ในช่วงต้นปี 2565 ความเสี่ยงของการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ เช่น เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ทำให้สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 4.9% และจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้กดดันให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง IMF จึงปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 4.4% ขณะที่ประเทศไทยจากเดิมที่ IMF คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตประมาณ 4.5% ได้ปรับลดคาดการณ์ลงมาเหลือ 4.1%
เศรษฐกิจโลก
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวกลับมาเติบโต แม้ว่าปีนี้ IMF จะลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ และเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือจีน ก็คาดว่าจะขยายตัว
โดยในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 4% ลดลงจากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 5.2% ซึ่งดร.กิริฎา มองว่า 4% สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกถือว่าไม่น้อย เพราะในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตราว 2% โดยหลังจากที่เศรษฐกิจเจอวิกฤติ COVID-19 ในปี 2563 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัว 5.6%
ขณะที่เศรษฐกิจจีน ปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 8.1% ทั้ง ๆ ที่ในปี 2563 เศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ไม่ได้ติดลบ เติบโตประมาณ 3 - 4% ไม่ได้หดตัวเหมือนกับเศรษฐกิจประเทศใหญ่อื่น ๆ ดังนั้น ปีนี้ IMF จึงประมาณการว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัว 4.8%
“จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจใหญ่ ๆ ในโลก ก็ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้ว่าจะไม่แข็งแกร่งเหมือนที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือ เงินเฟ้อ ราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นมาก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้จะลดลง เศรษฐกิจใหญ่ ๆ ของโลก จึงโดนปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจลงมา” ดร.กิริฎา เสริม
สำหรับความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญในปีนี้ ดร.กิริฎา มองว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยังเป็นความเสี่ยงอยู่ เพราะไม่ทราบว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือเปล่า ความเสี่ยงที่สอง คือ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ลดทอนกำลังซื้อของประชาชนในประเทศต่าง ๆ และความเสี่ยงที่ 3 เป็นเรื่องสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
แนวโน้มเงินเฟ้อกับเศรษฐกิจโลก
ฝั่งตะวันตกมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีการอัดฉีดเงินให้กับประชาชนค่อนข้างมาก เกิน 10% ของ GDP กำลังซื้อของประชาชนในปี 2564 จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงเงินเก็บของประชาชนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากตอนมีวิกฤติ COVID-19 ในปี 2563 คนอเมริกันอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้เงิน เมื่อเริ่มคลายล็อคดาวน์จึงนำเงินที่รัฐบาลให้และเงินเก็บออกมาใช้จ่าย ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการ (Demand) ในประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ทำให้การผลิตสินค้าและบริการไม่ทันกับความต้องการ ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศจึงมองว่า ต้องลดการทำ QE หรือลดการพิมพ์เงินที่ปล่อยลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อของประชาชนฟื้นขึ้นมาแล้ว “เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำก่อน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ ลดและเลิกการพิมพ์เงิน ซึ่งคาดว่าจะหยุดการทำ QE ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยผลกระทบต่อประเทศไทยคือ เมื่ออุปทานของเงินดอลลาร์ลดลง ไม่มีการพิมพ์เงินส่วนเพิ่มออกมาแล้ว ค่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น นั่นหมายความว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ” ดร.กิริฎา อธิบาย
โดยหลังจากการหยุดทำ QE แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ก็ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อที่จะแตะเบรค Demand ที่ขึ้นสูง และทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลง ซึ่งคาดว่าปีนี้สหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ดังนั้น จะเห็นว่าทิศทางดอกเบี้ยในสหรัฐฯ หรือในยุโรป เป็นทิศทางขาขึ้น เนื่องจากเมื่อสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยประเทศอื่น ๆ ในโลกมักจะขึ้นตาม เพื่อไม่ให้ความห่างของดอกเบี้ยประเทศนั้นเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ห่างกันเกินไป เพราะหากดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงกว่ามาก เงินจะไหลออกจากประเทศนั้นเพื่อไปรับดอกเบี้ยสูงในสหรัฐฯ จึงกล่าวได้ว่าทิศทางดอกเบี้ยโลกตอนนี้เป็นขาขึ้น
“แต่แน่นอนว่าการที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยตัดสินใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ และเมื่อไหร่ ต้องดูเศรษฐกิจของเราเองด้วย เศรษฐกิจไทยไม่ได้มี Demand ที่สูงอย่างในสหรัฐฯ เงินเฟ้อของเรายังอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 2% เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงตามสหรัฐฯ เพราะบริบทต่างกัน และต้องดูปัจจัยด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย เช่น หนี้ครัวเรือนที่ยังค่อนข้างสูง และเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้ภาคครัวเรือนและ SMEs ลำบาก จึงเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังไม่ขึ้น ถ้าขึ้นอาจจะเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้” ดร.กิริฎา กล่าว
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ประเด็นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่คนไทยต้องสนใจหรือจับตา คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เช่น การลดการทำ QE การจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นนโยบายหลักด้านการเงินของสหรัฐฯ ขณะที่ภาคการคลัง ต้องดูการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าปีนี้จะไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เหมือนที่เคยทำมาในปี 2563 และปี 2564 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องอัดฉีดเงินโดยภาครัฐลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ทั้งหมดเป็นประเด็นหลัก ๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาในปีนี้
เศรษฐกิจจีน
ดร.กิริฎามองว่า จีนมีนโยบายหลักที่น่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในปีนี้ เรื่องแรกคือ นโยบาย Zero-COVID ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการยกเลิกในเร็ว ๆ นี้ หากจะยกเลิกอาจเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้แล้ว คาดว่าประมาณปลายปีนี้ โดยมีเหตุผลหลัก ๆ คือ ประชาชนชาวจีนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่จะสู้กับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ของ COVID-19 นั่นคือวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยี mRNA จึงต้องรอให้จีนพัฒนาวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากจีนไม่อยากพึ่งพาตะวันตก ประกอบกับจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเกิดขึ้น 5 ปีครั้ง โดยเชื่อกันว่าจะเป็นการต่ออายุการเป็นผู้นำสูงสุดของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง
“เพราะฉะนั้นรัฐบาลจีนจึงอาจไม่อยากให้มีการระบาดของ COVID-19 ก่อนที่จะถึงการประชุมใหญ่ครั้งนี้ จึงคาดการณ์ว่าถ้าจะเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้ จีนอาจจะเริ่มเปิดประเทศหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งน่าจะประมาณเดือนธันวาคม หรือต้นปี 2566” ดร.กิริฎา กล่าว
เรื่องที่ 2 เป็นนโยบายใหม่ของประเทศจีนที่ประกาศออกมาสองนโยบาย ได้แก่ นโยบาย Common Prosperity หรือความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และนโยบาย Dual Circulation หรือ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน โดยทั้งสองเป็นนโยบายใหม่ที่จะใช้กำหนดการเดินหน้าต่อไปของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนในปีนี้และปีต่อ ๆ ไปด้วย
“จากการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2565 จะเติบโตประมาณ 4.8% ซึ่งถือว่าไม่เยอะ เพราะก่อนหน้า COVID-19 เศรษฐกิจจีนเติบโตประมาณ 5.5% หรือมากกว่านั้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนยังโตอยู่ แต่โตน้อยกว่าที่เคยโตมา เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะจีนมีนโยบาย Common Prosperity และ Dual Circulation ซึ่งเป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อที่จะบอกว่าจีนอยากเติบโตอย่างยั่งยืน อาจจะไม่ต้องโตเร็วมากในวันนี้ แต่ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น การที่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปล่อยให้ดำเนินต่อไปน่าจะเป็นฟองสบู่ และถ้าฟองสบู่แตกเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมาก ยอมเจ็บวันนี้ ดีกว่าเจ็บวันหน้า รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็น Sector ที่ใหญ่มากในจีน มีห่วงโซ่อุปทานที่เยอะ รวมถึงมีเงินของประชาชนและรัฐบาลท้องถิ่นจีนลงอยู่ด้วย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนโตช้า” ดร.กิริฎา อธิบาย
เรื่องที่ 3 คือ เศรษฐกิจจีนจะพยายามลดการปล่อยคาร์บอน และเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะส่งผลทำให้การผลิตสินค้าและบริการในจีนช้าลงด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนในปีนี้
ส่วนสงครามการค้า ความขัดแย้งอาจทวีความรุนแรงและไม่แผ่วลง เนื่องประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ไม่ได้ลดภาษีที่อดีตประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ เคยขึ้นสินค้านำเข้าจากจีนเลย และยังไปเพิ่มข้อกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น บริษัทใดที่ใช้วัตถุดิบจากมณฑลซินเจียง สหรัฐฯ จะไม่ซื้อสินค้าเหล่านั้น เนื่องจากมณฑลซินเจียงใช้แรงงานที่มีชาวอุยกูร์ ซึ่งทางการจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ สหรัฐฯ จึงไม่ซื้อ
รวมถึงสงครามเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือเทคโนโลยีไฮเทค เช่น โดรน หรือ เซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯ ก็ออกกฎห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันหรือบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีของอเมริกา ส่งวัตถุดิบที่จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับจีน เนื่องจากจีนยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนทุกอันได้เองในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยังต้องเพิ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ จีนจึงผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้เพราะไม่มีวัตถุดิบ จึงมองว่าสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี คงจะไม่จบลงง่าย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยก็อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามดังกล่าวไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี
เศรษฐกิจไทย
ดร.กิริฎามองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวลงไปถึง 6% ขณะที่กลางปีที่ผ่านมาเจอการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ต้องมีการล็อคดาวน์ไปหลายเดือน แต่เศรษฐกิจไทยโตดีกว่าที่คาดที่ 1.6% มาในปี 2565 การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน คาดว่าผลกระทบน่าจะเบากว่าสายพันธุ์เดลต้า เพราะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นและประชาชนเรียนรู้ที่จะอยู่กับ COVID-19 ได้แล้ว จึงคาดว่าไม่น่าจะมีการล็อคดาวน์อีก และจะเปิดเศรษฐกิจได้มากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถเปิดได้ต่อเนื่อง การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้บ้าง
“มองภาพรวมแล้ว ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เราจึงประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ 3.5% แต่ถ้าดูในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวไป 6% ขณะที่ปี 2564 โต 1.6% และปีนี้คาดว่าจะโต 3.5% แสดงว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 ยังไม่กลับไปตรงนั้น ต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปี คือปีหน้า มูลค่าเศรษฐกิจไทยจึงจะกลับไปเท่าปี 2562 ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะกลับไปยืนที่เดิมได้” ดร.กิริฎา กล่าว
เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย
เริ่มจากการบริโภค การบริโภคของคนไทยเอง มีสัดส่วนถึง 50% หรือว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทย หากการบริโภคฟื้นตัวได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีกำลังซื้อ มีการจับจ่ายใช้สอย ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีทิศทางเริ่มฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่การฟื้นตัวยังไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการยังต่ำอยู่ ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ไม่คงทนเริ่มดีขึ้น
“การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมา แต่รายได้ของประชาชนยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าเดิม และหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 การฟื้นตัวจึงเป็นไปอย่างช้า ๆ คาดว่าในต้นปีหน้าจึงจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้” ดร.กิริฎา อธิบาย
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และน่าจะเป็นภาคที่ฟื้นตัวช้ามากที่สุด “ถ้าเป็นภาคของการท่องเที่ยว คิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านคน ซึ่งน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 430,000 คน และอาจต้องใช้เวลาไปถึงปี 2567 กว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาในจำนวนที่เท่ากับปี 2562 ด้วยเหตุผลคือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนที่เยอะที่สุดของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ประมาณ 30% ในปีนี้คงยังไม่สามารถเดินทางมาได้ เนื่องจากจีนยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้น กว่าจะกลับไปที่ระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 ที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน จึงต้องใช้เวลา” ดร.กิริฎา ให้ความเห็น
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เนื่องจากนักลงทุนไทยและต่างชาติมองเห็นว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวและลงทุนก่อน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกำลังซื้อกลับมาจะได้มีสินค้าและบริการไปขาย ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว และสูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 แล้ว ถือเป็นข่าวดี ประกอบกับมีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การย้ายการลงทุนจากจีนมายังประเทศไทย
“ตอนนี้มีเทรนด์ย้ายการลงทุนจากจีนมาสู่หลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจีนมีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นถ้าผลิตที่ประเทศอื่น และส่งไปสหรัฐฯ จะไม่โดนภาษี ดังนั้น หลาย ๆ บริษัทที่เคยผลิตในประเทศจีนเพื่อการส่งออกจึงย้ายฐานการผลิตมาในอาเซียน ประกอบกับในจีนกำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงก็สูง รวมถึงรัฐบาลจีนก็มีการเพ่งเล็งภาคเอกชนด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้หลาย ๆ บริษัทย้ายจากประเทศจีน โดยบริษัทที่ย้ายมาไทยจะมีทั้งบริษัทจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน” ดร.กิริฎา กล่าว
ต่อมาการใช้จ่ายของภาครัฐ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นแล้ว จึงไม่มีความจำที่รัฐบาลต้องนำเงินมาอัดฉีดมากเท่าเดิมแล้ว โดยหากดูจากงบประมาณของรัฐบาลปีนี้ก็น้อยลงกว่าปีที่แล้ว และรัฐบาลไม่น่าจะกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังมีการใช้จ่ายผ่านนโยบายหรือโครงการที่จะช่วยในเรื่องของกำลังซื้อ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือโครงการช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเพราะ COVID-19 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการช่วยประชาชนในภาวะที่ราคาสินค้าขึ้นสูงอีกด้วย
“โดยจะยังคงเห็นมาตรการแจกเงินเหล่านี้ และรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะย้ายออกจากการเยียวยามาเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า” ดร.กิริฎา เสริม
และสุดท้ายการส่งออก ปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของการส่งออกไทย มีการขยายตัวถึง 17% โดยเกือบ 90% ของสินค้าส่งออกมีมูลค่าสูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 แล้ว การส่งออกกำลังเติบโตและไปได้ดี
“ปีนี้ประเทศที่เราส่งออกหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือจีน ยังขยายตัวอยู่ ดังนั้น การส่งออกของไทยก็น่าจะขยายตัวด้วยเช่นกัน แต่อาจจะช้าลงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกน่าจะโตต่ำกว่า 10% แต่ยังเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูงอยู่ รวมถึงเรายังได้อานิสงส์จากการที่หลาย ๆ ประเทศฟื้นตัว และปัญหา Supply Chain Disruption ก็ยังคงมีอยู่ แต่น่าจะน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยสิ่งที่จะจำกัดกำลังซื้อ ก็คือราคาของสินค้าที่ขึ้นสูงในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะปัจจัยที่มาจากด้านพลังงาน ทำให้ราคาสินค้าในประเทศพัฒนาแล้วสูง จึงอาจจะทำให้ไม่สามารถที่จะซื้อสินค้าและบริการได้มาก อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าการส่งออกน่าจะยังขยายตัวอยู่ที่ 5-10% และยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 55% ของ GDP เพราะฉะนั้นแม้จะเติบโตเพียง 5-10% ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นไปได้” ดร.กิริฎา กล่าวทิ้งทาย
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากงานสัมมนา Maruey Talk ตอน "จับชีพจรเศรษฐกิจโลกปี 65 ฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19” ณ วันที่ 3 ก.พ. 2565 โดย ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย