รู้จักตัวเลขเศรษฐกิจโลก ก่อนลงทุนนอก (ตอน 2)

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและลงทุนต่างประเทศ
3 Min Read
20 มีนาคม 2567
1.095k views
TSI_Article_566_Inv_Thumbnail
Highlights

นักลงทุนที่สนใจลงทุนต่างประเทศ นอกจากต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ตัวเลขเศรษฐกิจในยุโรป จีน และญี่ปุ่น ควรทำความเข้าใจและติดตามด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้นักลงทุนเห็นถึงทิศทางของเศรษฐกิจและลงทุนได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

จากบทความก่อนหน้า ผมได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักกับ 3 ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนลงทุนต่างประเทศ (อ่านบทความ คลิกที่นี่) ไปแล้ว เชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงตั้งคำถามต่อว่า แล้วตัวเลขเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ มีอะไรที่น่าสนใจหรือไม่?

 

สำหรับนักลงทุนไทย นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศใหญ่ ทั้งในยุโรป จีน และญี่ปุ่น อาจไม่เขย่าโลกการเงินเท่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ก็มักชี้ให้เห็นถึงทิศทางของเศรษฐกิจที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

 

1. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยุโรป - EU Purchasing Manager Survey

ความสำคัญกับตลาด : ต่ำ

เวลาที่รายงาน : 16:00 น. วันแรกและวันที่สามของเดือน

ข้อมูลที่รายงาน : ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจยุโรป

 

ตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปมีทั้งในรูปแบบรายประเทศ และรวมเป็นยูโรโซน ทำให้ตลาดมักให้สำคัญกับการสำรวจและข้อมูลที่ออกมาเร็วอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ Purchasing Managers' Index (PMI) เนื่องจากมีการรายงานที่รวดเร็ว

 

การประกาศจะเริ่มต้นที่ข้อมูลเร็วหรือ Flash Report ที่จะมีการรายงานก่อนในช่วงสัปดาห์ที่สามถึงสี่ของเดือนด้วยข้อมูลราว 85% ก่อนที่จะรายงานตัวเลข PMI จริงและเนื้อหาในต้นเดือนถัดไป ส่วนในฝั่งที่เป็นตัวเลขของ Eurozone นั้น จะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ผลิตในประเทศใหญ่ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และไอร์แลนด์ รวมถึงกว่า 5,000 บริษัท โดย PMI จะเป็นดัชนีที่มีค่ากลางที่ 50 จุด การรายงานสูงกว่าหรือต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงกำลังขยายตัวหรือหดตัวจากเดือนก่อนหน้าตามลำดับ

 

1.1    PMI ภาคการผลิต (Eurozone Manufacturing PMI)

ภาคการผลิตเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจยุโรปไม่สูงมากเพียงราว 25% แต่เป็นกลุ่มที่มีการจ้างแรงงานมากที่สุด การฟื้นตัวหรือหดตัวจึงเป็นเครื่องชี้วัดตลาดแรงงานได้ดี โดยข้อมูลที่สำคัญ เช่น กิจกรรมทางธุรกิจ การจ้างงาน และประเด็นที่ธุรกิจกำลังติดตาม จะมีการรายงานตั้งแต่ Flash Report

 

1.2    PMI ภาคบริการ (Services PMI)

ภาคบริการเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าในเศรษฐกิจยุโรปมากที่สุด แต่การติดตามนิยมมองเป็นรายประเทศ เพราะกิจกรรมมีความแตกต่างกันมาก ประเทศหลักที่ตลาดสนใจประกอบด้วย สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ขณะที่รายงานรวมทุกประเทศจะอยู่ใน Composite PMI Report

 

รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยุโรป มีผลกับเงินยูโรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ในยุโรปมากที่สุด เพราะ PMI เป็นการฉายภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบัน มักเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เลือกดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้อง เช่น นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ระหว่าง PMI กับตลาดหุ้นในยุโรปมักไม่สูง เนื่องจากนักลงทุนมักตัดสินใจลงทุนตามแนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เปิดทำการพร้อมกัน

 

2. เศรษฐกิจจีน - China Economic Data

ความสำคัญกับตลาด : สูง

เวลาที่รายงาน : 9:00 น. ประมาณกลางเดือนของทุกเดือน

ข้อมูลที่รายงาน : ข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือนก่อนหน้า

 

ทางการจีนมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจทุกเดือนในสองรูปแบบ แบบแรก คือการรายงานเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (% Year-on-Year หรือ %YoY) และแบบที่สอง คือการนับตั้งแต่ต้นปีเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (% Year-to-Date หรือ %YTD) โดยตัวเลขเศรษฐกิจจีนนี้จะรายงานพร้อมกับ GDP ของไตรมาสที่ผ่านมา ในช่วงเดือนแรกหลังจบแต่ละไตรมาส

 

2.1   ดัชนียอดค้าปลีก (Retail Sales)

ตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงยอดขายในธุรกิจค้าปลีก โดยการเก็บข้อมูลจากการสำรวจทั้ง Online และ Offline เป็นดัชนีที่สำคัญในการบอกทิศทางของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม

 

2.2    ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)

ภาคอุตสาหกรรมจีน แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ เหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเศรษฐกิจจีนอย่างมาก เนื่องจากภาคการผลิต มีสัดส่วนถึงกว่า 38% ของเศรษฐกิจจีนโดยรวม นอกจากนั้นทิศทางของภาคอุตสาหกรรมมักเป็นสัญญาณวัฏจักรเศรษฐกิจด้วย

 

2.3    การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment)

ดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงในการใช้จ่ายด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงาน ถนน และอสังหาริมทรัพย์ นอกเขตชนบท การรายงานจะแบ่งย่อยเป็นภาครัฐและภาคเอกชน กิจกรรมก่อสร้าง ซื้อเครื่องจักร และอื่น ๆ จึงมักเป็นดัชนีที่ตลาดใช้ประเมินแนวโน้มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปพร้อมกัน

 

รายงานเศรษฐกิจจีนมีผลกับตลาดหุ้นฝั่งเอเชียมากที่สุด เนื่องจากเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจใหญ่ ที่มักกำหนดทิศทางของตลาดการเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจจีนมักไม่กระทบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และค่าเงินหยวนมากนัก เนื่องจากแนวทางนโยบายด้านตลาดทุนของประเทศจีน มักไม่ได้ถูกกำหนดเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึง นโยบายการเงินของธนาคารกลางใหญ่อื่น ๆ และทิศทางการเมืองระหว่างประเทศไปพร้อมกันด้วย

 

3. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจญี่ปุ่น – Japan Tankan Survey

ความสำคัญกับตลาด : ปานกลาง

เวลาที่รายงาน : 6:50 น. ต้นเดือนเม.ย. ก.ค. ต.ค. และกลางเดือนธ.ค.

ข้อมูลที่รายงาน : ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น

 

การสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นหรือที่ตลาดรู้จักกันว่า Tankan Survey จัดทำขึ้นโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รายไตรมาส โดยข้อมูลจะเป็นการสำรวจธุรกิจเอกชนที่มีเงินลงทุนมากกว่า 20 ล้านเยน ราว 10,000 บริษัท การรายงานจะเป็นค่าบวกลบจาก 0 (ไม่เปลี่ยนแปลง)

 

3.1    ดัชนีธุรกิจขนาดใหญ่ (Large Enterprises)

ความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นตัวเลขที่ตลาดใช้ในการจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักกว่า 80% ของขนาดเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม (Manufacturers) มักเป็นตัวเลขที่ชี้ทิศทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่กลุ่มนอกภาคอุตสาหกรรม (Non-Manufacturers) จะใช้เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่น

 

3.2    ดัชนีธุรกิจขนาดเล็ก (Small Enterprises)

ความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่สูง แต่ด้วยโครงสร้างจำนวนแรงงานกว่า 70% ของแรงงานทั้งประเทศ จึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้านตลาดแรงงานที่น่าสนใจ

 

3.3    มุมมองค่าเงินของภาคธุรกิจ (Average of Predicted Exchange Rates)

ค่าเฉลี่ยมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนจะมีการรายงานแบบทั้งปีและครึ่งปี ปัจจุบันมีสองสกุลเงิน คือเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร การรายงานของปีปัจจุบันจะมีตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป

 

รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจญี่ปุ่น มีผลกับเงินเยนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ในญี่ปุ่นมากที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้ในการตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและมุมมองของผู้ประกอบการในขณะนั้น ส่วนในฝั่งของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีธุรกิจขนาดใหญ่เป็นตัวเลขที่บอกแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ แต่อาจไม่ได้ส่งผลทางตรงกับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นระยะสั้นมากนัก

 

และนี่คือตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของ 3 เศรษฐกิจใหญ่นอกจากสหรัฐฯ เมื่อนักลงทุนทำความเข้าใจและติดตามอย่างต่อเนื่องแล้ว เชื่อว่าจะทำให้กล้าตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

 

ท้ายที่สุด ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ ไม่ได้มีความหมายแค่กับการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น แต่ทั้งหมด กำลังเผยให้เราเห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว นักลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก ต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลง และกล้าปรับพอร์ตให้ถูกทาง

 

ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังชาวอังกฤษอย่าง John Maynard Keynes กล่าวไว้ว่า “When the facts change, I change my mind. What do you, Sir?” (เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยน ผมก็เปลี่ยนใจ ท่านละครับ ทำอะไร?)

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: