เทคนิคบริหารพอร์ตหุ้น

“เราควรมีหุ้นกี่ตัวในพอร์ต”
“แล้วเมื่อไหร่... ควรขายหุ้น”
“เราควรมีหุ้นกี่ตัวในพอร์ต”
“แล้วเมื่อไหร่... ควรขายหุ้น”

คำถามโลกแตกในการจัดพอร์ตหุ้นเพื่อลงทุนในทุกยุคทุกสมัย ก็แน่ละ... ก็เพราะเงินในพอร์ตเรามีจำกัด แต่หุ้นในตลาดหุ้นไทยมีมากกว่า 600 ตัว การจัดสรรเงินไปลงทุนในหุ้นแต่ละตัวจึงมีความสำคัญ

“เราควรมีหุ้นกี่ตัวในพอร์ต”

อาจไม่มีคำตอบตายตัว เพราะแต่ละคนก็มีข้อจำกัดในการลงทุนและเป้าหมายในการลงทุนไม่เหมือนกัน การมีหุ้นน้อยตัว หากเราเลือกซื้อถูกตัว ถูกเวลา เราก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูง หรืออาจรวยเป็น “เศรษฐีหุ้น” ไปเลย แต่หากเลือกหุ้นผิดตัว ก็มีโอกาสขาดทุน “เจ๊งหมดตัว” ได้เช่นกัน พูดง่ายๆ คือ ยิ่งถือหุ้นน้อยตัวเท่าไหร่ ความเสี่ยงจากหุ้นรายตัวก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น 

ตรงกันข้าม หากมีหุ้นตัวเล็กตัวน้อยซุกไว้จนนับไม่ถ้วน หว่านซื้อเยอะเป็นดอกเห็ด แทนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ กลับกลายเป็นไม่สามารถดูแลพอร์ตได้อย่างทั่วถึง และอาจส่งผลร้ายกับเงินลงทุน เพราะผลตอบแทนของแต่ละตัวก็มักจะเฉลี่ยหรือหักกลบลบกันไป โอกาสที่พอร์ตจะได้ผลตอบแทนสูงลิ่ว ก็จะลดลงตามจำนวนหุ้นที่ถือ
ดังนั้นการมีหุ้นในพอร์ต 4-10 ตัวอาจจะเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับการกระจายความเสี่ยงมากกว่า
แถมเรายังสามารถติดตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวได้ดีมากกว่าด้วย 
นอกจากจำนวนหุ้นที่เหมาะสมแล้ว เราต้องกระจายการลงทุนใน “หลากหลายอุตสาหกรรม” ด้วย เพราะหากลงทุนกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหมดอาจเกิดความเสี่ยงได้ เช่น ลงทุนในหุ้นพลังงานอย่างเดียว หากราคาน้ำมันลดลงรุนแรง พอร์ตเราจะเสียหายทันที แต่หากกระจายไปลงทุนในกลุ่มอื่นด้วย แม้หุ้นกลุ่มใดจะร่วงแรง ก็ยังมีหุ้นกลุ่มอื่นที่สามารถประคับประคองพอร์ตได้ ทำให้การลงทุนในระยะยาวได้ผลตอบแทนที่ดีและผันผวนน้อยลง 

ทางที่ดี... ควรเดินบนทางสายกลาง หาความพอดิบพอดีให้พอร์ตหุ้นของตัวคุณเอง เพียงแค่นี้ก็ช่วยกรองความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว
group-5
group-5

“แล้วเมื่อไหร่... ควรขายหุ้น”

ที่หลายคนมีคำถามนี้ เพราะส่วนใหญ่เวลาซื้อหุ้น มักจะมีคนมาแนะนำจังหวะในการเข้าซื้อ แต่น้อยครั้งที่จะมีคนมาบอกว่าควรขาย ทั้งที่จังหวะขายนี่แหละสำคัญ เราจะสามารถทำกำไรได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวะของการขายหุ้น แน่นอนว่าหลายคนอยากขายให้ได้ราคาสูงที่สุด แต่ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ดังนั้น การขายหุ้นอย่างมีกลยุทธ์น่าจะเป็นจุดสำคัญมากกว่า

การแบ่งขายทำกำไรทำได้หลายลักษณะ อาจจะ “ทยอยขายทำกำไรตามราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้น” โดยเทคนิคนี้เราจะกำหนดให้ชัดเจนในแผนการลงทุนว่า... หากราคาหุ้นขึ้นไปถึงระดับที่ต้องการแล้ว เราจะทยอยขายหุ้น เช่น หากราคาหุ้นขึ้นไปทุก 10% เราจะทยอยขายหุ้นที่ถืออยู่ 5%

การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราไม่พลาดจังหวะเวลาหุ้นขึ้น สามารถล็อคทำกำไรได้บางส่วน และช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนในกรณีที่ถือหุ้นนานเกินไปได้ด้วย

แต่หากใครมองว่าเทคนิคนี้ไม่เข้ากับเรา อาจใช้เทคนิคการ “Rebalance” พอร์ตเป็นตัวช่วย โดยเราจะกำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นแต่ละตัวอย่างชัดเจน หากราคาหุ้นตัวไหนปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงจนทำให้สัดส่วนของหุ้นตัวนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะมีการปรับให้กลับมาเท่าเดิม  

ตัวอย่างเช่น พอร์ตลงทุนของเรากำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น A ไว้ที่ 20% ของพอร์ต เมื่อราคาหุ้นขึ้นเรื่อยๆ จนสัดส่วนการลงทุนของหุ้น A กลายเป็น 25% ของพอร์ต เราจะขายหุ้น A ออกมาให้คงเหลือการถือครองหุ้น 20% เท่าเดิม ส่วนเงินที่ขายออกมา 5% อาจจะนำไปเพิ่มน้ำหนักในหุ้นตัวอื่น หรือถือเป็นเงินสดไว้เพื่อรอจังหวะการเข้าลงทุนต่อไป

image-stock-24

การตัดแต่งพอร์ตลงทุนแบบ Rebalance หรือจัดสวนลงทุนนี้ จะช่วยให้พอร์ตลงทุนของเรามีความเสี่ยงที่ลดลง แถมยังมีเงินเหลือเพื่อรอเข้าซื้อหุ้นหากมีความผิดปกติในหุ้นบางจังหวะ ซึ่งการปรับพอร์ตแต่ละครั้ง เราอาจจะกำหนดระยะเวลา เช่น จะ Rebalance ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส เพื่อไม่ให้การปรับพอร์ตนั้นบ่อยเกินไป หรือในบางกรณี เกิดเหตุการณ์สำคัญก็อาจเข้ามาปรับพอร์ตลงทุนให้กลับมาสมดุลอีกครั้งก็ได้

นอกจากจังหวะการขายที่ชัดเจนแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ “การทำตามแผนการลงทุนที่ชัดเจน” มีกำหนดการซื้อการขาย และเข้าใจว่าลงทุนในแต่ละครั้งคาดหวังอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนมีเป้าหมายมากขึ้น หนีความผันผวนของตลาดที่จะทำให้จิตใจของเราไม่นิ่ง ซึ่งเป็นผลเสียกับพอร์ตลงทุนและอาจสร้างผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า