“ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” ไม่สามารถใช้ได้กับการลงทุนในกองทุนรวม ดังนั้น การตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน ที่สำคัญต้องติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะในระหว่างทางอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจากปัจจัยต่าง ๆ
หลายคนอาจคิดว่าการดูผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมก็เพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริงอาจไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงผลการดำเนินงานในอนาคตได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมต้องวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกองทุนให้ครบถ้วน เพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริงว่าตัวเองกำลังลงทุนอะไร ความเสี่ยงเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง
การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกองทุนรวม คือ การเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) เช่น กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยจะต้องเทียบผลตอบแทนของดัชนีหุ้นไทย เช่น ดัชนี SET100 หรือดัชนี SET50 ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้จะต้องเทียบผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลหรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น
โดยหากกองทุนรวมทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีชี้วัด เช่น ดัชนีหุ้นไทยมีผลตอบแทนโดยรวม 5% ขณะที่กองทุนรวมหุ้นมีผลตอบแทน 8% หมายความว่า กองทุนรวมหุ้นนั้นสร้างผลงานได้ดีกว่าดัชนีชี้วัด และหากมีผลงานที่ดีสม่ำเสมอ แสดงว่าเป็นกองทุนรวมที่ไว้วางใจได้และลงทุนได้ในระยะยาว ตรงกันข้ามหากผลตอบแทนของกองทุนรวมสร้างผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีชี้วัด ก็ต้องศึกษาข้อมูลว่าเป็นเพราะอะไร และหากทำผลงานได้ไม่ดีหลายปีติดต่อกันก็ต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ยังต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนกับกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่คล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย เพื่อสร้างความอุ่นใจเพิ่มขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน
กองทุนรวมนั้นออกแบบมาเพื่อลงทุนระยะยาว การวิเคราะห์เรื่องถัดมา คือ ดูผลการดำเนินงาน 3 – 5 ปีย้อนหลัง เพื่อดูว่ากองทุนรวมนั้นสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้สม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าผู้จัดการกองทุนสามารถสร้างผลงานเติบโตอย่างต่อเนื่องก็มั่นใจมากขึ้นกับผลงานในอนาคต ตรงกันข้ามหากผลการดำเนินงานขึ้น ๆ ลง ๆ อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน
สำหรับกองทุนรวมที่พึ่งเปิดขายเป็นปีแรก แต่สร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ หากสนใจลงทุนก็ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน และอาจเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนก้อนเล็ก ๆ ด้วยวิธีการลงทุนแบบสม่ำเสมอ หรือ DCA ก่อน เพราะผลการดำเนินงานที่ดีในระยะสั้นอาจไม่ยั่งยืน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปและพิสูจน์ได้ว่าเป็นกองทุนรวมที่ดีก็ค่อยพิจารณาเพิ่มเงินลงทุน
สิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจถัดมา คือ วัฏจักรของตลาด เศรษฐกิจ และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ต่างประเทศ ภัยธรรมชาติ การเมือง หรือภาวะสงคราม เป็นต้น โดยสามารถใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขและตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น ตัวเลข GDP อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงิน – การคลัง ดัชนีตลาดหุ้น ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค เป็นต้น
เพราะการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละตลาดและในแต่ละประเทศ โดยการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกนโยบายลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ตามความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้ รวมถึงข้อจํากัดของแต่ละคนที่นํามาร่วมในการตัดสินใจ เช่น ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นตกตํ่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ นักลงทุนที่มีระดับการยอมรับความเสี่ยงสูง ก็จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หลังจากได้วิเคราะห์และคาดการณ์ได้ว่าตลาดหุ้นตกลงมาตํ่ามากแล้ว และราคามีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้ตํ่า ก็จะลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นแล้วจึงเปลี่ยนมาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นภายหลังเมื่อตลาดปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเลือกกองทุนรวม พร้อมสร้างและบริหารพอร์ตกองทุนรวมด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนกองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่