เอาชนะตลาดหมี ด้วยกลยุทธ์ Options

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
17 กรกฎาคม 2567
1.447k views
TSI_Article_605_Inv_Thumbnail
Highlights
  • Options มีจุดเด่นที่ใช้สร้างกลยุทธ์ได้ในทุกสภาวะตลาด และสามารถผสมผสานกับ Futures หรือหุ้นเพื่อออกแบบกลยุทธ์ลงทุนเพื่อรับมือกับตลาดผันผวนได้ ที่สำคัญช่วยกระจายความเสี่ยงและเปิดโอกาสให้ทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง

  • แนะนำกลยุทธ์การเทรด Options ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับตามประสบการณ์ของนักลงทุน ตั้งแต่นักลงทุนมือใหม่ ผู้ที่มีประสบการณ์แล้ว ไปจนถึงนักลงทุนมือโปร เช่น กลยุทธ์ Straddle และ Butterfly Spread เป็นต้น

Options คือ ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงในระยะเวลาและราคาที่กำหนดไว้ (Strike Price) โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Call Options (สิทธิในการซื้อ) และ Put Options (สิทธิในการขาย) สำหรับการได้สิทธิมานั้นผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่า Premium ให้กับผู้ขาย โดยผู้ซื้อสามารถเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่ผู้ขายต้องปฏิบัติตามเมื่อผู้ซื้อตัดสินใจใช้สิทธิ (ปัจจุบันตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ ตลาด TFEX เปิดให้ซื้อขาย Options โดยมีดัชนี SET50 เป็นสินค้าอ้างอิง ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะในวันหมดอายุเท่านั้น (European Options))

 

นักลงทุนอาจมองว่าการเทรด Options เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงเลือกที่จะเทรดสินค้าอื่นแทน แต่ในความเป็นจริงการเทรด Options ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดและถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยง หรือสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในทุกช่วงสภาวะตลาด

 

กลยุทธ์การเทรด Options

  • มือใหม่ สำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มเทรด Options ต้องทราบถึงรูปแบบของ Options พื้นฐาน โดยการเทรด Options แบบง่ายที่สุด คือ การซื้อ (Long) หรือ ขาย (Short) / Call Options หรือ Put Options แบบสถานะเดียว (Plain Vanilla) ซึ่งมี 4 ทางเลือก ได้แก่ Long Call, Long Put, Short Call และ Short Put
    • หากคาดว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะเพิ่มขึ้นในอนาคต สามารถเลือกเปิดสถานะ Options แบบ Long Call โดยมีโอกาสที่จะได้กำไรไม่จำกัดเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาด จะขาดทุนสูงสุดตาม Premium ของ Options ที่จ่ายไป
    • หากคาดว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะลดลงในอนาคต สามารถเลือกเปิดสถานะแบบ Long Put ได้เช่นกัน ขณะที่การ Short Call จะเป็นการรับ Premium มาก่อนและคาดว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะปรับลง ส่วน Short Put จะเป็นการรับ Premium มาก่อนเช่นกัน และคาดว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะปรับขึ้นเล็กน้อย

 

  • ผู้ที่มีประสบการณ์ หากมีประสบการณ์มาแล้วระดับหนึ่ง จะเป็นการผสมระหว่าง Futures และ Options โดยจะเป็นการใช้ Options ในบริบทของการป้องกันความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 2 ทางเลือก
    • Protective Put จะเป็นการเปิด Long Put ในจำนวนที่เท่ากับสถานะ Long Futures เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่สินค้าอ้างอิงปรับตัวลงก็จะได้กำไรจาก Put Options เข้ามาชดเชย
    • Covered Call จะเป็นการเปิดสถานะ Short Call ร่วมกับสถานะ Long Futures ซึ่งจะเหมาะกับสภาวะที่ราคาสินค้าอ้างอิงปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยในระยะสั้น หรือ Sideways นักลงทุนจะสามารถหาผลตอบแทนเพิ่มเติมได้จาก Premium จากการ Short Call

 

  • มือโปร เป็นการผสม Options มากกว่า 1 สถานะ เพื่อสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด
    • Straddle สามารถแบ่งย่อยเป็น Long และ Short Straddle โดย Long Straddle จะประกอบด้วยการ Long Call พร้อมกับ Long Put ที่ Strike Price เดียวกัน ทำให้มีโอกาสกำไรได้ไม่จำกัดและขาดทุนสูงสุดตาม Premium ที่จ่ายไปบนทั้ง 2 สถานะ หากราคาสินค้าอ้างอิงผันผวนสูง จะส่งผลให้ราคาสินค้าอ้างอิงเหวี่ยงออกไปจาก Strike Price มาก ณ วันหมดอายุ ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางขึ้นหรือลง ซึ่งเหมาะกับช่วงที่ราคาสินค้าอ้างอิงมีความผันผวนสูง ในทางกลับกันการ Short Straddle ก็เหมาะกับสถานการณ์ตรงข้ามกับ Long Straddle ซึ่งคือการที่เราคาดว่าสินค้าอ้างอิงจะมีความผันผวนน้อย
    • Strangle จะมีความคล้ายคลึงกับ Straddle แต่จะเป็นการเปิดสถานะ Long หรือ Short Call พร้อมกับ Long หรือ Short Put ที่ Strike Price แรกที่มีสถานะ Out of The Money (OTM) ทั้งคู่ หากเป็นการ Long Strangle คือ การเปิดสถานะที่ Strike Price ที่ OTM จะทำให้มีต้นทุนค่า Premium น้อยกว่า Long Straddle เพียงแต่จะเหมาะกับสถานการณ์ที่ราคาสินค้าอ้างอิงมีความผันผวนสูงกว่า ส่วน Short Strangle ถึงแม้ว่าจะได้รับ Premium น้อยกว่า เนื่องจากเปิดที่สถานะ OTM แต่จะมีช่วงในการทำกำไรที่กว้างกว่า ซึ่งจะเหมาะกับสภาวะตลาดที่ผันผวนน้อย หรือ Sideways ดังนั้น ทั้ง Straddle และ Strangle จะเป็นการคาดการณ์ความผันผวนของสินค้าอ้างอิงว่าสูงหรือต่ำโดยไม่ทราบทิศทางราคา
    • Bull Spread เป็นการมองว่าสินค้าอ้างอิงจะขึ้นหรือลงทางใดทางหนึ่ง สำหรับการมองขึ้น (Bullish) เรียกว่า Bull Spread โดยจะประกอบด้วยการ Long Call (หรือ Put) ที่ Strike Price ต่ำ พร้อมกับ Short Call (หรือ Put) ที่ Strike Price สูงกว่า ซึ่งช่วยลดต้นทุนโดยจ่าย Premium รวมลดลง โดยกำไรจะถูกจำกัดไว้ที่ส่วนต่างของราคาใช้สิทธิ หักลบด้วยค่า Premium ที่จ่ายออกไป ถ้าราคาสินค้าอ้างอิง ณ วันหมดอายุมากกว่าหรือเท่ากับ Strike Price ฝั่ง Short ในทางกลับกัน หากมองว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะปรับลง สามารถใช้ Bear Spread ที่ประกอบด้วยการ Short Call (หรือ Put) ที่ Strike Price ต่ำ พร้อมกับ Long Call (หรือ Put) ที่ Strike Price สูงกว่า นักลงทุนจะได้กำไรสูงสุดในกรณีที่ราคาสินค้าอ้างอิง ณ วันหมดอายุต่ำกว่า Strike Price ที่ Short Options
    • Butterfly Spread แบ่งได้เป็น Long และ Short Butterfly Spread โดย Long Butterfly Spread แนะนำให้ใช้เมื่อคาดว่าราคาของสินค้าอ้างอิงจะผันผวนต่ำ (Sideways) ประกอบด้วยการ Long Call (หรือ Put) 1 สัญญาที่ Strike Price ต่ำ พร้อมกับ Long Call (หรือ Put) 1 สัญญาที่ Strike Price สูง และ Short Call (หรือ Put) 2 สัญญาที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Strike Price ต่ำและสูง (รวมทั้งหมด 3 สถานะ) โดยนักลงทุนจะได้กำไรสูงสุด ถ้า ณ วันหมดอายุ ราคาสินค้าอ้างอิงอยู่บริเวณ Strike Price ตรงกลางพอดี ซึ่งดูแล้วมีความคล้ายกับการ Short Straddle แต่จะมีข้อดีตรงที่สามารถขาดทุนได้สูงสุดเท่ากับ Premium ที่จ่ายออกไป ต่างจาก Short Straddle ที่มีโอกาสขาดทุนได้ไม่จำกัด ในทางกลับกัน หากคาดว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะผันผวนสูงจนหลุดกรอบ Strike Price ต่ำและสูง การ Short Butterfly Spread จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีสถานะตรงข้ามกับ Long Butterfly Spread (เปลี่ยน Long เป็น Short หรือ Short เป็น Long) โดยจะทำกำไรได้สูงสุดเท่ากับ Premium ที่รับมาในกรณีที่ราคาแกว่งออกนอกกรอบ Strike Price ที่นักลงทุนเลือก และมีโอกาสขาดทุนสูงสุดเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงอยู่ที่ Strike Price ตรงกลางพอดี
Options trading strategies derived from investor experience and market conditions.

ในโลกของการลงทุนที่มีความผันผวนสูง Options ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทุกประเภทที่ต้องการเพิ่มโอกาสและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุน ดังนั้น หากเลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์จะสามารถสร้างประโยชน์ให้นักลงทุนได้อย่างมาก

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจเรื่อง Options สามารถเรียนรู้แนวทางการเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสภาวะตลาด เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้และนำไปประกอบการตัดสินใจในการเทรด Options ผ่าน e-Learning หลักสูตร “กลยุทธ์เทรด Options” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
แท็กที่เกี่ยวข้อง: