เทคนิคเลือกกองทุนรวม

“กองทุนรวมมีตั้งมากมาย จะเลือกอย่างไรดี?”

การที่เราจะเลือกกองทุนที่ “ใช่” เหมาะกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุน แถมอยู่ในความเสี่ยงที่รับได้ เริ่มง่ายๆ จากถามตัวเองให้ชัดเจนก่อน

  • วัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราคืออะไร?
  • ยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน?
  • มีระยะเวลาลงทุนนานเท่าไหร่?
เพราะการตอบ 3 คำถามข้างต้น จะเป็นตัวช่วยให้เรากำหนดทิศทางการลงทุนและเลือกกองทุนที่เหมาะกับตัวเราได้เบื้องต้น

ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการลงทุนระยะยาว รับความเสี่ยงได้ และคาดหวังผลตอบแทนสูง กองทุนหุ้นอาจเป็นคำตอบ แต่หากเรามีระยะเวลาลงทุนสั้นๆ ยอมรับการขาดทุนแทบจะไม่ได้เลย กองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้ก็อาจจะเหมาะมากกว่า เพราะความเสี่ยงต่ำ แต่แน่นอนว่าผลตอบแทนก็ต่ำด้วยเช่นกัน 

หรือถ้าคุณกำลังมองหาช่องทางประหยัดภาษีอยู่ ก็ต้องแฝดพี่น้องคู่นี้ “กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)” และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” รับรองช่วยประหยัดภาษีได้แน่นอน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด โจทย์และความชื่นชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่า... เลือกลงทุนในแบบที่คุณพอใจก็แล้วกัน เพราะนั่นคือเงินของคุณ คุณจึงต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด

ทีนี้ก็ถึงเวลา... เลือกกองทุนกันจริงๆ เสียที เราลองมาดู

เทคนิคง่ายๆ ในการเลือกกองทุนที่ “ใช่” สไตล์ "S-R-F" กันดีกว่า

img-fund-4-01

S : Style 
กองทุนที่ “ใช่” ต้องมีนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับเรา 

เวลาจะเลือกกองทุนสักกอง เราต้องพิจารณานโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น ต้องรู้ว่า... กองทุนที่เราสนใจเป็นกองทุนประเภทไหน นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อะไร เช่น หุ้นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หุ้นปันผล หุ้นเติบโต หุ้นในประเทศ หรือหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ สัดส่วนเท่าไหร่ ความเสี่ยงของกองทุนมีอะไรบ้าง จ่ายปันผลหรือไม่ ซื้อขั้นต่ำต้องใช้เงินเท่าไหร่ อายุกองทุนผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแค่ไหน ศึกษาให้ละเอียด เพื่อจะได้เลือกกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของเรา

img-fund-4-02

R : Return
กองทุนที่ “ใช่” ต้องมีผลตอบแทนสม่ำเสมอ
 

พิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เพื่อดูความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) และกองทุนอื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกัน โดยเลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานหรือให้อัตราผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 

วิธีดูง่ายๆ คือ ดูว่าหากกองทุนทำผลงานได้สม่ำเสมอ ติดอยู่อันดับต้นๆ ในหลายช่วงเวลา เช่น 6 เดือน 1 ปี และ 3 ปี แปลว่า... กองทุนกองนี้ก็น่าจะมีโอกาสหรือมีศักยภาพที่จะทำผลงานได้ดีต่อไปในอนาคต

img-fund-4-03

F : Fee 
กองทุนที่ “ใช่” ต้องมีค่าธรรมเนียมกองทุนต่ำ
 

ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและค่าใช้จ่ายที่กองทุนเรียกเก็บ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องเช็คให้ดี เพราะหากค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ก็หมายถึงผลตอบแทนที่เราได้จะลดลงด้วย ดังนั้น เราจึงควรเลือกกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่มีลักษณะและนโยบายการลงทุนคล้ายกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากเกินความจำเป็น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถหาดูได้จาก “หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน” และ “Fund Fact Sheet” ที่เปรียบเสมือนเป็น “คัมภีร์” บอกรายละเอียดทุกอย่างของกองทุน ซึ่งนักลงทุนอย่างเรา “ห้ามพลาด” ที่จะอ่านเพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน 


แต่การเลือกกองทุนรวมก็ไม่ได้มีหลักตายตัว และเชื่อว่าไม่มีกองทุนไหนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอตลอดไป เราจึงควรพิจารณา “ปัจจัยอื่นๆ” ประกอบด้วย เช่น ขนาดกองทุน กลยุทธ์การลงทุน ค่าสถิติที่แสดงความเสี่ยงของกองทุน พอร์ตการลงทุน รวมไปถึงบริการเสริมด้านอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถหรืออำนวยความสะดวกในการลงทุน เช่น บริการซื้อขายกองทุนได้หลายช่องทาง ให้คำปรึกษาผ่าน Call Center หรือมีโปรแกรมช่วยวางแผนภาษี เป็นต้น

หากผ่านเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่เราตั้งไว้ จะรอช้าอะไร... มาเริ่มลงทุนในกองทุนกันเลย!!! >> คลิกที่นี่