กองทุนรวมติดลบ ตัดใจหรือไปต่อ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
1 มกราคม 2564
3.523k views
TSI_94_กองทุนรวมติดลบ ตัดใจหรือไปต่อ
Highlights
  • ในโลกของการลงทุนมีทั้งกำไรและขาดทุน และหากกองทุนรวมที่ลงทุนไว้มีผลขาดทุนหรือติดลบ อาจมีสาเหตุมาจาก ระยะเวลา สินทรัพย์ลงทุน และการบริหารงาน

  • แต่ไม่ว่ากองทุนรวมจะติดลบด้วยสาเหตุใด นักลงทุนสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อนำมาประเมินและตัดสินใจว่ากองทุนรวมนั้นยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อซื้อกองทุนรวมแล้ว นักลงทุนย่อมคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว การลงทุนมีทั้งกำไรและขาดทุน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ที่ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมปรับลดลง บางกองทุนติดลบ จึงมีคำถามตามมาว่า หากกองทุนรวมที่ลงทุนไว้มีผลขาดทุนหรือติดลบ ควรทำอย่างไร?

 

  1. ติดลบ เพราะระยะเวลา

 

ทำไม

กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จะมีความผันผวนระยะสั้น ดังนั้น หากผู้ลงทุนดูผลตอบแทนในช่วงเวลาระยะสั้น ก็มีโอกาสที่กองทุนรวมดังกล่าวจะ “ติดลบ” ได้ ที่สำคัญกองทุนรวมถูกออกแบบมาเพื่อการลงทุนระยะยาว ดังนั้น นักลงทุนจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ บลจ. เสมอว่า กองทุนรวมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีใน 3 – 5 ปีข้างหน้า

 

ยกเว้น การลงทุนในกองทุนรวม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารสภาพคล่องหรือเพื่อพักเงินระยะสั้น เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าเป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์หรือลักษณะดังกล่าว นักลงทุนควรดูผลตอบแทนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว

 

ทำอย่างไร

ถึงแม้ว่า ไม่มีอะไรที่รับรองได้ว่าในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนของกองทุนรวมจะเป็นอย่างไร แต่การลงทุนในกองทุนรวมระยะยาวมักจะประสบความสำเร็จมากกว่าล้มเหลว ขณะเดียวกัน นักลงทุนควรปรับทัศนคติเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมว่า กองทุนรวมนั้นเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนระยะยาว เช่น 3 – 5 ปีขึ้นไป 

 

  1. ติดลบ เพราะสินทรัพย์ที่ลงทุน

 

ทำไม

ข้อมูลจาก บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวไว้ว่า ไม่มีสินทรัพย์ใดที่กองทุนรวมลงทุนแล้วได้กำไรตลอดเวลา หมายความว่า หากเกิดวิกฤติหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ราคาหรือมูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนปรับขึ้นหรือปรับลดลงได้

 

ทำอย่างไร

หากมั่นใจว่าผู้จัดการกองทุนและทีมงาน มีความสามารถในการบริหารจัดการ เช่น สามารถปรับพอร์ตสินทรัพย์ของกองทุนรวมนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ให้ถือต่อไป เพราะเมื่อผ่านพ้นวิกฤติในระยะสั้น กองทุนก็มีโอกาสกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ดังเดิม

 

แต่หากประเมินแล้วว่า สินทรัพย์ที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนนั้นอาจมีปัญหาระยะยาว และอาจส่งผลให้กองทุนไม่สามารถทำกำไรได้ในระยะยาว บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำให้พิจารณาเปลี่ยนกองทุน และเปลี่ยนประเภทสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้

 

  1. ติดลบ เพราะการบริหารงาน

 

ทำไม

โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริหารงานหรือนโยบายของกองทุนนั้นไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผู้จัดการกองทุนที่ดูแลการลงทุน เปลี่ยนนโยบายกองทุน การลงทุนไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือไม่เป็นไปตามนโยบายการจัดตั้งกองทุน เช่น ไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของนักลงทุนได้

 

ทำอย่างไร

บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำให้ขาย แล้วนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน โดยให้พิจารณาการบริหารงานของกองทุนนั้นว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรือมีการลงทุนที่เป็นไปตามนโยบายที่วางไว้หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทุนรวมที่ลงทุนมีผลตอบแทนติดลบ อย่าเพิ่งเสียขวัญหรือตื่นตระหนก รีบขายกองทุนออกไปเสียก่อน แต่ควรวิเคราะห์หาสาเหตุก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำมาประเมินและตัดสินใจอย่างมีสติว่ากองทุนรวมนั้นยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่

 

สำหรับใครที่ลงทุนในกองทุนรวม และอยากรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวม พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: