กฎ 10 ข้อ มือใหม่หัดวิเคราะห์เทคนิคต้องรู้

โดย SET
3 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
35.843k views
TSI_Article_072_Inv_Thumbnail
Highlights
  • “การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน” ทำให้เรารู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เพื่อตัดสินใจว่าควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนดี แต่จะต้องเข้าซื้อขายตอนไหน ราคาเท่าไหร่ จำเป็นต้องใช้ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค” เข้าช่วย เพื่อหาจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม

  • การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นการศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้นในอดีต เพื่อนำมาคาดการณ์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอนาคต โดยมีความเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ” ตามอารมณ์ของมนุษย์ที่มีทั้งความโลภ ความกลัว และความหวัง ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาที่จะสะท้อนไปยังราคาและปริมาณซื้อขายหุ้น

  • หากเราเข้าใจหลักการและสามารถเลือกใช้ “เครื่องมือทางเทคนิค” ได้อย่างเหมาะสม แม่นยำ จะสามารถเอาตัวรอดจากความผันผวนในตลาด และมีโอกาสทำกำไรได้

ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนดูกราฟหุ้น กลายเป็นกระแสการลงทุนประเภทที่ว่า ถ้าไม่ดูกราฟ จะคุยกับนักลงทุนคนอื่นไม่รู้เรื่อง แต่เนื่องจากการดูกราฟหุ้นหรือที่เรียกในภาษาวิชาการว่า “วิเคราะห์ทางเทคนิค” เต็มไปด้วยหลักการและเครื่องมือมากมาย นักลงทุนหลายคนอาจเกิดอาการสับสนและใช้เครื่องมือผิดวิธี จนทำให้ตัดสินใจลงทุนผิดพลาดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว


แล้วจะรอช้าอยู่ทำไม... ลองมาทำความเข้าใจ กฎ 10 ข้อ มือใหม่หัดวิเคราะห์เทคนิคต้องรู้ กันดีกว่า

1. หัวใจของเทคนิคอล คือ การวิเคราะห์ "พฤติกรรม"

การวิเคราะห์ทางเทคนิค คือ การศึกษาพฤติกรรมของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ณ ปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ซึ่งการเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าว นักลงทุนต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตและติดตามการเคลื่อนไหวของราคาอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาที่นานพอ เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวมีปัจจัยพื้นฐานและความน่าสนใจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้รูปแบบการเล่นและเครื่องมือที่ใช้ก็อาจจะแตกต่างกันด้วย

2. รู้จักวัฎจักรของราคา

การใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้ได้ผล จำเป็นต้องซื้อขายหุ้นให้ ถูกที่ ถูกเวลา สามารถประเมินโอกาสที่จะเกิดจุดเปลี่ยนแนวโน้มในอนาคตได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติและวัฏจักรของราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา

วัฎจักร (Cycle) ของราคามี 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะสะสม: หลังจากราคาปรับตัวลงมามากพอสมควรแล้ว ในระยะนี้ราคาจะค่อนข้างนิ่ง ขึ้นลงไม่มากนัก แต่กลับมีปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นมากจนผิดสังเกต 
  • ระยะขาขึ้น: หลังจากที่ผ่านระยะสะสมมาได้ซักพัก ก็จะมีข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ออกมา ทำให้หุ้นตัวนี้ มีแรงซื้อไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ระยะแจกจ่าย: เมื่อราคาหุ้นขึ้นมาสูงถึงจุดที่เกินมูลค่าแล้ว นักลงทุนรายใหญ่บางกลุ่มจึงถือโอกาสเทขายหุ้นตัวนี้ออกมาสวนทางกับกระแสตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาในช่วงนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ แต่มีปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • ระยะขาลง: หลังจากที่หุ้นได้ถูกเทขายออกมาเป็นจำนวนมากแล้ว หุ้นตัวนี้จะเริ่มมีข่าวที่ไม่ค่อยดี (หรือ ดีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้) ทยอยออกมาเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดีดกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อระยะสะสมมาถึง

3. ลงทุนตามแนวโน้ม

ในช่วงแนวโน้มขาขึ้นนั้น ราคาจะมีโอกาสสูงขึ้นได้ง่ายกว่า ขณะที่ช่วงขาลง ราคาจะมีโอกาสลงต่อสูงกว่า การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนให้ถูกต้องตามแนวโน้มของวัฎจักรราคา จึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ เพราะการลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มนั้น มักจะทำให้เกิดผลขาดทุนได้ง่าย

4. ความสำคัญของปริมาณซื้อขาย

ปริมาณซื้อขายหุ้น (มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “Volume”) คือ ปริมาณเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายจริงในช่วงเวลานั้น จึงสามารถบ่งบอกถึงน้ำหนักนัยสำคัญของทิศทางราคาได้เป็นอย่างดี เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยืนยันแนวโน้มว่ายังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ เพื่อให้ตัดสินใจซื้อขายได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

5. ใช้แนวรับแนวต้านเพื่อตัดสินใจ

“แนวรับ” คือ ระดับราคาที่เม็ดเงินกลุ่มใหญ่ในตลาด เห็นว่าเป็นราคาที่ถูก และเข้าซื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาสามารถเด้งกลับขึ้นมาได้ค่อนข้างง่าย ขณะที่ “แนวต้าน” คือ ระดับราคาที่ตลาดเห็นว่าแพงเกินไป และพากันแย่งขาย ทำให้ราคาจะเคลื่อนผ่านจุดนี้ขึ้นไปต่อค่อนข้างลำบาก หากราคาสามารถวิ่งทะลุผ่านแนวรับแนวต้านเหล่านี้ได้ ราคาก็มักจะไปต่อในทิศทางนั้นอย่างมีนัยสำคัญ แนวรับและแนวต้านจึงเป็นจุดสำคัญสำหรับตัดสินใจซื้อขายหุ้นหลังจากทำการวิเคราะห์ในส่วนอื่นๆ มาแล้ว

6. รู้จักรูปทรงของกราฟชนิดต่างๆ

รูปทรงของกราฟ (Chart Pattern) คือ รูปแบบพฤติกรรมราคาที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยปกติจะมีลักษณะคล้ายกับการนำเส้นแนวรับ แนวต้าน และแนวโน้มมาผสมผสานกัน การทำความเข้าใจกับ Pattern แบบต่างๆ จะช่วยให้ประเมินหาจุดกลับตัวของแนวโน้มได้อย่างละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น

7. วิเคราะห์ข้อมูลจากหลายกรอบเวลา 

การวิเคราะห์ข้อมูลจากช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (Time Frame) จะทำให้สามารถมองเห็นและแยกแยะถึงแนวโน้มของราคาในระยะต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนจะต้องเข้าใจ เพื่อป้องกันการเข้าซื้อขายหุ้นที่ผิดจังหวะ

8. รู้ข้อจำกัดของเครื่องมือก่อนนำไปใช้งาน

เครื่องมือต่างๆ มักมีข้อจำกัดในตัวมันเอง เช่น เครื่องมือประเภทตัวชี้วัด (Indicator) นั้น มีทั้งแบบที่เหมาะกับช่วงตลาดที่มีแนวโน้ม (Trend Following) และแบบที่เหมาะกับช่วงที่ตลาดยังมีแนวโน้มไม่ชัดเจน แต่มีการเคลื่อนไหวในระดับที่มากพอ (Oscillator) 

นอกจากนั้น เครื่องมือเหล่านี้ยังจำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบกับเครื่องมืออื่นๆ เช่น แนวรับ แนวต้าน รูปทรงกราฟ และปริมาณการซื้อขายด้วย การใช้เครื่องมืออย่างผิดวิธี นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะพลาดกันอยู่บ่อยๆ จึงควรระวังให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้งานเครื่องมือผิดประเภทจนส่งผลเสียต่อการลงทุนได้

9. เลือกใช้เครื่องมือเฉพาะเท่าที่จำเป็น

เครื่องมือในการวิเคราะห์ทางเทคนิคทุกชนิด ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของมันเอง นอกจากจะเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกประเภทแล้ว ยังไม่ควรใช้เครื่องมือเยอะเกินไป เพราะจะทำให้เกิดสัญญาณซื้อขายที่ซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันเอง จนไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมได้

10. มีแผนการที่ชัดเจนอยู่เสมอ

ไม่มีเครื่องมือใด สามารถบอกอนาคตได้อย่างแม่นยำ 100% ดังนั้น ก่อนซื้อหุ้นทุกครั้ง เราจึงควรกำหนด “ราคาตัดขาดทุนที่ยอมรับได้” (จุด Cut Loss) เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อรับมือกรณีที่ราคาหุ้นไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และป้องกันการขาดทุนหนัก รวมถึง “ราคาสำหรับขายทำกำไร” (จุด Take Profit) เพื่อป้องกันไม่ให้ขายช้าเกินไป จนกำไรที่มีอยู่กลับกลายเป็นขาดทุน 


กฎทั้ง 10 ข้อนี้ จะช่วยให้มือใหม่ทางเทคนิค สามารถเริ่มต้นได้อย่างถูกทิศทาง และใช้งานเครื่องมือทางเทคนิคทั้งหลายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จในการลงทุนในที่สุด


วิเคราะห์กราฟเทคนิคด้วยตัวคุณเองแบบง่ายๆ ผ่าน Settrade Technical Chart บน Streaming >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: