เงิน 1,000 บาท ซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
1 มกราคม 2564
5.435k views
TSI_91_เงิน 1000 บาท ซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
Highlights
  • กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งเป็นกิจการที่มีความจำเป็นในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ

  • กองทุนนี้มีจุดเด่นด้านรายได้ที่สม่ำเสมอ ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องในรูปของเงินปันผลและกำไรจากส่วนต่างราคา

  • เหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุน เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และสามารถลงทุนระยะยาว เพื่อรับเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการลงทุนที่น่าสนใจคือ ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) เพื่อทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

รับเงินปันผลไปยาวๆ

 

          อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคม 6,000 เสา หรือเปล่า?
            อยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของธุรกิจโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสงหรือไม่?
            อยากมีรายได้จากรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือโรงไฟฟ้าสักแห่งมั้ย?

 

เพียงลงทุนแค่เดือนละพันบาทหรือถ้ามีมากกว่านั้นก็ไม่ว่ากัน ก็สามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ว่าได้เลย ถัดจากนั้นก็รอรับเงินปันผลปีละครั้ง สองครั้ง และแน่นอนการลงทุนทุกอย่างย่อมความเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนกันยาวๆ สม่ำเสมอ ที่สำคัญเลือกสินทรัพย์มั่นคง ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี และมีอนาคต ก็สามารถลดความเสี่ยงลงได้

 

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวและเน้นรับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญในช่วงตลาดหุ้นมีความผันผวน กองทุนประเภทนี้กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่นักลงทุนหมายปอง

 

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คล้ายกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ที่นักลงทุนคุ้นเคย เพียงแต่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โทรคมนาคม ระบบขนส่งทางราง ถนน ไฟฟ้า ประปา  สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น

 

แน่นอนว่า... โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ถ้าจะให้ภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนฝ่ายเดียวอาจจะไม่คล่องตัว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป รวมถึงภาคเอกชน และเมื่อได้เงินจากการขายหน่วยลงทุนแล้ว (เหมือนเปิดขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั่วๆ ไป) ก็นำไปลงทุนตามนโยบายที่ประกาศเอาไว้ในหนังสือชี้ชวน

 

ซื้อได้ที่ไหน?

 

ปัจจุบันมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 9 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563) หากต้องการซื้อตอนที่กองทุนทำการเสนอขายครั้งแรก (IPO) สามารถซื้อได้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนาคารพาณิชย์ หรือโบรกเกอร์ แต่วันนี้กองทุนทั้ง 9 ได้ผ่านการ IPO ไปหมดแล้ว

 

ดังนั้น ถ้าสนใจก็ต้องมาซื้อในกระดานหุ้น เพราะเมื่อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานผ่านช่วง IPO จะต้องเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย แล้วเปิดให้ซื้อขายเหมือนหุ้นตัวหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องไป เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น  กับโบรกเกอร์ให้เรียบร้อยก่อน หรือตอนนี้มีการลงทุนในหุ้นไทยอยู่แล้ว และต้องการมีกองทุนประเภทนี้เก็บไว้ในพอร์ตก็ทำได้ทันที 

 

ลงทุนแล้วได้อะไร?

 

คำตอบ คือ ผลตอบแทนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็เหมือนการซื้อขายหุ้น นั่นคือ กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) กับเงินปันผล (Dividend) แต่ส่วนใหญ่มักมอง “เงินปันผล” เพราะสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กำหนดว่า... หากกองทุนมีรายได้หรือกำไร ต้องนำไปจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนขั้นต่ำ 90% ของกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio ไม่น้อยกว่า 90%) เช่น ปี 2563 กองทุนมีกำไรสุทธิ 100 บาท ต้องนำไปจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 90 บาท

 

นอกจากนี้ เงินปันผลจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลา 10 ปี โดยนับจากปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมนั้น

 

ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีความคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอมากกว่ากำไรจากส่วนต่างราคา ทำให้กองทุนรวมประเภทนี้มีความผันผวนไม่มากนัก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวและรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ

 

แต่เดี๋ยวก่อน ดูกันดีๆ ก่อนตัดสินใจ อย่างแรกให้ดูว่า... กองทุนนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอะไร โครงการนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือไม่ มีโอกาสล่าช้าขนาดไหน หรือว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถัดมาดูนโยบายกับนักลงทุนแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร เสนอขายให้นักลงทุนรายใหญ่ รายย่อยอย่างไร ทำความเข้าใจกับสิทธิและข้อจำกัดของหน่วยลงทุนแต่ละประเภท จากนั้นดูว่าหลังจากเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วมีสภาพคล่องสูงหรือไม่ เพราะถึงแม้จะรับเงินปันผล แต่เมื่อไหร่ที่ต้องการขายก็ควรทำได้สะดวกรวดเร็ว

 

ที่สำคัญ อย่าลืม!!! เช็คว่ากองทุนไหนจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ด้วยการย้อนดูประวัติการจ่ายเงินปันผล หากจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ จะพบว่าราคาเมื่อรวมกับผลตอบแทนจากเงินปันผลควรปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Tip การลงทุน

อยากจะลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อตัดสินใจเลือกลงทุน ได้ที่ e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน REIT และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 มีเงิน 1,000 บาท ก็ซื้อได้

 

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 1 กอง เดือนละ 1,000 บาท จากนั้นลงทุนไปเรื่อยๆ โดยถ้าซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ ดีไอเอฟ (DIF) ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดขาย (ธันวาคม 2556) ด้วยเงินจำนวน 1,000 บาท จากนั้นก็ซื้อทุกๆ เดือน เดือนละ 1,000 บาท จนถึงปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2563) ปรากฏว่าจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไตรมาสละ 1 ครั้ง (ปีละ 4 ครั้ง) คิดเป็นเงินรวมแล้ว 23,536.08 บาท

 

หรือซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) เริ่มซื้อตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดขาย (ตุลาคม 2561) จนถึงปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2563) จ่ายปันผลแล้ว 7 งวด คิดเป็นเงิน 1,044.26 บาท

TSI_Article_093_Inv_เงิน 1,000 บาท ซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน_01

จะว่าไปแล้ว... กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุน เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ มีเงินลงทุนแต่ละเดือนไม่มากนัก รวมถึงผู้ที่วางแผนลงทุนระยะยาว ดังนั้น วิธีที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ที่มีการทยอยลงทุนสม่ำเสมอ

 

สำหรับใครที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมด้วยวิธีลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA เช่น ลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ทุกเดือน เพื่อต้องการสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: