สงครามกับมนุษยชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น วนเวียน ดับไป ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ซึ่งหากนับเฉพาะสงครามครั้งใหญ่อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือมหาสงคราม (Great War) ก็เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว และก็มีสงครามย่อยเกิดขึ้นอีกมากมายจนมาถึงสงครามใหญ่อีกครั้ง คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อราว 80 ปีก่อน
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่มีมาอย่างยาวนานและเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นก็เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนว่าสงครามที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกี่ครั้งก็อาจเข้าสำนวนที่ว่า This too shall pass หรือเดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไป
ปัจจุบัน นักลงทุนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและกังวลถึงปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่อาจลุกลามไปสู่สงครามตัวแทนของประเทศมหาอำนาจของโลกในปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียและยูเครน ณ ขณะนี้ พบว่ายังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกน้อยมาก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศรวมกันราว 2% ของ GDP โลก
ในขณะที่ด้านพลังงาน ถึงแม้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก แต่เมื่อพิจารณากำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกหรือสหรัฐอเมริกา พบว่ายังมีน้ำมันสำรองพอสมควร อีกทั้งยังไม่นับว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง General Motors หรือ Ford ก็หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV มากขึ้น ตามคู่แข่งหลักอย่าง Tesla
ดังนั้น หากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่ได้พัฒนาเป็นสงครามตัวแทนที่รุนแรง ผลกระทบในระยะยาว คงจะจำกัดอยู่ที่รัสเซียและยูเครนเป็นหลัก ดังที่เห็นตลาดหุ้นรัสเซียปรับลดลงถึง 90% ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องคิดหนักถึงผลกระทบเชิงลบในด้านเศรษฐกิจ ที่อาจมากกว่าประโยชน์ที่ได้จากด้านภูมิรัฐศาสตร์
ในด้านการลงทุน หากลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจไม่ต้องกังวลกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยนักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก รวมถึงมูลค่าของหุ้นว่าถูกหรือแพง
อย่างไรก็ดี หากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ ราคาหุ้นบางกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จึงขอแนะนำ 2 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ
ธีมหุ้นกลุ่มอาวุธ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับงบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้น เช่น เยอรมนี เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศมาอยู่ที่ 2% ของ GDP จากเดิมในปี 2564 ที่อยู่ระดับ 1.5% ของ GDP หรือชาติพันธมิตรนาโต คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ให้เงินทุนสนับสนุนในการซื้อและมอบอาวุธแก่ยูเครนมูลค่าราว 450 ล้านยูโร
หากนักลงทุนสนใจในธีมดังกล่าว แนะนำ XAR ETFs ที่อ้างอิงดัชนี SPDR Aerospace & Defense Select Industry (SPSIAD) เพราะลงทุนในหุ้นค้าอาวุธ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น Lockheed Martin, Mercury Systems, Maxar Technologies เป็นต้น นอกจากนี้ หากอิงกับสถิติช่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในอดีต พบว่าดัชนี SPSIAD สร้างผลตอบแทนได้ 17.5% ในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุระเบิดที่บอสตันเมื่อเดือนเมษายน 2556 ชนะดัชนี MSCI World ที่สร้างผลตอบแทน 4.9%
ธีมเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์
ในปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังเครือข่ายทางไซเบอร์อย่างเข้มข้น เนื่องจากเห็นว่าอาจกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่รัสเซียอาจเข้าโจมตีประเทศที่เห็นต่าง หลังมีการตรวจพบซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายแก่ระบบคอมพิวเตอร์ (Malware) กระจายตัวอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในยูเครน และรวมไปถึงเว็บไซต์ของรัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงของยูเครนด้วย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ถูกเพ่งเล็งในการก่อความวุ่นวายครั้งนี้ แม้จะออกมาปฏิเสธก็ตาม
ทั้งนี้ หากการโจมตีบานปลายและกระจายไปทั่วโลก จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักของเครือข่ายสำคัญ เช่น สถาบันการเงิน ท่อส่งพลังงาน เป็นต้น หรืออาจซ้ำรอยดังเช่นกรณีน็อตเพตยา (NotPetya) เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ทั่วโลกต่างตราหน้าว่าเป็นฝีมือของรัสเซีย โดยเริ่มโจมตีในยูเครนและแพร่กระจายไปยังทั่วโลก สร้างความเสียหายแก่หน่วยงานและธุรกิจจำนวนมากเป็นมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 เดือนให้หลังจากนั้น หุ้นกลุ่ม Cybersecurity ทั่วโลกได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนถึงความต้องการในธุรกิจดังกล่าว โดยดัชนี NYSE FactSet Global Cyber Security (NYFSSEC) สร้างผลตอบแทนที่ 5.2% ชนะดัชนี MSCI World ที่สร้างผลตอบแทน 3.6% โดย ETF ที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าวที่น่าสนใจ เช่น IHAK หรือ iShares Cybersecurity and Tech ETF
คำพูดที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อครั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนเมื่อปี 2557 ว่า “The one thing you can be quite sure of is if we went into some very major war, the value of money would go down — that’s happened in virtually every war that I’m aware of. The last thing you’d want to do is hold money during a war.” กล่าวคือ ในภาวะสงครามแนะนำให้ลงทุนในหุ้น เช่น หุ้นสหรัฐอเมริกา และไม่ควรถือเงินสด
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ อยากลงทุนในกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่