ลงทุนกองทุนรวมต้องเข้าใจ NAV

ทุกครั้งที่ซื้อกองทุนรวม สิ่งที่เรามักจะดูเป็นอย่างแรก คือ “NAV” แต่ทราบกันหรือเปล่าว่า NAV คืออะไร? และมีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง?

NAV (Net Asset Value) หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

คือ มูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยปกติแล้วจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะเป็นผู้คำนวณราคา NAV และเปิดเผยให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปทราบทุกสิ้นวันทำการ โดยจะประกาศเป็น “มูลค่าต่อหน่วยลงทุน” ให้เรารับทราบกัน ซึ่งมูลค่าต่อหน่วยลงทุนนี้อาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ แล้วแต่ภาวะการลงทุนในแต่ละวัน 

img-fund-3-01

แล้ว NAV มีประโยชน์อย่างไร?

นอกจาก NAV จะแสดงถึง “มูลค่าที่แท้จริงของกองทุนรวม” แล้ว ยังแสดงถึง “ราคาซื้อ” หรือ “ราคาขายคืน” กองทุนรวมอีกด้วย โดยหากเราต้องการจะ “ซื้อ” ให้ดูราคาที่ช่อง “ราคาขาย” ในทางกลับกัน หากเราต้องการจะขาย ให้ดูที่ช่อง “ราคารับซื้อคืน” ซึ่งส่วนใหญ่ราคาขายจะสูงกว่าราคารับซื้อคืนประมาณ 0.0001 บาท และหากมีค่าธรรมเนียมการซื้อ ก็จะบวกเข้าไปในราคาขายด้วย 

แถม NAV ยังเป็นตัวเลขที่สะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ดีที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงของ NAV จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบว่า... แต่ละกองทุนนั้นบริหารกองทุนแล้ว ทำให้ผู้ถือหน่วยได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยเพียงใด 

หากมูลค่าต่อหน่วยลงทุนสูงขึ้นมากกว่าราคาที่ลงทุนเริ่มแรก นักลงทุนจะอยู่ในฐานะ “กำไร” แต่หากมูลค่าต่อหน่วยลงทุนลดลงน้อยกว่าราคาที่ได้ลงทุนเมื่อเริ่มแรก นักลงทุนก็จะอยู่ในฐานะ “ขาดทุน”

img-fund-3-02

ส่วนความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ NAV ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องราคาต่อหน่วย NAV ที่บางกอง 100 บาท บางกองแค่ 10 บาท นักลงทุนหลายคนจึงมองว่าเป็นเรื่องของ “ความถูกและแพงของ NAV” โดยคิดว่ากองทุนรวมที่มี NAV สูง คือ กองทุนรวมที่มีราคาแพงซื้อแล้วได้หน่วยลงทุนน้อย ไม่น่าลงทุน ขณะที่กองทุนรวมที่มี NAV ตํ่า แปลว่าราคาถูก ซื้อแล้วได้หน่วยลงทุนเยอะ น่าลงทุนมากกว่า 


“NAV ต่ำ ไม่ได้แปลว่าถูก NAV สูง ไม่ได้แปลว่าแพง”

แต่ในความเป็นจริง ราคาของ NAV ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการของกองทุน

ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาปัจจัยที่สำคัญในการลงทุน เช่น นโยบายการลงทุน ผลตอบแทนในอดีต ความเสี่ยง เงื่อนไขการลงทุน ไปจนถึงผู้จัดการกองทุนที่บริหารอยู่ในขณะนั้นมากกว่าพิจารณาจาก “ความถูกหรือแพงของ NAV”