บาทแข็ง ดอกลด ลงทุนอย่างไร

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
1 มกราคม 2564
2.285k views
TSI_77_บาทแข็ง ดอกลด ลงทุนอย่างไร
Highlights
  • หากเงินบาทแข็งค่า จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจส่งออกและการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างชาติ

  • ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลลบต่อดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากตราสารหนี้ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลและกองทุน REITs จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เป็นไปตามคาดคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น

 

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่า... แม้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และการฟื้นตัวยังเปราะบาง มีความไม่แน่นอนสูง จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลดลง และทำให้ภาคธุรกิจมีแรงจูงใจที่จะกู้ยืมเพื่อลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยต่ำก็จะลดแรงจูงใจ​ของประชาชนที่จะนำเงินมาฝากออมไว้กับธนาคาร และอาจนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยแทน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก

 

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนกังวล คือ ค่าเงินบาทหรืออัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นนายโจ ไบเดน ซึ่งมีนโยบายที่เอื้อต่อการค้าขายกับประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนจึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ตลาดหุ้นกับค่าเงิน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นกับค่าเงิน มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

 

  1. กำไรของบริษัทจดทะเบียน

 

โดยปกติเมื่อเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลต่อผู้ส่งออก เพราะเมื่อนำรายได้สกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาท จะได้เงินบาทน้อยลง

 

ตัวอย่าง ถ้าวันนี้เงินบาท 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ถ้าใช้เงินบาท 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเงินบาท “อ่อนค่า” (ใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม)

 

ถ้าใช้เงินบาท 29 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเงินบาท “แข็งค่า” (ใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม)

 

“เมื่อมองเข้าไปในหุ้นกลุ่มส่งออกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization หรือเรียกสั้นๆ ว่า Market Cap.) รวมกันประมาณ 10 – 15% ของ Market Cap. โดยรวม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับไม่สูง ดังนั้น ในช่วงเงินบาทแข็งค่า ผลกระทบจากหุ้นกลุ่มส่งออกที่มีต่อหุ้นไทยโดยรวมจึงไม่สูงตามไปด้วย แต่การที่เงินบาทแข็งค่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก เพราะมูลค่าส่งออกในแต่ละปี คิดเป็นประมาณ 60 – 70% ของ GDP ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น” อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าว

 

  1. เงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow)

 

เมื่อเงินบาทแข็งค่า ย่อมเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน (Fund Flow ไหลเข้ามา) เพราะมองว่าจะได้กำไร 2 ต่อ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทต้องไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ หุ้นไทยต้องเป็นขาขึ้นและเงินบาทต้องแข็งค่า

 

“ถ้าทุกอย่างเอื้อประโยชน์ นักลงทุนต่างชาติจะได้ทั้งกำไรจากส่วนต่างราคา เงินปันผล และส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน” อาภาภรณ์ กล่าว

 

ปรับพอร์ตลงทุนอย่างไรในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ

 

“เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ย่อมส่งผลลบต่อดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ต่ำลงมาก จึงต้องมองหาและลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ ซึ่งหุ้นที่จ่ายปันผลและกองทุน REITs สามารถตอบโจทย์นี้ได้” อาภาภรณ์ กล่าว

 

โดยอาภาภรณ์ ยังแนะนำต่อว่า “นักลงทุนควรปรับพอร์ตลงทุน ด้วยการเน้นลงทุนหุ้นปันผล (Dividend Stock) และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพราะมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ และราคาผันผวนต่ำ”

 

อีกทั้งในช่วงที่ความเสี่ยงของตลาดเพิ่มสูงขึ้น (Market Risk) จากความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน และความผันผวนของราคาหุ้น อาภาภรณ์แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ “Play Safe, Stay Defensive” นั่นคือ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน

 

นอกจากนี้ ควรลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลง “หากตลาดมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นก็ต้องลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง ส่วนหุ้นที่ยังคงอยู่ในพอร์ตลงทุน ต้องทบทวนด้วยการปรับพอร์ตลงทุนให้เน้นไปที่หุ้น Defensive ที่ราคาปรับลดลงน้อยกว่าตลาด, หุ้น Low Beta และหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ พูดง่ายๆ คือ ลดการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินบาทแข็ง และเงินลงทุนที่เหลือให้เข้าไปพักไว้ที่กองทุนรวมตลาดเงิน พันธบัตรระยะยาว หรือเงินบางส่วนอาจลงทุนในทองคำ” อาภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับใครที่สนใจอยากเลือกหุ้นปันผล เพื่อลงทุนในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ สามารถเรียนรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นที่น่าสนใจด้วยตนเองผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening & Sector Analysis” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: