เทคนิคสร้างพอร์ตหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock)

เป็นที่ทราบกันดีว่า... ภาวะเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับภาวะการลงทุนอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ จากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า... เมื่อเศรษฐกิจซบเซา ก็ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) ลดลงอย่างมาก แต่หากเราอยากให้พอร์ตการลงทุนของเราได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด หุ้นกลุ่ม “Defensive Stock” น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในภาวะเช่นนี้

Defensive Stock คืออะไร?

Defensive Stock เป็นหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง หุ้นกลุ่มนี้จะเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ก็อาจเป็นหุ้นที่กำไรเติบโตไม่หวือหวา หรืออาจไม่ค่อยมีเรื่องราวการเติบโตที่จะนำมาเป็นจุดขายของหุ้นสักเท่าไหร่

image-stock-8-1

ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา Defensive Stock มักจะได้รับผลกระทบไม่มากนักเมื่อเทียบกับหุ้นอื่นๆ ในตลาด เนื่องจากยังมีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทยังคงที่เช่นเดิม แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว หุ้นกลุ่มนี้ก็มักจะทำผลตอบแทนได้ดีไม่เท่ากับหุ้นอื่นๆ ในตลาดเช่นกัน

เรียกได้ว่า... หุ้นกลุ่มนี้จะเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งเรามักจะเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “หุ้นปลอดภัย” หรือ “หุ้นหลุมหลบภัย” นั่นเอง ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มนี้ เช่น หุ้นสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) อาหาร ยา โรงพยาบาล เป็นต้น

ลือก Defensive Stock อย่างไร?

image-stock-8-2
1
เลือกจากขนาด
image-stock-8-2
การเลือกหุ้น Defensive Stock ควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีขนาดเล็กเกินไป โดยเราอาจพิจารณาจากมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าต้องมี Market Cap. ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท หรือกำหนดว่าต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 หรือ SET100 เป็นต้น
image-stock-8-3
2
ความผันผวนต่ำ
image-stock-8-3
Defensive Stocks เป็นหุ้นที่คนมักใช้เรียกแทนหุ้นที่มีความผันผวนของราคาต่ำ เวลาราคาขึ้นก็จะขึ้นน้อยกว่าตลาด เวลาลงก็จะลงน้อยกว่าตลาด หรือหากจะพูดเป็นศัพท์เชิงเทคนิคก็บอกว่าเป็นหุ้นที่มีค่าเบต้า (Beta) ต่ำ หรือเป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาเมื่อเทียบกับความผันผวนของดัชนีราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่ำนั่นเอง
image-stock-8-4
3
ภาระหนี้น้อย
image-stock-8-4
Defensive Stock เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าหุ้นนั้นๆ มีความเสี่ยงทางการเงินต่ำก็คือ “ภาระหนี้สินต่ำ” ดังนั้น เราควรจึงเลือกหุ้นที่มีปริมาณหนี้สินไม่สูงกว่าทุน หรือมีอัตราส่วน D/E ต่ำกว่า 1 นั่นเอง
image-stock-8-5
4
กำไรสม่ำเสมอ
image-stock-8-5
หากหุ้นที่มีการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงฝีมือของบริษัทในการบริหารจัดการได้ว่า... ไม่ว่าจะผ่านภาวะเศรษฐกิจแบบใดก็ยังสามารถสร้างกำไรได้ แม้กำไรอาจไม่หวือหวามากนักก็ตาม เช่น อาจพิจารณาจากบริษัทที่มีกำไรตลอด 10 ปีติดต่อกัน เป็นต้น
image-stock-8-6
5
จ่ายปันผลสม่ำเสมอ
image-stock-8-6
เมื่อบริษัทมีกำไรก็ควรจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะปันผลเป็นกระแสเงินสดรับที่นักลงทุนต่างก็คาดหวัง ดังนั้น บริษัทที่ดีจึงควรมีการบริหารจัดการระหว่างการนำเงินไปลงทุนกับการจ่ายเงินปันผลได้อย่างเหมาะสม โดยเราอาจพิจารณาหุ้นที่มีการจ่ายปันผล 10 ปีติดต่อกัน เป็นต้น
image-stock-8-7
6
ราคาไม่แพง
image-stock-8-7
Defensive Stock ที่ดีต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety : MOS) ซึ่งนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนมักจะมองหาหุ้นที่มี Margin of Safety สูงๆ โดยพิจารณาจากหุ้นที่ราคายังไม่แพงจนเกินไป ซึ่งดูได้จากราคาเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) หรือราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/BV Ratio) เช่น เราอาจกำหนดว่า P/E Ratio ไม่เกิน 15 เท่า หรือ P/BV ไม่เกิน 1.5 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

กลยุทธ์การลงทุนใน Defensive Stock

นักลงทุนต้องวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในช่วงใดเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุน  โดยนักลงทุนควรจะลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive Stock ในช่วงที่ตลาดกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลง เนื่องจากหุ้นปลอดภัยมักจะราคาลดลงน้อยกว่าตลาด และในทางกลับกันนักลงทุนควรจะออกจากหุ้นกลุ่ม Defensive Stock เพื่อสลับเงินกลับไปสู่หุ้นเติบโต หรือหุ้นที่มีราคาผันผวนมากกว่า ที่ลงมาแรงอีกครั้ง เมื่อตลาดเริ่มกลับทิศปรับตัวเป็นขาขึ้น

แม้ว่าเราจะมีหลักการในการคัดกรองหุ้นอย่างดีแล้วแต่ก็ไม่ได้ความว่าเราจะสามารถลงทุนหุ้นเหล่านั้นได้ทันที เรายังจำเป็นต้องทำความเข้าใจธุรกิจจากรายงานประจำปีและวิเคราะห์งบการเงินอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อจะได้เลือกหุ้นได้ถูกตัวและประสบความสำเร็จในการลงทุน