วางกลยุทธ์ลงทุนหุ้น ก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

โดย เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส
2 Min Read
10 มีนาคม 2565
3.094k views
Inv_วางกลยุทธ์ลงทุนหุ้น ก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
Highlights
  • หาก Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ Earning Yield Gap แคบลง ส่งผลให้ความน่าสนใจในตลาดหุ้นลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะแตกต่างกันไม่มาก

  • ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่น่าลงทุน รวมถึงปัจจัยบวกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโต เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่ไหลเข้าต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ล้วนทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ

แม้สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ในอีกนัยหนึ่งก็ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยเศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 แล้ว และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ระดับ 7.5% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความเหมาะสม แต่เมื่อมีความเสี่ยงในกรณีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเผชิญความไม่แน่นอน ดังนั้น ตลาดจึงต้องจับตาการประชุม Fed ในวันที่ 15 – 16 มีนาคมนี้ ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ถ้าปรับจะปรับขึ้นที่ระดับใด

 

จากทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่เริ่มมีความไม่แน่นอน ประกอบกับการปรับลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Reduction) อาจมีโอกาสเริ่มต้นช้าลงจากที่เคยคาดว่าจะเริ่มช่วงกลางปี 2565 จึงเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไป

 

โดยปัจจัยหนึ่งที่บอกว่าตลาดหุ้นน่าสนใจ คือ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้น (Earning Yield) กับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) หรือเรียกว่า Earning Yield Gap โดย Earning Yield Gap เกิดจากการนำผลตอบแทนของตลาดหุ้น (กำไรต่อหุ้นของตลาดหารด้วยดัชนีหุ้นไทย) ลบด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) อายุ 1 ปี ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรไปตลาดหุ้น หรือเรียกว่า Risk Premium

 

เหตุผลที่เลือกใช้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี เนื่องจากจะสะท้อนความเคลื่อนไหวได้ดีกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นหรือลง ประกอบกับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยไทยส่วนใหญ่ลงทุนระยะสั้น จึงเลือกใช้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี มาคำนวณ

 

จากการวัดค่า Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2554 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าค่าเฉลี่ยของ Earning Yield Gap อยู่ที่ 3.90% หมายความว่า หากนักลงทุนยอมย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 3.90% ขณะที่ Earning Yield Gap ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 4.50% หมายความว่า หุ้นไทยมีความน่าสนใจและเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเริ่มหันมามองมากขึ้น ดังนั้น หาก Earning Yield Gap ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้นตามไปด้วย

 

คำถาม คือ หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นหมายความว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะปรับขึ้นตาม ทำให้ Earning Yield Gap แคบลง ผลที่ตามมา คือ ความสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นจะลดน้อยลง เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลแตกต่างกันไม่มาก นักลงทุนจึงเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ตาม แม้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เนื่องจากบริบทแตกต่างจากสหรัฐฯ และต้องดูปัจจัยด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย เช่น หนี้ครัวเรือนไทยยังค่อนข้างสูง และเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว การที่ ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจจะยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ แสดงว่า Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยจะยังไม่ปรับลดลง

 

ดังนั้น หากมองนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ขณะที่ ธปท. ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยจะกว้างกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้นประเทศที่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นประเทศที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.50%

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) ปี 2565 ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 86 บาทต่อหุ้น เติบโตจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 73.6 บาทต่อหุ้น รวมถึงเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการเติบโต (GDP Growth) ที่ดีขึ้น  

 

โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลเข้าต่อเนื่อง โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ต่างชาติซื้อสุทธิ 56,153 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 2 ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รองจากเดือนมกราคม 2549 ที่ต่างชาติซื้อสุทธิสูงสุด 74,816 ล้านบาท

 

ดังนั้น ทั้ง GDP Growth และ EPS Growth ของไทยในปี 2565 มีโอกาสสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และ ธปท. ก็ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจในแง่ของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง และมีโอกาสเห็นเม็ดเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เกิดขึ้นและสร้างเศรษฐกิจมายาวนาน (Old Economy) โดยนักลงทุนต้องมองหาหุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวและขยายตัวต่อไปได้อย่างชัดเจน แต่ราคาหุ้นยังไม่ขยับขึ้น ที่เรียกว่าหุ้น Laggard เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (พลังงาน ปิโตรเคมี) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก โรงพยาบาล วัสดุและรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

 

หรือสนใจเรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: