รู้จัก 3 ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนลงทุนนอก

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
3 Min Read
12 มีนาคม 2567
2.142k views
TSI_Article_559_Inv_Thumbnail
Highlights

สหรัฐฯ เป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้มาก นักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนต่างประเทศ จึงควรเริ่มต้นจากการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมินทิศทาง โอกาส และความเสี่ยงในการลงทุน โดยตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม เช่น ตัวเลขการว่างงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นต้น

นักลงทุนที่สนใจลงทุนต่างประเทศ นอกจากที่เราจะต้องเข้าใจสินทรัพย์ หรือบริษัทที่จะลงทุนแล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราลงทุนถูกที่ ถูกเวลา

 

การติดตามและทำความเข้าใจเศรษฐกิจต่างประเทศก่อนลงทุน สิ่งสำคัญ ไม่ใช่การติดตามตัวเลขให้ได้มากที่สุด แต่ต้องติดตามข้อมูลที่มี “ความสำคัญที่สุด” ในช่วงเวลานั้น ๆ จากนั้นต้องทำความเข้าใจที่มาของตัวเลขทางเศรษฐกิจ เพื่อประเมินทิศทาง โอกาส และความเสี่ยงของการลงทุน

 

สำหรับนักลงทุนไทย ผมแนะนำให้เริ่มต้นติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อน เพราะสหรัฐฯ มีตลาดการเงินใหญ่ที่สุดในโลก ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงเขย่าโลกการเงินได้อยู่เสมอ

1. ตลาดแรงงาน - Employment Situation

ความสำคัญกับตลาด : สูง

เวลาที่รายงาน : 20:30 น. วันศุกร์แรกของเดือน

ข้อมูลที่รายงาน : การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนก่อนหน้า

 

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการลงทุนต่างประเทศ เหตุผลหลัก เป็นเพราะรายงานนี้มีการเผยแพร่ที่รวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน นอกจากนี้ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่การบริโภคในประเทศคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจ การมีงานทำของชาวอเมริกัน เป็นสิ่งที่ส่งผลกับการลงทุนอย่างมาก รายงานนี้ประกอบไปด้วยตัวเลขเศรษฐกิจหลัก 3 เรื่อง

1.1   จำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls)

เป็นการรายงานจำนวนตำแหน่งงานจ้างใหม่ในเดือนก่อนหน้า ข้อมูลจะมาจากการสำรวจสถานประกอบการมากกว่า 4 แสนแห่ง มีการจ้างงานรวมกันกว่า 50 ล้านตำแหน่ง โดยที่ตลาดจะตัดภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนน้อยและมีความเป็นวัฏจักรสูงออก เพื่อให้เห็นแนวโน้มการจ้างงานที่ชัดเจน

 1.2  การว่างงาน (% Unemployment Rate)

การรายงานการว่างงานจัดทำขึ้นโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 6 หมื่นครัวเรือนเรื่องงานที่ทำอยู่ การว่างงานจะมีทั้งหมด 6 ระดับ ไล่ตั้งแต่ U-1 คือว่างงานแล้วตั้งแต่ 15 สัปดาห์ขึ้นไป U-3 จำนวนคนว่างงานทั้งหมด (ตัวเลขหลักที่ตลาดติดตาม) ไปจนถึง U-6 ที่รวมคนว่างงาน คนงานนอกเวลา และว่างงานด้วยเหตุผลทางเทคนิคไว้ทั้งหมด 

  
1.3   รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings %MoM)

ส่วนนี้ประกอบไปด้วย จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง ตัวเลขที่ตลาดสนใจที่สุด คือการเพิ่มขึ้นของรายได้เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (% Month-on-Month หรือ %MoM) เพราะเป็นเสมือนตัวแทนของกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อที่มาจากภาคบริการ

 

ในภาวะปกติ รายงานตลาดแรงงานสหรัฐฯ หรือ Employment Situation Report มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทั้งตลาดหุ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง คือพื้นฐานของเศรษฐกิจ ส่งผลบวกกับกำลังซื้อ ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และแนวโน้มราคาสินค้าบริการ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกับรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในอนาคต และส่งผลเชิงจิตวิทยากับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน

 

2. ดัชนีราคาผู้บริโภค - Consumer Prices Index

ความสำคัญกับตลาด : ปานกลางถึงสูง

เวลาที่รายงาน : 19:30 น. กลางสัปดาห์ที่สองหรือสามของเดือน

ข้อมูลที่รายงาน : การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการช่วงเดือนที่ผ่านมา

 

เงินเฟ้อเป็นตัวแปรที่มีการรายงานหลายรูปแบบ เช่น Consumer Prices, Producer Prices หรือ GDP Deflator แต่ละตัวเลขมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน สำหรับ Consumer Prices Index หรือ CPI เป็นตัวเลขที่นักลงทุนมักให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะรายงานทุกเดือน และเร็วกว่าดัชนีราคาอื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงของดัชนีเงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) บอกแนวโน้มระยะสั้น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (% Year-on-Year หรือ %YoY) จะเป็นข้อมูลหลักในการวิเคราะห์แนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาว

2.1   เงินเฟ้อทั่วไป (CPI)

คำนวณดัชนีแบบถ่วงน้ำหนัก ด้วยตะกร้าราคาสินค้าและบริการทั่วสหรัฐฯ ปรับปรุงทุก 2 ปี ปัจจุบันประกอบด้วยกลุ่มที่อยู่อาศัย 42% กลุ่มการเดินทาง 16% กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม 15% และที่เหลือในสินค้าและบริการอื่น ๆ


2.2   เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI)

เป็นกลุ่มย่อยที่ตัดสัดส่วนของราคาอาหารและพลังงานราว 25% ออก เพื่อให้เงินเฟ้อพื้นฐาน อธิบายเฉพาะแนวโน้มราคาสินค้าและบริการที่มีผลกระทบจาก Supply หรือวัฏจักรเศรษฐกิจน้อยที่สุด จึงมักเป็นตัวเลขที่ตลาดและธนาคารกลางเลือกใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

รายงาน CPI มักมีผลกับตลาดพันธบัตร (Bond Market) มากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ในภาวะปกติอัตราผลตอบแทน (Yield) จึงปรับตัวขึ้นลงตามเงินเฟ้อ หลังจากนั้น ดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนจะส่งผลกับเงินดอลลาร์สหรัฐและตลาดหุ้น ตามบริบทของเศรษฐกิจ และมุมมองการเปิดรับความเสี่ยงในช่วงนั้น

 

3. ผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐฯ - US GDP
ความสำคัญกับตลาด : ปานกลาง

เวลาที่รายงาน : 20:30 น. สัปดาห์สุดท้าย เดือนแรกของไตรมาสถัดไป

ข้อมูลที่รายงาน : เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ Gross Domestic Product (GDP) เป็นตัวเลขที่ทุกคนในตลาดการเงินคุ้นเคยและเชื่อว่าเป็นเครื่องชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างดี สำหรับ GDP สหรัฐฯ การรายงานจะมีทั้งหมด 3 รอบ คือ การรายงานเร็วหรือ Advance Release หลังจากจบไตรมาสไปแล้วสี่สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม จะมีการรายงาน Preliminary Report ในปลายเดือนที่สองหลังจากจบไตรมาส ตามด้วยการรายงาน Final GDP ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสถัดไป องค์ประกอบสำคัญของการรายงาน คือ การเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายและรายได้


3.1   การเปลี่ยนแปลงของ GDP (Real GDP % QoQ SAAR)

ตัวเลขที่สหรัฐฯ รายงาน จะเป็นการนำ Nominal GDP หรือมูลค่ามวลรวมของประเทศ หน่วยเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มาปรับผลกระทบจากฤดูกาล (Seasonally Adjusted) และหักผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าออก จนเป็น GDP แท้จริง หรือ Real GDP หลังจากนั้น จึงคำนวณการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหรือ % Quarter-on-Quarter (%QoQ) และนำมาปรับตัวเลขให้เทียบเท่ารายปี (Annualized Rate) จึงจะกลายมาเป็น GDP ที่เราเห็นตามรายงานข่าว


3.2   การบริโภคภาคครัวเรือน (Personal Consumption Expenditure หรือ PCE)

ตลาดมักใช้เป็นประมาณการเงินเฟ้อ เพราะมีการนำเสนอควบคู่กับดัชนีราคา หรือ PCE Price Index และจะมีการรายงานดัชนีพื้นฐาน หรือ Core PCE Price Index ที่ไม่นับรวมราคาอาหารและราคาพลังงานที่ผันผวนสูง เพื่อให้เห็นแนวโน้มหลัก ตลาดให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของ PCE Price Index เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) เพราะเป็นตัวแปรที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มักใช้เป็นเครื่องชี้วัดเงินเฟ้อสำหรับกำหนดนโยบายการเงินเช่นกัน

 

รายงาน GDP มักมีผลกับตลาดหุ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน และมักเป็นตัวเลขที่ถูกใช้ในการเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ แต่รายงาน GDP นี้มักไม่ส่งผลกระทบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield มากนัก เหตุผลหลักมาจากเงื่อนไขด้านเวลาการรายงานที่ PCE รายงานหลังจาก CPI นั่นเอง

 

และนี่คือตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งสำคัญทั้ง 3 เรื่อง เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จะทำให้เราลงทุนต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ บทความหน้า ผมจะพาไปรู้จักกับตัวเลขเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม รอติดตามกันนะครับ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 
แท็กที่เกี่ยวข้อง: