ่งรวมถึงไทยที่โดนภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงถึง 35% หรือแม้แต่หมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ (Heard and McDonald Islands) ซึ่งเป็นดินแดนของออสเตรเลียและไม่มีคนอาศัยอยู่ถาวร โดยเป็นที่อยู่อาศัยของเพนกวินและแมวน้ำ รวมถึงไม่มีการค้ากับสหรัฐอเมริกา ก็ยังถูกจัดเก็บภาษี 10% เช่นกัน

 

การประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง โดยเฉพาะดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ( DJIA) ปรับลดลง 4,579.73 จุด (8 เมษายน 2568) มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่แล้วในวันที่ 9 เมษายน 2568 ทรัมป์ก็ได้ประกาศช็อกโลกอีกครั้งด้วยการเลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้สำหรับประเทศที่ไม่ได้โต้ตอบสหรัฐอเมริกา ออกไปก่อน 90 วัน ยกเว้นจีนเพราะเป็นประเทศเดียวในโลกที่กล้าตอบโต้อย่างซึ่งหน้า ให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นกลับมาประมาณครึ่งหนึ่งของที่ปรับลดลง

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความผันผวนรุนแรงต่อตลาดหุ้นโลก แม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็ผันผวนสูงเช่นกัน  หมายความว่า การซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาที่ผันผวนสูงจะมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และผลลัพธ์อาจทำให้การคาดการณ์และตัดสินใจผิดพลาด ดังนั้น ทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การใช้เครื่องมือการเงินอย่าง Options เข้ามาช่วยเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน

ตัวอย่างการใช้ Options ในภาวะตลาดผันผวน

หากนักลงทุนลงทุนหุ้นไทยและไม่ต้องการขายออก เพราะประเมินว่าตลาดหุ้นจะเกิดความผันผวนจากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงซื้อ (Long) Put SET50 Index Options โดยเสียแค่ค่า Premium เพื่อประกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

 

วันที่ 2 เมษายน 2568 ตลาดหุ้นทั่วโลก (รวมตลาดหุ้นไทย) ปรับลดลงและผันผวนสูงจากการที่ทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ต่อทั่วโลก ดังนั้น หากซื้อ Put Options ไว้ นักลงทุนก็สามารถใช้สิทธิ Put Options เพื่อปิดสถานะทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงได้ เป็นการป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น คล้ายกับการซื้อประกัน

 

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบันนิยม คือ การขาย (Short) Call Options พร้อมไปกับการลงทุนในหุ้น โดยนักลงทุนทั่วไปสามารถนำแนวทางนี้มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน กล่าวคือ เป็นการขายสิทธิในการซื้อดัชนีหลักทรัพย์อ้างอิงตามราคาที่กำหนดไว้ ทำให้ได้รับ Premium จากผู้ซื้อ Call Options เพื่อสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ดังกล่าวจะมีความเสี่ยงมากกว่าวิธีซื้อ Put Options เนื่องจากการซื้อ Put Options หากคาดการณ์ผิด นั่นคือ ตลาดหุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและแรง นักลงทุนจะขาดทุนจำกัดแค่ค่า Premium ของ Put Options แต่หากเป็นการขาย Call Options อาจขาดทุนจาก Options ได้ไม่จำกัด แต่อาจได้กำไรจากพอร์ตหุ้นมาชดเชย ทำให้พอร์ตหุ้นโดยรวมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการปรับขึ้นของราคาหุ้นที่จำกัด



เนื้อหานี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน?

จากตัวอย่าง พบว่า Options เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ หากนักลงทุนเลือกใช้ให้ถูกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้บริหารความเสี่ยงและวางสถานะ (Position) ให้เหมาะสมกับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้ Options เก็งกำไรเพียงอย่างเดียว ต้องกำหนดจุด Stop Loss ให้เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการขาย (Short) Options เพราะนักลงทุนอาจขาดทุนได้ไม่จำกัด

 

ในยุคที่สงครามการค้าส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนรุนแรง Options เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทรงพลังสำหรับนักลงทุนในการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน กลยุทธ์การซื้อ Put Options ช่วยประกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วยการกำหนดขาดทุนสูงสุดเพียงค่า Premium ในขณะที่การขาย Call Options สร้างรายได้เพิ่มเติมจาก Premium

ข้อควรระวังเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การเลือกใช้ Options ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพอร์ตการลงทุนของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยนักลงทุนควรศึกษาและเรียนรู้การใช้ Options ในแต่ละสภาวะตลาด ทั้งในตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน ตลาดแกว่งตัว หรือตลาดผันผวน เพื่อให้สามารถฝ่าวิกฤตสงครามการค้าและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียนรู้การใช้ Options ในแต่ละสภาวะตลาด ทั้งในตลาดที่มีแนวโน้ม, ตลาด Sideway หรือตลาดผันผวน เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้และนำไปประกอบการตัดสินใจในการเทรด Options ผ่าน e-Learning หลักสูตร กลยุทธ์เทรด Options

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน