ทำตามนี้ หนี้หมดไว

โดย ดร.ฬุลิยา ธีระธัญศิริกุล อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
3 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
33.535k views
TSI_8_ทำตามนี้ หนี้หมดไว
Highlights

วิธีการปลดหนี้ให้หมดไวทำได้ใน 4 ขั้นตอน เริ่มจากสำรวจหนี้สินทั้งหมดที่มี สำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของเราว่าเพียงพอกับการชำระหนี้ในแต่ละเดือนหรือไม่ แล้วจึงวางแผนชำระหนี้โดยจัดทำเป็นรูปแบบ Timeline เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละช่วง และขั้นตอนสุดท้ายคือการชำระหนี้ให้ได้ตามแผนที่วางไว้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น และนานขึ้น” ในปี 2552 จำนวนหนี้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย 377,109 บาท และเพิ่มขึ้น 47% เป็น 552,499 บาทในปี 2561 โดย 50% ของคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต โดยที่ 1 ใน 5 ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปีกลายเป็นหนี้เสีย และแม้วัยเกษียณก็ยังไม่สามารถชำระหนี้หมดสิ้น เพราะคนอายุ 60 - 69 ปี ยังมีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาท

 

คำถามที่ทุกคนควรเริ่มถามตัวเอง คือ เราเป็นหนึ่งในคนไทยที่มีหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น และนานขึ้นด้วยหรือไม่?

หากเป็นเช่นนั้น จะมีวิธีการจัดการอย่างไรให้หนี้ลดลงและชำระหนี้ให้หมดได้ในเร็ววัน

 

4 ขั้นตอนสู่การปลดหนี้อย่างง่าย

 

ขั้นตอนที่ 1 : ตั้งสติ และสำรวจหนี้สินที่มีทั้งหมด

 

เขียนรายละเอียดหนี้ที่มีทั้งหมด ณ ปัจจุบัน เช่น เป็นหนี้ใครบ้าง หนี้เกิดจากอะไร ยอดหนี้คงค้าง ณ วันนี้มีจำนวนเท่าไหร่ มีภาระชำระหนี้ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อนชำระที่เหลือ วันที่ครบกำหนดชำระในแต่ละเดือน และหมายเหตุที่เป็นรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นตามความต้องการของตัวเอง โดยอาจเขียนเป็นรายการหรือจัดทำเป็นตาราง ดังตัวอย่าง

TSI_Article_008_PF_ทำตามนี้ หนี้หมดไว_01

ขั้นตอนที่ 2 : สำรวจความสามารถในการชำระหนี้

 

โดยปกติความสามารถในการชำระหนี้มาจากส่วนต่างระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย ถึงแม้บางคนอาจจะบอกว่าหนี้บางชนิดโดนหักจากเงินเดือนไปแล้วก็ตาม ตัวเลขความสามารถในการชำระหนี้นอกจากจะนำไปใช้ในการวางแผนการชำระหนี้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้วางแผนการออมและการเป็นหนี้ในอนาคตอีกด้วย หากใครยังไม่เคยทำบัญชีรายได้และค่าใช้จ่าย ควรเริ่มลงมือทันที

 

ตัวอย่าง ความสามารถในการชำระหนี้จากการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ได้รับเงินเดือนทุกวันที่ 25 ของเดือน และมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเดือนละ 6,000 บาท

 

ขั้นตอนที่ 3 : วางแผนการชำระหนี้

 

เมื่อได้รายการหนี้ที่ต้องชำระและความสามารถในการชำระหนี้แล้ว จัดทำแผนการชำระหนี้ในรูปแบบ Timeline แล้วอาจพบว่า

 

  • หนี้ที่ต้องชำระน้อยกว่าความสามารถในการชำระหนี้ เงินส่วนที่เกินอาจนำไปชำระหนี้เพิ่มเติมมากกว่าที่เจ้าหนี้กำหนด เพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้น หรืออาจนำเงินส่วนเกินไปวางแผนการออมหรือการลงทุนเพิ่มค่าเงินออม
  • หนี้ที่ต้องชำระมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียหรือต้องมีภาระผูกพันในรูปแบบอื่นเพิ่มอีก
TSI_Article_008_PF_ทำตามนี้ หนี้หมดไว_02

จากตัวอย่าง จะเห็นว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้น้อยกว่าภาระชำระหนี้ในแต่ละเดือน

Tip การออม : วิธีการจัดการเพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้
  • เพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ โดยการเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีส่วนต่างของภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้จำนวน 1,000 บาท (7,000 – 6,000) จึงสามารถเลือกใช้วิธีการหารายได้เพิ่มอีกเดือนละ 1,000 บาท หรือ ลดค่าใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้ในแต่ละเดือน กรณีนี้จะชำระหนี้หมดได้ภายในกำหนด

  • เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อลดจำนวนเงินชำระหนี้ต่อเดือนและขยายระยะเวลาชำระหนี้ เช่น ขอลดจำนวนเงินชำระหนี้ต่อเดือนจาก 5,000 บาทของธนาคาร B เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคาร A เหลือเดือนละ 4,000 บาท เพื่อให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระเท่ากับความสามารถในการชำระหนี้พอดี แต่กรณีนี้จะทำให้ภาระหนี้ที่ชำระต้องขยายระยะเวลาออกไปนานกว่าที่กำหนดไว้และต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากเดิม

ขั้นตอนที่ 4 : ชำระหนี้ตามแผนและวางแผนออมเงิน

 

ขั้นตอนสุดท้าย คือ ชำระหนี้ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุด แม้ว่าจะวางแผนดีมากแต่ไม่สามารถทำตามแผนได้ ภาระหนี้ก็จะไม่หมดตามที่กำหนดไว้ และเมื่อชำระหนี้หมดแล้วควรวางแผนออมเงินและลงทุนต่อไป

 

หากทำตาม 4 ขั้นตอน รับรองหนี้หมดไวอย่างง่ายดาย และมีเงินออมก่อนวัยเกษียณแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการวางแผนชำระหนี้อย่างถูกต้อง เพื่อให้มีเงินเหลือออม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้ มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: