ตัวเลขเศรษฐกิจบอกจังหวะลงทุนหุ้น

โดย SET
4 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
6.884k views
TSI_Article_074_Inv_Thumbnail
Highlights
  • GDP และอัตราเงินเฟ้อ เป็นตัวเลขที่ช่วยสะท้อนภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง และยังสามารถกำหนดทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย

  • ภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา จะทำให้การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มีความแตกต่างกันไป โดยภาวะเศรษฐกิจแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะฟื้นตัว ระยะเฟื่องฟู ระยะถดถอย และระยะตกต่ำ

  • หากนักลงทุนรู้ว่า ณ ปัจจุบัน อยู่ในช่วงใดของภาวะเศรษฐกิจ ก็จะสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจนั้น ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนโดยรวมที่ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน

เคยสงสัยหรือไม่ ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมีตั้งมากมายกว่าร้อยตัวเลข แถมแต่ละตัวเลขยังมีการประกาศผ่านสื่อต่างๆ แทบทุกวัน บางวันตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี หุ้นก็ขึ้น พอวันถัดมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี หุ้นก็ลง

แล้วนักลงทุนมือใหม่อย่างเรา จะดูตัวเลขเศรษฐกิจไหนดี???


ขอบอกตรงนี้เลยว่า... การตามตัวเลขเศรษฐกิจรายวัน ปล่อยให้นักเก็งกำไรมืออาชีพเขาทำกันดีกว่า ส่วนนักลงทุนมือใหม่อย่างเราๆ อาจตามแค่ 2 ตัวเลขก็พอ ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจปัจจุบันว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง แถมยังสามารถกำหนดทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ด้วย


ตัวเลขแรก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี (Gross Domestic Product : GDP) เป็นตัวเลขที่แทบจะนำตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวมาสะท้อนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่าย การส่งออก และการนำเข้า


สำหรับตัวเลขที่สอง คือ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นดัชนีชี้วัดราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคว่าปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยมากน้อยเพียงใด เช่น เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ก็หมายถึง ราคาสินค้าแพงขึ้นเฉลี่ย 3% ซึ่งกรอบเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 0 - 3.5%


โดยปกติตัวเลขทั้ง 2 ตัวนี้มักจะไปด้วยกัน พูดง่ายๆ คือ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจมีการขยายตัว เงินเฟ้อก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และหากเศรษฐกิจหดตัว เงินเฟ้อก็ปรับลดลงตามวัฎจักรเศรษฐกิจ

TSI_Article_074_Inv_ตัวเลขเศรษฐกิจบอกจังหวะลงทุนหุ้น_01

ภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลานั้น ทำให้การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มีความแตกต่างกันไปด้วย โดยภาวะเศรษฐกิจออกเป็น 4 ระยะ

  1. ระยะฟื้นตัว (Recovery) : เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากเผชิญภาวะตกต่ำถึงขีดสุด เงินเฟ้อยังอยู่ยังในระดับต่ำ
  • สินค้าที่เหลือค้างสต็อกค่อยๆ ทยอยขายออก
  • ราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น
  • ผลประกอบการของธุรกิจดีขึ้น
  • การผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น
  • สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุน
  • ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น
สังเกตอย่างไร?

GDP Growth ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ลงทุนอย่างไร? : ช่วงเวลานี้เหมาะกับการลงทุนใน “หุ้น” มากที่สุด เพราะหุ้นจะได้ผลบวกโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเศรษฐกิจที่ขยายตัว ในขณะที่ตราสารหนี้และเงินฝากจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า

  1. ระยะเฟื่องฟู (Peak) : เศรษฐกิจผ่านช่วงฟื้นตัว และก้าวเข้าสู่ช่วงขยายตัว เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้มากกว่าเงินเฟ้อ
  • การผลิตขยายตัวสูง
  • การจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น
  • ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นระยะที่ซื้อง่ายขายคล่อง
  • ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อ

 

สังเกตอย่างไร?

GDP Growth จะเริ่มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ลงทุนอย่างไร? : ช่วงเวลานี้เหมาะกับการลงทุนใน “ทองคำ” มากที่สุด เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองและป้องกันเงินเฟ้อได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าหุ้นไม่น่าสนใจ เพียงแต่การปรับขึ้นของราคาหุ้นในช่วงนี้ จะเต็มไปด้วยความผันผวน การกำหนดกลยุทธ์ลงทุนจึงทำได้ยาก

  1. ระยะถดถอย (Recession) : เศรษฐกิจเริ่มชะลอการขยายตัว หลังจากเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
  • ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น
  • ผลประกอบการของธุรกิจต่ำลง
  • การผลิตและการจ้างงานลดลง
  • ประชาชนมีรายได้ลดลง
สังเกตอย่างไร?

GDP Growth ติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส (QoQ) หาก GDP Growth ลดลง แต่ไม่ถึงกับติดลบ ก็จะเป็นแค่ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ลงทุนอย่างไร? : ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ไม่ควรลงทุนในหุ้นมากที่สุด เพราะกำไรของบริษัทจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก ส่วน “ตราสารหนี้” ก็ไม่น่าสนใจ เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ “เงินฝาก” จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ขยับเพิ่มขึ้น

  1. ระยะตกต่ำ (Trough) : เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างเต็มตัว เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง
  • สินค้าเหลือค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ประกอบการลดการผลิต ลดการจ้างงาน
  • ประชาชนไม่ค่อยมีกำลังซื้อ เพราะรายได้ลดลงมาก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สังเกตอย่างไร?

GDP Growth หดตัว จนทำจุดต่ำสุดใหม่และมีอัตราการว่างงานสูงสุด

ลงทุนอย่างไร? : ช่วงเวลานี้หุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก “ตราสารหนี้” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและได้รับผลประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาลง มีความน่าสนใจมากกว่า 


จะเห็นว่า... วัฎจักรเศรษฐกิจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน หากนักลงทุนรู้ว่า ณ ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรเศรษฐกิจ นักลงทุนก็จะสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจนั้นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนโดยรวมที่ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนในที่สุด


แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะบอกจังหวะลงทุนหุ้นได้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นยังต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ดังนั้น หากนักลงทุนและผู้ที่สนใจ อยากรู้และเข้าใจปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ตลอดจนสามารถนำแนวคิดและขั้นตอนในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาใช้เพื่อคัดกรองหุ้นที่มีพื้นฐานดีเหมาะกับการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: