สัญญาณอันตราย หนี้ท่วมหัวจากบัตรเครดิต

โดย ผศ.สุธาสินี สุวรรณภักดิ์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3 Min Read
22 กันยายน 2565
10.105k views
TSI_7_สัญญาณอันตราย หนี้ท่วมหัวจากบัตรเครดิต
Highlights
  • ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ในพริบตา แต่สิ่งที่ตามมาจากความสะดวกสบายนี้คือ “ปัญหาหนี้สินท่วมหัว” เพราะไม่มีการวางแผนบริหารจัดการเงิน

  • สัญญาณอันตรายที่บอกว่าเรากำลังมีหนี้บัตรเครดิตท่วมหัวมีอยู่หลายสัญญาณ เช่น การเริ่มจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตเกินกว่า 40% ของรายได้แต่ละเดือน บัตรเครดิตเต็มวงเงินเกือบทุกใบ และไม่มีเงินเหลือเก็บเพราะต้องจ่ายหนี้บัตร เป็นต้น ซึ่งถ้าเริ่มต้นมีสัญญาณเหล่านี้ต้องรีบจัดการและหยุดใช้บัตรเครดิตก่อหนี้เพิ่มทันที

ในยุคแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ผู้คนล้วนแล้วแต่ชื่นชอบความสะดวกสบาย ทันสมัย และรวดเร็วทันใจ การใช้บัตรเครดิตจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตมากขึ้น ด้วยเทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์สูงขึ้นและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบัตรเครดิต

 

เมื่อบัตรเครดิตสามารถตอบสนองวิถีการใช้ชีวิตให้เกิดความสะดวกสบาย ทำให้หลายคนขาดความระมัดระวังและขาดวินัยทางการเงินในการใช้จ่าย จนนำไปสู่ภาวะการมีหนี้สินท่วมหัว

 

มาดูสัญญาณอันตรายที่กำลังเตือนว่า “เรากำลังมีหนี้สินท่วมหัวจากบัตรเครดิตหรือไม่”

PF_สัญญาณอันตราย หนี้ท่วมหัวจากบัตรเครดิต_Info_01

ผ่อนชำระตามจำนวนยอดหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิต

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ แสดงว่ากำลังขาดความสามารถในการชำระหนี้ได้เต็มจำนวนและเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว ซึ่งรู้หรือไม่ว่าการจ่ายขั้นต่ำ แปลว่า ต้องจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น และกว่าจะจ่ายหนี้หมดต้องใช้เวลานานขึ้น

 

มีค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตเกินกว่า 40% ของรายได้แต่ละเดือน

 

โดยปกติแล้วควรมีหนี้บัตรเครดิตไม่เกิน 10 - 20% ของเงินเดือน และควรเป็นการใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น เช่น อาหาร สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น แต่หากจ่ายหนี้บัตรเครดิตสูงทะลุ 40% ต่อเดือน แสดงว่ากำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนักและอาจไม่มีเงินเหลือพอไปจ่ายหนี้ที่จำเป็นในชีวิตในเรื่องอื่น เช่น กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือเพื่อการศึกษาบุตร เป็นต้น

 

มีบัตรเครดิตหลายใบและวงเงินเต็มเกือบทุกใบ

 

หลายคนมีบัตรเครดิตมากกว่า 2 ใบ และยิ่งมีการใช้จ่ายจนเต็มวงเงินแทบทุกใบ แสดงว่ากำลังก่อหนี้สูงกว่ารายได้ที่หาได้ เพราะบัตรแต่ละใบมักจะให้วงเงินสูงกว่า 1.5 - 5 เท่าของเงินเดือน ยิ่งบัตรกดเงินสดมักจูงใจด้วยการให้วงเงินจำนวนสูงๆ ดังนั้น ยิ่งใช้เงินผ่านการรูดบัตรจนเต็มวงเงิน ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อการเป็นหนี้ท่วมหัว

 

ไม่รู้ยอดค่าใช้จ่ายที่แน่นอนในแต่ละเดือน

 

ในยุคที่แผนการตลาดและโปรโมชั่นออกมาเพื่อดึงดูดลูกค้า ทำให้หลายคนขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะซื้อผ่านบัตรเครดิตเพราะคิดแค่ว่า “รูดไปก่อน ค่อยจ่ายทีหลัง” หรือ “สิ้นเดือนค่อยว่ากัน” หมายความว่ากำลังไม่รู้ภาระหนี้สินที่แน่นอนของตัวเองในแต่ละเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการวางแผนในการใช้เงินในอนาคต ยิ่งมีรายได้มาจากแหล่งเดียวแต่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างเมามัน ย่อมนำไปสู่การเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว

 

เงินไม่เหลือเก็บเพราะจ่ายหนี้บัตรเครดิตหมด

 

หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด เช่น เกิดอุบัติเหตุต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนหรือเกิดเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล แต่มีเงินเหลือติดบัญชีไม่กี่ร้อยบาท เพราะแต่ละเดือนนำเงินไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตจนหมด ทางออกคงต้องไปกู้ยืมเงินจากช่องทางอื่น หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรเงินสด แย่ไปกว่านั้น คือการกู้หนี้นอกระบบ ผลที่ตามมาหนีไม่พ้นการเป็นหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

กดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรเงินสดใบใหม่ เพื่อนำไปจ่ายหนี้บัตรใบเดิม

 

หากเริ่มมีปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้บัตรเครดิต หลายคนมักแก้ปัญหาด้วยการสมัครบัตรใบใหม่เพื่อจะได้วงเงินก้อนใหม่ จากนั้นก็กดเงินสดเพื่อนำไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดใบเดิม อาการแบบนี้แสดงว่ากำลังเข้าข่ายการมีภาระเป็นหนี้สะสม และมีภาระดอกเบี้ยมหาศาลที่คิดคำนวณเป็นรายวัน และเกิดหนี้สินเพิ่มพูนจากดอกเบี้ยมหาโหดนี้

 

สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาเล็กๆ ที่หากไม่ใส่ใจและตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน อาจนำไปสู่ปัญหาชีวิตที่แก้ไขได้ยากและเป็นสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ของปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน

 

เหมือนที่ Thomas Fuller กล่าวว่า “Debt is the worst poverty”  ซึ่งน่าจะเข้ากับสุภาษิตอันคลาสสิคของไทยที่ว่า การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” นั่นเอง

                                                                                                                

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการวางแผนชำระหนี้อย่างถูกต้อง เพื่อให้มีเงินเหลือออม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้ มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: