"หุ้นไทยยังไม่ฟองสบู่ ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าต่อเนื่อง"
(เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม Head of Research บล.เอเซีย พลัส นักกลยุทธ์ทางปัจจัยพื้นฐานยอดเยี่ยม ประเภทนักลงทุนสถาบัน ประจำปี 2563)
ภาพเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแต่จะมีการลดคาดการณ์จีดีพีลงตามผลกระทบกับโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งราคาหุ้นกลับวิ่งสวนทาง เนื่องจากยังมีสภาพคล่องส่วนเกินที่เยอะอยู่ทั้งระดับโลกและในประเทศเอง ประกอบกับนักลงทุนคาดหวังเชิงบวกในรอบเวลาที่จะได้รับวัคซีนรักษาโควิด-19 และเชื่อว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังไม่ใช่ฟองสบู่ ที่ทำให้มองเช่นนี้ เพราะ SET ขึ้นสวนทางกับภาพเศรษฐกิจจริง เนื่องจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นกับสินทรัพย์อื่นกรอบกว้าง ทำให้เม็ดเงินไหล (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้า ซึ่งนักลงทุนจะมองราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) อย่างเดียวไม่ได้ อีกทั้ง SET ถูกดันด้วยหุ้นบางตัวที่ฟรีโฟลตไม่มาก ถ้าตัดประเด็นนี้ พี/อี ตลาดอยู่ในระดับต่ำ
“SET จะปรับลงในกรอบที่จำกัด เพราะมีหุ้นบางอุตสาหกรรมราคาดีดตัวขึ้นไป เช่น กลุ่มพลังงาน แต่มีความเสี่ยง 2 อย่างที่ต้องจับตา คือ การไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร และความสามารถในการกู้เม็ดเงินมาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง เพราะวินัยการคลังกู้ได้ไม่เกิน 60 % ของจีดีพี และเหลือวงเงินกู้ไม่เยอะเพียง 1.7 ล้านล้านบาท จุดหนึ่งหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นดี ยังมีข้อจำกัดการใช้เม็ดเงิน และโควิด-19 ไม่จบอย่างที่คิดก็จะยิ่งจะเพิ่มปัญหาให้ร้อนแรงอีกได้”
ทั้งนี้ มองว่า ฟันด์โฟลว์พร้อมไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นกับการลงทุนในตราสารหนี้ยังอยู่ในกรอบที่กว้าง และเชื่อว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งฟันด์โฟลว์ไหลเข้า SET 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะปัจจุบันอัตราการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศเหลือเพียง 20 % จากเดิมระดับ 30 %
สัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น 40 % เป็นหุ้นไทย 20 % เป็นหุ้นต่างประเทศ เน้นน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชียอย่าง เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น อีกกว่า 10 % เป็นตราสารการลงทุนทางเลือกอื่นที่เป็นไฮบริด และที่เหลืออีกกว่า 10 % แนะให้ถือเงินสดหรือพักเงินที่ตลาดเงินเพื่อรอภาพชัดเจนค่อยใส่เงินเข้าลงทุนได้ทันที ธีมการลงทุน กลุ่มหุ้นที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นน้อย (Laggard) และมีโอกาสปรับขึ้นช่วงไตรมาส 1 และจ่ายปันผลดี DCC AP และ ADVANC กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปีก่อนยกการ์ดตั้งสำรองสูง แต่ราคาหุ้นแบงก์ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี (Book Value) ถึง 30-40 % รวมถึงหุ้นใหญ่ที่มีการเติบโตและรายได้มั่นคงอย่าง GULF และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ PTT ที่ราคายังขึ้นน้อยกว่าตัวลูก
ครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันหรือ K Shape โดยตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่กลุ่มเอเชียเหนือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะฟื้นตัวก่อนฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ฟื้นตัวช้า และการมาของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐทำให้ภาพการลงทุนเป็นบวก และเชื่อว่าเป้าการลงทุน 2564-2565 คือกลุ่มเอเชียเป็นหลัก
SET ครึ่งปีแรกจะเป็นปัจจัยเชิงจิตวิทยา (Sentiment) แต่ครึ่งปีหลังจะเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก เหตุผลเดียวที่ทำให้ไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ได้คือ ผลเสียหายจากวิด-19 ที่ต้องรอการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว หรือครึ่งปีหลัง 2564 เป็นต้นไป เพราะต้องรอการกระจายวัคซีน โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าและเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปี 2565
ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกบรรยากาศการลงทุนมีโมเมนตัมเป็นบวกมีแรงหนุนจากประเทศจีน แต่ต้องดูการกระจายวัคซีนช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของประเทศที่พัฒนาแล้วและเอเชียเหนือว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ขนาดไหน หรือช่วยฟื้นภาพเศรษฐกิจอย่างไร แม้ครึ่งปีแรกภาพการลงทุนอยู่บนความคาดหวังและเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ครึ่งปีหลังจะเกิดคาดหวังกับการเติบโตที่มองว่าปัจจัยพื้นฐานจะสามารถมารองรับได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นตามเป้า และทิศทางเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้น ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการขายทำกำไรได้
“สิ่งที่ต้องจับตาของไทยอยู่ที่การคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์เพราะมีผลกับใช้เม็ดเงินประคองเศรษฐกิจ และ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจะหมดกลางปีนี้ ถ้าเศรษฐกิจยังดำดิ่ง หรือภาระหนี้ยังไม่ได้แก้เป็นระบบ อาจทำให้เกิดภาพเป็นแผลได้ จึงต้องติดตามดูนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง เพราะครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแต่กว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นคือปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 เป็นต้นไป”
น้ำหนักการลงทุนแบ่งเป็นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ 55-65 % แบ่งเป็นตลาดหุ้นไทย 40 % ตลาดหุ้นต่างประเทศ 10-15 % ตราสารหนี้ 20 % และกระจายไปสินทรัพย์ทางเลือกประเภททองคำหรือกองทุน REIT กรอบดัชนีปีนี้ 1,300-1,680 จุด ดัชนีเป้าหมาย 1,650 จุด ครึ่งปีแรกภาพการลงทุนหุ้นกลุ่มวัฎจักรและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีในต่างประเทศมากกว่าไทย แต่นักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้
ธีมการลงทุนเน้นเกี่ยวข้องพลังงานสะอาด แนะนำ GULF กลุ่มอุตสาหกรรมอิงวัฎจักรในระยะยาวที่ได้ประโยชน์การใช้น้ำมันที่ต่ำลง หรือฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีแรกอย่าง TOP กลุ่มแพ็กเกจจิ้ง SCGP ที่เติบโตไปกับอีคอมเมิร์ซ หรือปิโตรเคมี VNT และเลือกการลงทุนเลือกหุ้นที่มีโอกาสของการฟื้นตัวเร็วในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิพหรือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์อย่าง KCE หรือจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบ U Shape ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะมีการลดลงอีก 1-2 ครั้งในไตรมาส 1 แนะนำ SAWAD ที่มีรายได้ในกรอบสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนทั้งต่ำและสูง รวมถึง CPALL
ปีนี้ตัวเลขต่างๆ ยังไม่นิ่ง เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจเงื่อนไขหลักมาจากปัจจัยจากโควิด-19 ที่เป็นตัวกดดันหลัก ขณะที่วัคซีนเป็นตัวช่วยผ่อนคลาย และมาตรการที่ออกมาจะเป็นตัวรองรับความเสียหาย โดยต่างหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาควบคุมให้อยู่ในระดับที่การแพทย์สามารถเข้ามาดูแลได้และทำให้ทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ ซึ่งถ้าผลของวัคซีนไม่สามารถคุมได้ จะถือเป็นความเสี่ยงที่แท้จริงของเศรษฐกิจ
นโยบายการเงินสหรัฐและยุโรปเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ขณะที่มองเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ยังได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อน และสิ่งที่ต้องจับตาซึ่งที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นคือ ฟันด์โฟลว์ในช่วงครึ่งปีแรก และปัจจัยพื้นฐานที่จะต้องติดตามดูในครึ่งปีหลัง
“100 วันแรกหลังจากที่โจ ไบเดน จะรับตำแหน่งประธานาธิบดีภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ จะเป็นช่วงประกาศนโยบายซึ่งมีผลเชิงบวกและลบได้เสมอ เพราะจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและฟันด์โฟลว์ รวมถึงผลกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปัจจุบันเริ่มทะลุ 1% และถือว่ามีผลต่อการลงทุนเพราะถือเป็นตัวแทนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และไม่เชื่อว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยได้นาน 2-3 ปี อีกทั้งไม่เชื่อว่าสหรัฐกับจีนจะสงบศึกได้ จากบทเรียน Trade War แต่ถือว่าเป็นโอกาสกระแสการลงทุนในหุ้น ESG คือให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี”
กลยุทธ์การลงทุนปีนี้ เน้นเลือกเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือรายตัว โดยดัชนีพื้นฐานอยู่ที่ 1,500 จุด เพราะถ้าเกินกว่านี้เป็นเรื่องความคาดหวังและสภาพคล่อง ซึ่งต้องเป็นเรื่องกลยุทธ์การลงทุนมากกว่าอธิบายปัจจัยพื้้นฐาน ครึ่งปีแรกหุ้นไทยยังสดใสลงทุนได้ แต่ควรมีการบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศอย่างหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก ขณะที่ครึ่งปีหลัง SET จะแกว่งตัวมากขึ้น เพราะหุ้นจะถูกแยกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่มารองรับมากขึ้น
ธีมการลงทุนเป็นที่เน้นได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) แนะ 10 ตัว ที่มีความแข็งแกร่งในแต่ละอุตสหากรรมแบ่งเป็นหุ้น กลุ่มโรงพยาบาล BDMS เทรนด์โลกพลังงานสะอาดอย่าง EA หุ้นที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่าง MINT แต่ปรับตัวเก่งและมีการเงินแกร่ง กลุ่มแพกเกจจิ้งอย่าง SCGP ที่มีเรื่องราว M&A ทำให้ที่เติบโตต่อเนื่อง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง SPALI เติบโตท่ามกลางพลิกผันทำบ้านเดี่ยว การเงินแกร่ง ปันผลที่ดี ส่วนหุ้นขนาดเล็ก IIG ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น หุ้นด้านโภชนบำบัด IP ที่ตอบโจทย์กระแสสุขภาพ หุ้น THREL ธุรกิจประกันที่เติบโตรุนแรง หุ้น TNP กลุ่มค้าปลีกต่างจังหวัดที่ยอดขายสาขาเดิมยังดีจากนโยบายภาครัฐ และกลุ่มโลจิสติกอย่าง WICE ที่เติบโตต่อเนื่องปีนี้
ภาพการปรับลดลงของจีดีพีโลกและไทยไม่มีผลต่อภาคการลงทุน เพราะยังมีภาพของสินค้าคงเหลือของทั้งจีนและสหรัฐในกลุ่มรถยนต์ และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มองจีดีพีไทยปีนี้ที่กว่า 2 % กว่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ 3-4 % เพราะการท่องเที่ยวจะกลับมาปกติเดือนในเดือน ม.ค. ปี 2566 เป็นต้นไป จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือยังต้องต่อเนื่องสูง
สิ่งที่ต้องจับตา 2 ประเด็นหลัก 1.การเมืองระหว่างประเทศที่มีรายละเอียดและความซ้ำซ้อน การมาของโจ ไบเดนถือเป็นผลบวกต่อภาวะการค้าโลก ซึ่งดีกับหุ้นวัฎจักร หุ้นที่มีมูลค่า Value Stock และหุ้นการเงินที่ตอบสนองเชิงบวก แต่อย่างไรก็ต้องติดตามคือ การกีดกันที่ไม่ใช่ทางการค้า เพราะจะมีผลต่อการดำเนินงานเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะฝั่งเทคโนโลยีที่มีการกีดกัน เช่น 5G อย่างกรณีหัวเว่ย รวมถึงการที่จีนออกมีแผนงาน 5 ปีที่ชัดเจนแล้วว่า จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในฝั่งอิเล็กทรอนิกส์ และ 2.ความเสี่ยงเร่งตัวของเงินเฟ้อ เพราะตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยที่ปกติหากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง การตอบสนองนักลงทุนของตลาดจะเป็นไปทางลบ โดยรวมตลาดหุ้นปีนี้ยังมองเป็นบวก การกระตุ้นนโยบายการคลังยังมาแรง ความเสี่ยงน่าจะเกิดขึ้นปี 2565 มากกว่า รวมถึงประเด็นการถอน QE ที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นปีหน้ามากกว่า แต่ต้องจับตาตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะปกติตลาดหุ้นจะมีการส่งสัญญาณล่วงหน้า
การลงทุนเน้นไปที่หุ้น ตั้งแต่หุ้นตามวัฎจักร หุ้นแบงก์ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับตัวดีตามการเติบโตของโลก การฟื้นตัวของตลาดหุ้นเกิดใหม่จะใกล้เคียงกับตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ตลาดเกิดใหม่จะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และเลือกการลงทุนต่างประเทศมากกว่าหุ้นไทย โดยมีมุมมองเป็นลบกับ Fixed income และเลือกลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น เช่น น้ำมัน รวมถึงทองคำที่เป็นสินทรัพย์ที่เล่นได้ทุกวัฎจักร เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
แนะนำหุ้น 7 ธีม คือหุ้นการเงินกลับมาตามเศรษฐกิจรอบนี้ แนะนำ KTB หุ้น BLA ที่ได้ประโยชน์จากการชันตัวของ Yiled Curve ที่ระยะหลังราคาลงลงต่อเนื่องมา 4-5 ปี หุ้นกลุ่มซื้อหนี้เสียแนะนำ BAM ที่ราคาหุ้นขึ้นน้อยกว่าตัวอื่น พร้อมคาดปีนี้กำไรฟื้นตัว 110 % กลุ่มที่มีการบริหารต้นทุนได้ดี BDMS CPN MINT หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กลุ่มปิโตรเคมี PTTGC และกลุ่มเดินเรือ PSL ที่ขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มพลังงานสะอาดเทรนด์ที่โจ ไบเดน สนับสนุน อย่างหุ้นโรงไฟฟ้า GPSC และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง DOHOME เพราะการใช้ในน้ำมันในต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบ
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่คิดจะซื้อหุ้นสักตัวในช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือข้อมูลอย่างรอบด้าน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ได้ร่วมดำเนินโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ให้มีความครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบตัดสินใจลงทุน เห็นโอกาสชัดเจนขึ้น
สามารถติดตามบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวได้ที่ คลิกที่นี่