อาชีพอิสระ เตรียมตัวเกษียณอย่างไร... ให้ชีวิตอิสระได้ตามฝัน

โดย SET
2 Min Read
1 มกราคม 2565
4.541k views
PF-how-to-plan-for-a-carefree-retirement-as-a-freelancer_Thumbnail
Highlights
  • “อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์” มีความคล่องตัว ทั้งเรื่องสถานที่และเวลาทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับรายได้ที่ไม่แน่นอน ภาระภาษีที่ยุ่งยากซับซ้อน ตลอดจนไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและการออมต่าง ๆ

  • คนที่เป็นฟรีแลนซ์จำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมากเป็นพิเศษ เพื่อใช้จ่ายยามขาดรายได้ แถมยังต้องสร้างหลักประกันพื้นฐานต่าง ๆ ให้ชีวิตด้วยตนเอง เช่น สมัครประกันสังคมมาตรา 40 หรือซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม รวมไปถึงการออมและลงทุนเพื่อเกษียณอย่างจริงจัง

“อยากทำงานอิสระ มีรายได้แค่พออยู่ได้สบาย ๆ ทั้งในปัจจุบันและยามเกษียณ ควรเริ่มวางแผนอย่างไร”

 

คนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนคงอยากทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ เพราะมีความคล่องตัว ทั้งเรื่องสถานที่และเวลาทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน ภาระภาษีที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและการออมเพื่อเกษียณอายุที่จะต้องจัดการด้วยตนเอง  ลองทำตาม 4 ขั้นตอน วางแผนออมเงินฉบับฟรีแลนซ์” แล้วจะรู้ว่าการเตรียมความพร้อมทางการเงินง่ายนิดเดียว

1. ออมเผื่อฉุกเฉินไว้สบายใจกว่าเยอะ

 

เหล่าฟรีแลนซ์ควรเตรียมเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินมากเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในยามขาดรายได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นเวลาหลายเดือน ดังนั้น ทางที่ดีก็ควรเตรียมเงินสำรองสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของเรา

 

2. สร้างหลักประกันพื้นฐานให้ชีวิต

 

หากลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ควรส่งเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 39 เพื่อให้ได้รับสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง หรือหากเป็นฟรีแลนซ์มาตั้งแต่แรก ก็สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 หรือเลือกใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ก็ได้ แต่หากคิดว่ายังไม่เพียงพอ ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษา และครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนที่สวัสดิการรัฐบาลไม่สนับสนุน รวมทั้งครอบคลุมการชดเชยรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรายวัน เพราะหากเจ็บป่วยคงไม่สามารถหารายได้ในช่วงดังกล่าวได้เป็นแน่

 

3. จัดการเงินส่วนตัวและเงินจากการทำงานให้ชัดเจน

 

โดยแยกเป็นอย่างน้อย 2 บัญชี คือ บัญชีส่วนตัว และบัญชีรายได้จากการทำงาน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนบัญชีบริษัท หากต้องการเบิกเงินในบัญชีนี้จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น จากนั้น ให้ทยอยแบ่งจ่ายเงินเข้าบัญชีส่วนตัวเท่า ๆ กันทุกเดือน เสมือนเป็นการให้เงินเดือนตนเอง ซึ่งควรจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จำเป็นเท่านั้น จะได้ช่วยลดการใช้จ่ายที่มากเกินไปด้วยนั่นเอง

 

เนื่องจากอาชีพฟรีแลนซ์มีรายได้จากผู้จ้างหลายราย อาจทำให้ภาษีที่หักไว้ไม่ครบถ้วน พอถึงเวลาต้องยื่นภาษีเงินได้ กลายเป็นว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะไม่ได้เตรียมเงินจำนวนนี้ไว้ จึงอาจกลายเป็นภาระทางการเงินตามมา ดังนั้น ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ในบัญชีรายได้จากการทำงาน เพื่อเตรียมไว้ชำระภาษีเงินได้ประจำปี

 

4. วางแผนออมเพื่อเกษียณอย่างจริงจัง

 

สำหรับคนที่เคยทำงานประจำ พอเปลี่ยนมาเป็นฟรีแลนซ์ สวัสดิการเพื่อการเกษียณที่เคยมี อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาจข้าราชการ ก็จะหายไป จึงควรเตรียมแผนการออมเพื่อเกษียณด้วยตนเองเช่นเดียวกับคนที่เป็นฟรีแลนซ์มาตั้งแต่แรกก็ยิ่งต้องเริ่มวางแผนให้เร็วที่สุด โดย

 

  • ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 เพื่อให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จชราภาพตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด
  • สมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสมทบเงินเพิ่มเติมให้ส่วนหนึ่ง เมื่อเราอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินคืนเป็นรายเดือน เช่น ได้รับเป็นเงินบำนาญตลอดชีพตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือได้รับเป็นเงินดำรงชีพ 600 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด
  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่นอกจากจะเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณแล้ว ยังสามารถนำยอดเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
  • ออมในประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินคืนในช่วงหลังเกษียณ (ตามอายุที่เรากำหนดเองได้ เช่น 55 60 หรือ 65 ปี เป็นต้น) ในลักษณะคล้ายกับเงินบำนาญนั่นเอง​ รวมทั้งยังสามารถนำเบี้ยประกันที่ชำระระหว่างปีมาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

เห็นหรือยังว่า... ถึงแม้อาชีพอิสระจะมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการเพื่อการเกษียณที่ได้รับเพิ่มเติมจากนายจ้าง ก็สามารถวางแผนการออมและลงทุนด้วยตนเองให้เหมาะสมและครอบคลุมความจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิตหลังเกษียณ เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินได้เช่นกัน

 

สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มวางแผนเกษียณ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: