“จะเลือก ETF กองไหนดี?”
ปัญหาโลกแตกที่หลายคนอยากรู้ ซึ่งคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ETF กองไหนดีที่สุด เพราะมันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ข้อจำกัด และสไตล์การลงทุนของแต่ละบุคคล แต่ก็พอบอกได้คร่าวๆ ว่า... ถ้าจะเลือก ETF สักกองหนึ่ง นักลงทุนต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้างก่อนตัดสินใจลงทุน ไปดูกันเลย!!!
นโยบายที่ใช่ ดัชนีที่ชอบ
ETF เป็นกองทุนประเภทหนึ่ง เวลาจะเลือกกองทุนสักกอง เราก็ต้องพิจารณานโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น ต้องรู้ว่า... ดัชนีอ้างอิงของ ETF ที่เราสนใจคืออะไร นำเงินไปลงทุนในอะไรบ้าง เพราะการลงทุนใน ETF บางประเภท เช่น ETF ที่อ้างอิงหุ้นในประเทศ ก็มีดัชนีอ้างอิงให้เลือกมากมายและมีรายละเอียดแตกต่างกัน เราจึงควรศึกษาให้ละเอียด เพื่อจะได้เลือก ETF ที่เหมาะกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของเรา
ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง
ETF เน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง การตรวจสอบว่า ETF สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากน้อยแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวังหรือวางแผนไว้ ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
นักลงทุนสามารถดูได้จากค่า “Tracking Error” ของ ETF ซึ่งค่านี้ยิ่งต่ำ ก็ยิ่งดี แสดงว่ากองทุนสามารถสร้าง
ผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง
ค่าธรรมเนียมต้องเหมาะสม
ETF มีนโยบายการลงทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหรือราคาของสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง (Passive Fund) ไม่ได้เน้นสร้างผลตอบแทนที่เอาชนะตลาดเหมือนกองทุนส่วนใหญ่ (Active Fund) จึงทำให้ ETF มีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนทั่วไป
แม้ ETF จะมีค่าบริหารจัดการที่ต่ำ แต่ก็มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่างที่เราต้องดู ไม่ว่าจะเป็น... ค่าผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย ฯลฯ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้จะถูกรวมอยู่ใน “อัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวม” (Total Expense Ratio) ซึ่งจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ต่อปี และจะถูกตัดออกจากมูลค่าพอร์ตของเราวันละนิดๆ โดยที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน เพราะราคา NAV ที่ประกาศออกมาในแต่ละวัน ได้มีการหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ยังมี “ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย” ที่จะถูกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 0.15% หรือบางแห่งอาจเก็บขั้นต่ำวันละ 50 บาท แถมยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือVAT อีก 7% ของค่าธรรมเนียม แต่บางแห่งก็อาจไม่เก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้เลย เราจึงต้องอ่านรายะเอียดให้ดี
สรุปแล้ว... เราควรเลือก ETF ที่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่ำๆ เพราะยิ่งมีต้นทุนต่ำ ยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า
จะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง และโดนหักไปเป็นค่าบริหารงานของกองทุนน้อยที่สุด
ราคาเหมาะสม ดู iNAV
สินทรัพย์การลงทุนทุกประเภท เราควรดูมูลค่าที่เหมาะสมทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ทองคำ น้ำมัน ... ETF ก็เช่นกันที่ต้องดูราคาที่เหมาะสมด้วย แต่ ETF ไม่มีบทวิเคราะห์ที่จะบอกราคาเหมาะสมหรือราคาเป้าหมายเหมือนหุ้น เพราะไม่ได้มีผลประกอบการที่จะสามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้ อีกทั้งราคาซื้อขาย ETF ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุนในตลาด ไม่ใช่เกิดจาก NAV เหมือนกองทุนรวมทั่วไป
บลจ. จึงมีการคำนวณและเผยแพร่ “iNAV” (Indicative Net Asset Value) ที่เป็นประมาณการของ NAV ในช่วงเวลาการซื้อขายระหว่างวัน โดยจะอัปเดททุก 15 วินาที หรือ 30 วินาที เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งช่วยในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ ETF ได้
หลายคนเมื่อเจอ ETF ที่ถูกใจ ดู iNAV แล้ว เหมาะสม ก็พร้อมกระโจนเข้าซื้อ แต่ดันลืมดูสภาพคล่องซะนี่ ทั้งที่จริงแล้ว “สภาพคล่อง” ในการซื้อขายถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนใน ETF เลย
ที่ต้องบอกเช่นนี้... เพราะในบ้านเรา ETF ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทำให้ ETF บางตัวมีสภาพคล่องน้อยไปสักนิด นักลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเลือกลงทุน ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อ ETF อย่าลืมพิจารณาสภาพคล่อง โดยเลือก ETF ที่มีมูลค่าและปริมาณการซื้อขายสูงๆ หรือมีความแตกต่างระหว่างราคาเสนอซื้อกับราคาเสนอขาย (Bid-Ask Spread) ต่ำๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมใน ETF นั้นๆ และส่งผลต่อราคาซื้อหรือราคาขาย ETF ที่เราจะได้รับ ทำให้เราไม่เสียโอกาสเวลาขาย
ทำกำไร
นอกจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว เราควรพิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ขนาดของกองทุน อายุของกองทุน รวมถึงชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นผู้บริหารกองทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ค่าธรรมเนียม นโยบายป้องกันความเสี่ยง ฯลฯ โดยดูจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน หรือ Fund Fact Sheet ของ ETF กองนั้นๆ