อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปีแล้ว และอีกไม่กี่เดือนก็จะเห็นบริษัทจดทะเบียนประกาศผลประกอบการและประกาศจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 โดยหากนักลงทุนประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนจนรู้สึกกังวลว่าจะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวก็จะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ด้วยการมองหาหุ้นที่ลงทุนแล้วมีความปลอดภัยสูงท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยหุ้นที่มีความปลอดภัยนี้ คือ หุ้นที่จ่ายเงินปันผล ดังนั้น หากนักลงทุนยังไม่มีหุ้นปันผล ก็สามารถเลือกลงทุนหุ้นที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีอัตราผลตอบแทนที่น่าลงทุน และเพื่อไม่ทำให้ผิดหวังสามารถใช้ 5 วิธีการเบื้องต้นสำหรับเลือกหุ้นปันผลเข้าพอร์ตลงทุน ดังนี้
1. เลือกบริษัทที่มีผลประกอบการดี นักลงทุนควรท่องประโยคนี้ไว้ในใจเสมอ “บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ ผลการดำเนินงานต้องมีกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ” ซึ่งกำไรจะต้องมาจากการดำเนินงานที่แท้จริง เช่น หากทำธุรกิจขายรถยนต์ กำไรก็ต้องมาจากการขายรถยนต์ ไม่ใช่มาจากขายที่ดิน ขายอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ควรดูในขั้นแรก คือ “กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT)” เพราะเป็นรายการที่สะท้อนผลการดำเนินงานเบื้องต้นในงบการเงิน จากนั้นดูที่ “กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)” เพราะจะสะท้อนจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดที่ชำระแล้ว โดยในระหว่างปีหากมีจำนวนหุ้นเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนโดยตรงแบบ XR หรือจากพนักงานบริษัท ย่อมส่งผลต่อกำไรที่แบ่งสรรปันส่วนมาให้กับนักลงทุน
โดยกำไรในแต่ละปี บริษัทจะแบ่งเก็บไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้นในรายการ “กำไรสะสม” เพื่อนำไปลงทุนในโครงการใหม่ ๆ หรือขยายธุรกิจ โดยไม่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพราะเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นย่อมมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมีผลต่อกำไรที่อาจลดลงได้
2. วางเป้าหมายอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เหมาะสม อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นปันผลนั้น ๆ โดยคำนวณจาก “เงินปันผลจ่ายต่อหุ้นหารด้วยราคาหุ้นในตลาด” ซึ่งนักลงทุนสามารถคำนวณกลับได้ว่าบริษัทจ่ายเงินปันผลตามนโยบายที่ประกาศไว้หรือไม่ ด้วยการนำเงินปันผลจ่ายต่อหุ้น (DPS) หารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ผลลัพธ์จะได้ Payout Ratio (บริษัทจ่ายเงินปันผลเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของกำไรต่อหุ้นในแต่ละปี) ถือเป็นการตรวจสอบว่าบริษัทสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีได้หรือไม่
โดยอัตราเงินปันผลที่นักลงทุนคาดหวังควรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลหรือเป็นไปได้ เช่น อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยเฉลี่ยจากการลงทุนในหุ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 3 - 5% แต่อาจได้รับอัตราผลตอบแทนสูงกว่านี้ถ้าสามารถรอราคาหุ้นให้ปรับลดลงจนถึงระดับที่ตัวเองพอใจ อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลต้องอิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท ดังนั้น ถ้าจ่ายเงินปันผลออกมามากเกินไปอาจส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในอนาคต
3. มีประวัติการจ่ายเงินปันผลไม่ขาดตกบกพร่อง บริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอส่วนใหญ่แล้วจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานให้เติบโตควบคู่ไปกับนโยบายการจ่ายเงินปันผล คล้าย ๆ กับการฝากออมทรัพย์ ธนาคารก็จะจ่ายดอกเบี้ย ถ้าฝากไปเรื่อย ๆ ดอกเบี้ยก็จะทบต้นไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร และบางปีบริษัทอาจไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามปกติ เพราะผลการดำเนินงานขาดทุน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจึงต้องศึกษาข้อมูลในอดีตย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ว่าบริษัทใดที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ถึงแม้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ได้การันตีว่าในอนาคตบริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยก็เพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลได้
4. กระจายการลงทุนในหุ้นปันผลอย่างเหมาะสม “อย่าเก็บไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว” สามารถใช้ได้กับการเลือกหุ้นปันผลเข้าพอร์ตลงทุน หมายความว่า ควรกระจายการลงทุนในหุ้นปันผล เช่น หุ้นปันผลกลุ่มพลังงาน 1 ตัว กลุ่มธนาคาร 1 ตัว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 1 ตัว หรือกลุ่มเทคโนโลยี 1 ตัว เป็นต้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์หรือมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นหรือหุ้นรายตัว การกระจายการลงทุนก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้
5. ลงทุนระยะยาว การลงทุนในหุ้นปันผลมักเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ได้จะมาจากกำไรในแต่ละปี ดังนั้น นอกจากเลือกลงทุนในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอแล้ว ต้องมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำด้วย โดยให้สังเกตจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาถ้าบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราการทำกำไรได้ ย่อมทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะยาวได้อีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจอยากคัดกรอง “หุ้นปันผล” ด้วยตนเอง สามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียง 250 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!
หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการคัดกรองหุ้นดี น่าลงทุน ด้วยการใช้งานเครื่องมือ Settrade Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่