บริหารพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง

โดย SET
5 Min Read
1 มกราคม 2565
10.23k views
INV-how-to-manage-your-portfolio-on-your-own_Thumbnail
Highlights
  • การจัดพอร์ตลงทุนเป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ทั้งจากสภาวะตลาดหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้

  • แนวทางการจัดพอร์ตที่เหมาะกับตัวเรา สามารถทำได้หลายวิธี แต่ที่เป็นที่นิยม คือ “การจัดพอร์ตตามวัย” และ “การจัดพอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”

หนึ่งในเรื่องสำคัญของการลงทุนที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ คือ “การจัดพอร์ตลงทุน” เพราะการจัดพอร์ตถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จ

 

ทำไมเราต้องจัดพอร์ตลงทุน?

 

ก็เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น “เสี่ยงเกินไป” หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์นั้น ๆ เพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้ความมั่งคั่งที่สะสมมาของนักลงทุนหายไปได้ในพริบตา ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนโดยแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนกระจายไปยังสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงที่เงินลงทุนจะได้รับผลกระทบหรือทำให้เสียหายน้อยลง แถมยังมีโอกาสที่เงินจะเติบโตมากขึ้น หากแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงได้อย่างเหมาะสมและถูกช่วงเวลา

INV-how-to-manage-your-portfolio-on-your-own_01

การจัดพอร์ตลงทุนมีหลากหลายแนวทาง นักลงทุนจะเลือกใช้แนวทางใดก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทำให้นักลงทุนสบายใจมากที่สุด บางคนอาจจัดพอร์ตตามช่วงอายุ ณ ขณะนั้น หรือบางคนอาจจัดพอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เราลองมาดู “แนวทางการจัดพอร์ต” ให้เหมาะกับตัวเรากันดีกว่า

 

จัดพอร์ตตามวัย

 

แม้อายุจะเป็นเพียงตัวเลข แต่ตัวเลขตัวนี้ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะในแต่ละช่วงอายุของเรามีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบแตกต่างกัน สร้างรายได้และมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน  จึงทำให้เราแบกรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินลงทุนได้ไม่เท่ากัน สไตล์การลงทุนในแต่ละช่วงอายุจึงแตกต่างกัน

 

20+ วัยเริ่มต้นทำงาน

 

เป็นวัยที่ได้เปรียบในการออมและการลงทุนมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยังไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากนัก มีเวลาและกำลังในการหารายได้อีกนาน จึงสามารถรับความเสี่ยงได้มากที่สุด สามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นได้ เพราะระยะเวลาการลงทุนที่นานพอจะช่วยลดความผันผวนของสินทรัพย์เหล่านี้ลง

 

และเนื่องจากคนในวัยนี้ยังมีรายได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่คนวัยนี้ควรทำก่อนเริ่มลงทุน คือ การจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพราะเป็นวัยที่มีอัตราการเปลี่ยนงานสูง จึงควรมีการสำรองเงินไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

 

30+ เริ่มก่อร่างสร้างครอบครัว

 

ในวัยนี้หน้าที่การงานเริ่มเข้าที่ รายได้มั่นคงขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ฯลฯ จึงรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เป้าหมายการลงทุนจึงควรเริ่มมองในระยะกลางและระยะยาวที่จะให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภท

 

และเนื่องจากมีรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้คนในช่วงวัยนี้ต้องเสียภาษีที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น สินทรัพย์เสี่ยงสูงที่ควรเลือกลงทุนจึงควรเป็นสินทรัพย์ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น SSF หรือ RMF เป็นต้น

40+ ชีวิตที่ลงตัว

 

ในวัยนี้จะรับความเสี่ยงได้ลดลงจากภาระที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาระความรับผิดชอบในด้านการงาน ภาระทางการเงิน และครอบครัว โดยเฉพาะคนที่มีลูกก็จะต้องวางแผนเรื่องการศึกษาของลูก อาจต้องปรับแผนการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งแผนการลงทุนโดยเน้นการลงทุนระยะยาวที่มั่นคง

 

50+ ชีวิตที่มั่นคง

 

ในวัยนี้แม้จะมีรายได้มากขึ้นและอาจเป็นช่วงที่ทำรายได้ได้สูงที่สุด แต่ความสามารถในการรับความเสี่ยงจะลดลง จึงไม่ควรลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเน้นการลงทุนที่มั่นคงและการรักษาเงินต้นมากกว่าการสร้างผลตอบแทน

 

60+ วัยเกษียณอย่างเกษม

 

หากมีการวางแผนการเงินที่ดีมาตั้งแต่ในวัยทำงาน เราก็จะเกษียณแบบไม่มีความกังวลทางการเงิน ในวัยนี้ควรเป็นวัยที่เก็บเกี่ยวดอกผลจากการลงทุนมาใช้ได้อย่างเต็มที่

 

จัดพอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

นอกจากอายุแล้ว “ความสามารถในการรับความเสี่ยง” (Risk Tolerance) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราควรนำมาพิจารณาในการจัดพอร์ตลงทุนด้วย เพราะบางครั้งการลงทุนก็ไม่ได้จำกัดที่อายุเพียงอย่างเดียว บางคนอายุน้อย แต่ไม่ชอบความเสี่ยง ก็อาจเลือกลงทุนแบบเสี่ยงน้อย ๆ ในทางกลับกันบางคนที่อายุมาก อยู่ในวัยเกษียณแล้ว แต่เป็นผู้รอบรู้ มีประสบการณ์การลงทุน รับความเสี่ยงได้มาก และมีเงินลงทุนมาก ก็อาจจะลงทุนแบบเสี่ยงมากได้

 

พอร์ตระมัดระวัง (Conservative Portfolio)

 

เป็นพอร์ตที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาค่อนข้างต่ำ-ปานกลาง เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และไม่ต้องการสูญเสียเงินลงทุน เพียงแต่ต้องการให้เงินลงทุนเติบโตชนะอัตราเงินเฟ้อได้

 

พอร์ตปานกลาง (Moderate Portfolio)

 

เป็นพอร์ตที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง เช่น หุ้นกู้ ตราสารหนี้ หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อให้เงินลงทุนเติบโตและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากดอกเบี้ย เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง สามารถรับความผันผวนได้พอสมควร

 

พอร์ตเชิงรุก (Aggressive Portfolio)

 

เป็นพอร์ตที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นสามัญ หรือกองทุนรวมหุ้น เพื่อให้เงินลงทุนมีโอกาสเติบโตได้มาก ๆ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้สูง และมีระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างยาว เนื่องจากระยะเวลาการลงทุนที่นานพอจะช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงได้

INV-how-to-manage-your-portfolio-on-your-own_02

จากแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนข้างต้น จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นจะแปรผันตามความสามารถในการรับความเสี่ยง กล่าวคือ หากเราสามารถรับความเสี่ยงได้มาก ก็ควรแบ่งเงินไปลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เพราะหุ้นนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินประเภทอื่น ๆ ในระยะยาว รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ ส่วนเงินฝากนั้นจะให้อัตราผลตอบแทนต่ำสุด อาจจะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ยกมาให้ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้เข้าใจถึงวิธีการสร้างพอร์ตลงทุนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใด ๆ ที่จะบอกถึงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละคน

 

นอกจากนี้ นักลงทุนหนึ่งคนอาจมีพอร์ตลงทุนหลาย ๆ พอร์ตเพื่อให้ตอบโจทย์กับแต่ละเป้าหมาย แต่เมื่อนำสินทรัพย์ของทุกพอร์ตมารวมกันเป็นพอร์ต ๆ เดียว ควรจะเป็นพอร์ตที่มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนและลงทุนได้อย่างสบายใจไปพร้อม ๆ กัน

 

เทคนิคบริหารพอร์ตให้ปลอดภัย

 

ไม่ว่านักลงทุนจะอยู่ในวัยไหน หรือจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนในพอร์ตอย่างไร สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องระลึกไว้อยู่เสมอ คือ พอร์ตลงทุนที่ดีจะต้องมีความยืดหยุ่น มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ตอบโจทย์ทั้งระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป้าหมายที่ต้องการ มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างสมดุล และนี่คือ 4 เทคนิคสร้างพอร์ตให้ปลอดภัย”

 

1. ไม่รู้ ไม่ลงทุน เพราะ “ความไม่รู้คือความเสี่ยง” นักลงทุนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนและรู้จักประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเองด้วย
2. กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ไม่หลากหลายหรือกระจัดกระจายมากเกินไป เพราะจะทำให้ยากในการติดตามราคาและข่าวสารเกี่ยวกับทางเลือกการลงทุนนั้น ๆ
3. มีวินัยในการลงทุน ไม่ควรหวั่นไหวไปกับข่าวลือหรือเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กน้อย จนต้องปรับพอร์ตบ่อย ๆ เพราะการตามใจตัวเองบ่อย ๆ จะทำให้เสียนิสัยและวินัยในการลงทุน
4. ปรับพอร์ตสม่ำเสมอ ไม่บ่อยเกินไป แต่ก็ไม่ควรเว้นระยะนานเกินไป โดยดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกี่ยวข้องประกอบ

เพียงเท่านี้... พอร์ตลงทุนของคุณก็จะเป็นพอร์ตที่ช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งและทำให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจแน่นอน

 

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคและกระบวนการบริหารพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสไตล์คุณ เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: