มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม

โดย SET
3 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
4.131k views
TSI_Article_086_Inv_Thumbnail
Highlights
  • หากอยากมีอิสรภาพทางการเงิน ได้ใช้ชีวิตตามที่ใฝ่ฝัน การทำงานแลกเงินเดือนและนำไปฝากธนาคารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรมีรายได้จากช่องทางอื่นด้วย หรือให้เงินออกไปทำงานแทนเรา

  • การลงทุน โดยให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ใฝ่ฝันได้ในเวลาที่เร็วขึ้น และยังเปรียบเสมือนเรามีเครื่องผลิตเงินที่จะออกดอกออกผลต่อเนื่องในระยะยาวควบคู่ไปกับการทำงานประจำ รวมทั้งยังไม่หยุดสร้างรายได้ให้เราแม้ในวัยเกษียณอีกด้วย

“อยากนั่งทำงานเฉยๆ แล้วมีเงินงอกเงยเพิ่มเข้ามาในกระเป๋าตังค์ได้ตลอดจัง จะได้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือไปเที่ยวได้สบายๆ”


เชื่อว่าหลายๆ คนเคยคิดเคยฝันอยากมีอิสรภาพทางการเงินแบบนี้ แต่ความฝันก็จะเป็นเพียงแค่ความฝัน ถ้าไม่ได้ลงมือทำซักที เพราะมัวแต่คิดว่า ลำพังแค่การทำงานรับเงินเดือนมาแล้วใช้จ่ายไปเพื่อความสุขของตัวเองในแต่ละวันนั้นก็เพียงพอแล้ว


เอาเข้าจริงการทำงานด้วยแรงงานแลกเงินเดือนเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่หนทางที่แสนชิคของมนุษย์เงินเดือนสมัยใหม่เอาซะเลย สมัยนี้ต้องให้เงินทำงานด้วยถึงจะเก๋ วิธีง่ายที่สุดก็คือ การให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องผลิตเงินที่จะออกดอกออกผลต่อเนื่องในระยะยาวควบคู่ไปกับการทำงานประจำ รวมทั้งยังไม่หยุดสร้างรายได้ให้เราแม้ในวัยเกษียณอีกด้วย



5 ขั้นตอนสร้างความมั่งคั่งผ่านกองทุนรวม


มนุษย์เงินเดือนทุกคนสามารถสร้างความมั่งคั่งผ่านกองทุนรวมได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายการสร้างความมั่งคั่ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นนั้นควรบริหารรายได้ค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม หาโอกาสเพิ่มรายได้ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อเพิ่มเงินออม ส่วนในระยะยาวควรมีการวางแผนการเงินและการลงทุนให้มีเงินใช้ได้อย่างเพียงพอในยามเกษียณ โดยคำนวณว่าเราจะต้องใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่ และหากเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ ต้องออมเดือนละกี่บาท เพื่อนำเงินออมไปลงทุนให้ได้ตามผลตอบแทนที่คาดหวัง จนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ใช้ชีวิตสบายในวัยเกษียณ
  1. ศึกษาประเภทกองทุนรวมและความเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากกองทุนรวมมีหลากหลายประเภท ความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนก็ไม่เหมือนกัน โดยปกติแล้วกองทุนรวมหุ้นจะมีความเสี่ยงสูงและให้ผลตอบแทนสูง เฉลี่ยปีละ 8-10% ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เฉลี่ยปีละ 2-5% แต่ความเสี่ยงไม่มาก จึงมีโอกาสขาดทุนน้อยกว่า
TSI_Article_086_Inv_มนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม_01
  1. ประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดูว่าเราสามารถรับการขาดทุนได้มากขนาดไหน และควรกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวมแต่ละประเภทในสัดส่วนที่เหมาะสมกับตนเอง หากรับความเสี่ยงได้สูง อาจจะจัดพอร์ตลงทุนโดยเน้นไปในกองทุนรวมหุ้นมากกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น จัดสรรเงินลงทุน 10,000 บาท (100%) แบ่งลงทุนในกองทุนรวมหุ้น 7,000 บาท (70%) และลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 3,000 บาท (30%) เป็นต้น

  1. เลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย เพราะจะได้ประโยชน์ 2 เด้ง เด้งแรกคือ ได้ประหยัดภาษีทันที เด้งที่สองคือ มีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งส่วนต่างราคาและเงินปันผลอีกด้วย เช่น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดย SSF มีเงื่อนไขให้ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ RMF ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ)

  1. ตรวจสอบผลตอบแทนและผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เปรียบเทียบหลายๆ กองทุน ทั้งในระยะสั้นประมาณ 1 ปี และระยะยาวประมาณ 3-5 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าว่าผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ และควรปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร

มนุษย์เงินเดือนสามารถสร้างความมั่งคั่งและหารายได้เพิ่มในวิถีทางอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากการทำงานประจำ เพียงแค่ศึกษาแนวทางการให้เงินทำงานแทนเรามากขึ้น ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ให้เหมาะสมกับตัวเอง และวางแผนการลงทุนให้ได้ผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม เท่านี้ก็จะสามารถทำให้มีความสุขและมีความมั่งคงไปจนวัยเกษียณได้


สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และอยากเข้าใจลักษณะพื้นฐานของกองทุนรวมประเภทต่างๆ ผลตอบแทน ความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนเทคนิคการเลือกกองทุนรวมให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนกองทุนรวมฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: