นอกเหนือจากโอกาสการสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวแล้ว บริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ยังมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
จากผลการศึกษาต่างๆ พบว่า... บริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี จะมีความเสี่ยงต่ำ เช่น มีโอกาสถูกฟ้องร้องต่ำ ปัญหาคอรัปชั่นต่ำ อีกทั้งต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ยังต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญด้าน ESG แถมยังมีความได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้น แม้ราคาหุ้นของบริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืน อาจขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะตลาด แต่การลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้จะมีความผันผวนน้อยกว่าในระยะยาว
พูดง่ายๆ ก็คือ ผลการดำเนินงานด้าน ESG มีความเชื่อมโยง ทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว
สำหรับการทำความเข้าใจถึงความสามารถในการแข่งขันในมิติของความยั่งยืนว่า... จะส่งผลอย่างไรต่อความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ? นักลงทุนสามารถประเมินเบื้องต้นได้ โดยพิจารณาความเสี่ยงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจนั้น และบริษัทมีการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร? รวมถึงความเสี่ยงเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไรในระยะยาว?
บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) ได้ยกตัวอย่างธุรกิจโลจิสติกส์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า... การขนส่งด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ มีโอกาสผิดพลาดค่อนข้างสูง เช่น ขับรถเร็วเกินข้อกำหนดของกฎหมาย พนักงานขับรถมีประสบการณ์น้อย ตลอดจนเกิดความผิดพลาดด้านเส้นทาง เป็นต้น
ในปี 2561 บริษัทขนส่งหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาเริ่มหันมาใช้งานอุปกรณ์บันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ELDs) เพื่อให้พนักงานขับรถบรรทุกทำการตรวจสอบเวลา ผลที่ตามมา คือ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพพนักงานขับรถ เพราะไม่ต้องการการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น โดยสมาคมรถบรรทุกแห่งสหรัฐอเมริกา (ATA) ประเมินว่าภายในปี 2569 จะขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกราว 175,000 คน
ปัจจุบันมีบริษัทขนส่งหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา จัดการแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆ กัน ด้วยการเพิ่มค่าแรงและพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ
จากกรณีดังกล่าว พบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้ไป คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีโอกาสเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่พนักงานขับรถบรรทุกจะละเมิดหรือทำผิดกฎระเบียบมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้ชื่อเสียงของบริษัทหดหายไป เมื่อมีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากสหภาพแรงงานจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เช่น พนักงานขับรถบรรทุกมีขวัญกำลังใจและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานลดลง รวมถึงชื่อเสียงของบริษัทจะดีขึ้นและอาจก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านธุรกิจขนส่งได้
ดังนั้น หากมองว่าการดำเนินงานโดยการคำนึงถึงด้าน ESG จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ในความเป็นจริง นอกจากจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้หรือพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของบริษัทได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในโรงงาน หรือการเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ถือเป็นการสร้างคุณค่าแก่สินค้า ช่วยขยายตลาดใหม่ และเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมักจะเลือกสินค้าและบริการจากกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วโลก ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจบริษัทที่ดำเนินงานด้วยการคำนึงถึงด้าน ESG มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 MSCI ESG Research LLC ได้ทำการสำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials (เกิดระหว่างปี 2523 - 2543) พบว่า 95% ของคนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้วยหลักการการลงทุนอย่างยั่งยืน
จากการประเมินของ MSCI ESG Research LLC คาดว่านักลงทุนกลุ่ม Millennials ในปีนี้จะมีจำนวนเกือบ 80 ล้านคน และมีเงินลงทุนอยู่ราว 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากการสำรวจพบว่า... เกือบ 90% จัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ (High-net worth) ที่สำคัญ คือ มีการติดตามการลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าอยู่ในแผนการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งของนักลงทุนกลุ่มนี้ จะปฏิเสธการลงทุนในบริษัทที่ไม่คำนึงถึงด้าน ESG เช่น ผลิตสินค้าหรือบริการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จะเห็นว่า... ปัจจุบันนักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีนโยบายการบริหารด้านความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาจากทีมบริหารที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว มากกว่าที่จะมุ่งเน้นการสร้างผลกำไรในระยะสั้น
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า “แก่นการลงทุนในหุ้น ESG ไม่ได้มุ่งเสาะหาบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่าอุตสาหกรรมหรือตลาดโดยรวม” เพราะบริษัทเหล่านี้จะคำนึงถึงด้าน ESG ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่ในมุมของนักลงทุนสามารถประยุกต์ใช้ ESG เพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหกรรม และนำไปช่วยจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เห็นว่า “การลงทุนในหุ้น ESG เป็นผลดีต่อนักลงทุนทั้งในแง่ผลตอบแทนทางการเงินและการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม โดยการลงทุนในหุ้น ESG มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับการลงทุนแบบทั่วไป ในขณะที่ความผันผวนนั้นต่ำกว่าตลาด” เนื่องจากแนวคิดหลักที่บริษัทจะต้องมีการบริหารจัดการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการบริหารงานเพื่อผลประกอบการที่ดี
“ ESG เป็นกลไกที่ดีในการช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง”
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องความเสี่ยงด้านความยั่งยืน (ESG Risk) เพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนมากขึ้น >> คลิกที่นี่