ทำความรู้จัก DR (Depositary Receipt)
DR หรือ Depositary Receipt เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย ในรูปแบบของ "ตราสารแสดงสิทธิ" ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต.
โดยผู้ออกตราสาร ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ จะเป็นผู้ดำเนินการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้ามา และนำมาจดทะเบียนเป็น DR เพื่อให้ผู้ลงทุนซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยสกุลเงินบาท และใช้เงินลงทุนไม่มาก
โดยสินทรัพย์ของ DR มีให้เลือกลงทุนได้ 2 ประเภท ได้แก่ "หุ้น" และ "ETF" ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความถนัดและเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการ
✔ DR ที่อ้างอิง "หุ้นรายตัว" เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีพื้นฐานความรู้หรือความสนใจในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นพิเศษ และเข้าใจโมเดลธุรกิจเป็นอย่างดี เช่น เทคโนโลยี, พลังงาน, หรือสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
Note สิ่งที่ต้องทำก่อนลงทุน : ศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างละเอียด อ่านงบการเงิน รายงานประจำปี แผนธุรกิจจากผู้บริหาร ภาวะอุตสาหกรรม และปัจจัยเฉพาะของบริษัทนั้น ๆ อย่างรอบด้าน
✔ DR ที่อ้างอิง "ETF" เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนและไม่มีเวลาศึกษาหุ้นรายตัว การลงทุน DR ที่อ้างอิง ETF ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ตอบโจทย์ เนื่องจาก ETF คือ กองทุนรวมดัชนีที่มีการลงทุนในหุ้นหลายตัวตามดัชนีที่อ้างอิง เช่น S&P 500, NASDAQ 100 หรือดัชนีหุ้นเวียดนาม เป็นต้น
การลงทุนใน ETF จึงเป็นการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้โดยอัตโนมัติ และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในภาพรวมของตลาดหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ
Note สิ่งที่ต้องทำก่อนลงทุน : ศึกษาเป้าหมายของ ETF และสินทรัพย์ที่ ETF ลงทุนในแต่ละธีม แม้จะกระจายความเสี่ยงได้ดี แต่นักลงทุนก็ยังต้องทำความเข้าใจว่า ETF นั้น ลงทุนในอะไรบ้าง และมีนโยบายการบริหารจัดการอย่างไร
📌 แต่ไม่ว่าผู้ลงทุนจะเลือกลงทุน DR ที่อ้างอิงเป็นหุ้นรายตัวหรือ ETF การวิเคราะห์ "แนวโน้ม" ของธุรกิจ และการประเมิน "มูลค่า" ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจบนเหตุและผลได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ "Top-Down Analysis" หรือการวิเคราะห์จากภาพรวมไปสู่ภาพย่อย ซึ่งมีด้วยกัน 3 Steps
STEP 1 : มอง “ประเทศ” ที่เติบโต
[วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก-ประเทศ] พิจารณาภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่สินทรัพย์อ้างอิงนั้นตั้งอยู่ (เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, เวียดนาม) อาจดูตัวชี้วัดสำคัญ ๆ เช่น อัตราการเติบโต GDP, อัตราเงินเฟ้อ, นโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง, นโยบายการคลัง, รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนมีผลต่อความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน
STEP 2 : มอง “ธีม” ที่โดดเด่น
[วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม] เมื่อเห็นภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ให้มองหาธีมการลงทุน อุตสาหกรรม หรือภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยสามารถพิจารณาได้จากปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น นวัตกรรม, เทคโนโลยี, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค หรือนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน
STEP 3 : มอง “บริษัท” ที่แข็งแกร่ง
[วิเคราะห์สินทรัพย์อ้างอิงรายตัว (หุ้น/ETF) และประเมินราคาที่เหมาะสม] เมื่อระบุอุตสาหกรรมที่น่าสนใจได้แล้ว ค่อยมาพิจารณาหุ้นรายตัว หรือ ETF ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
สำหรับหุ้นรายตัว : เจาะลึกงบการเงิน ผลประกอบการ ความสามารถในการทำกำไร แผนธุรกิจของบริษัท และเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
สำหรับ ETF : ทำความเข้าใจว่า ETF นั้น ลงทุนในหุ้นตัวใดบ้าง มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เรามองหาหรือไม่
ศึกษาภาพรวมของสินทรัพย์อ้างอิง ควบคู่กับการติดตามความเคลื่อนไหวของราคา DR เพื่อจับจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม
🔍 ถอดรหัส Symbol แบบเข้าใจง่าย
Symbol หรือสัญลักษณ์ชื่อย่อของ DR (Depositary Receipt) ประกอบด้วยตัวอักษรสูงสุด 10 ตัว โดยที่ 8 ตัวแรก จะหมายถึง ชื่อย่อของหลักทรัพย์ต่างประเทศ และ 2 ตัวท้าย จะหมายถึง หมายเลขผู้ออก DR
ปัจจุบันมีด้วยกันอยู่ 7 ผู้ออก ซึ่งได้แก่
01 - บล.บัวหลวง
03 - บล.พาย
06 - บล.เกียรตินาคินภัทร
13 - บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)
19 - บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
23 - บล. อินโนเวสท์ เอกซ์
80 - ธนาคารกรุงไทย
[ตัวอย่าง] การอ่านสัญลักษณ์ชื่อย่อ DR :
เช่น AAPLXX หมายความว่าหลักทรัพย์นี้เป็น DR ของหุ้น APPLE ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์หมายเลข XX เป็นต้น
DR เทรดง่ายเหมือนหุ้นไทย เพียงพิมพ์ชื่อย่อหลักทรัพย์ ตามด้วยหมายเลขผู้ออก
หรือจะเลือกดูรายชื่อ DR ทั้งหมดผ่านแอป Streaming ก็ไปที่เมนู “Watch” กดที่ “Favourite” เลือก “SET” ไปที่ “Stock Type” และเลือก “.DR”
ราคา DR มาจากอะไร ?
ราคา DR สามารถคำนวณได้จาก ราคาสินทรัพย์อ้างอิง (สกุลเงินต่างประเทศ) x อัตราแลกเปลี่ยน (สกุลเงินบาท) / อัตราแปลงสภาพ (อัตราส่วน DR ต่อสินทรัพย์อ้างอิง)
แต่เนื่องจากสินทรัพย์ต่างประเทศที่อ้างอิงตัวเดียวกันอาจมีหลายผู้ออก ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรทำความเข้าใจเรื่อง “อัตราแปลงสภาพ” (DR : สินทรัพย์อ้างอิง) ร่วมด้วย เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคา DR แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
AAPLXX(1) ที่ออกโดยผู้ออกหมายเลข XX(1) มีอัตราแปลงสภาพ 340 DR : 1 หุ้นอ้างอิง
หรือ AAPLXX(2) ที่ออกโดยผู้ออกหมายเลข XX(2) มีอัตราแปลงสภาพ 1,000 DR : 1 หุ้นอ้างอิง
📖 อัตราแปลงสภาพ DR คือ อัตราส่วนที่บอกว่าต้องใช้ DR กี่หน่วย เพื่อแลกเป็นสินทรัพย์อ้างอิง 1 หน่วย (เช่นหุ้นต่างประเทศ) โดยผู้ออก DR แต่ละรายจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบอัตราแปลงสภาพของ DR ได้จาก เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ออก
Tips : ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำ "Indicative Price” ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ดูแนวโน้มราคา DR เทียบกับราคาของสินทรัพย์อ้างอิงในรูปแบบของสกุลเงินบาท เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้ลงทุนเปรียบเทียบได้ว่าราคาในตลาดที่กำลังซื้อขาย ณ ขณะนั้น “แพงกว่า” หรือ “ถูกกว่า” มูลค่าที่ควรจะเป็นมากน้อยแค่ไหน โดยที่ผู้ลงทุนไม่ต้องนั่งคำนวณเองให้ยุ่งยาก ช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ว่าควรซื้อหรือขาย DR ในราคาปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งสามารถดูได้ผ่านเว็บไซต์ SET และ SETTRADE
🔔 สำหรับใครที่ต้องการทำความเข้าใจ Indicative Price คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ 👉 https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/520-investhow-indicative-price
📑 สินทรัพย์อ้างอิงเดียวกัน ผู้ออกต่าง ทำไมราคาถึงต่าง
1) อัตราแปลงสภาพ ราคา DR ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนแปลงสภาพ (Conversion Ratio) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกว่าต้องใช้ DR จำนวนกี่หน่วยจึงจะสามารถนำไปแปลงเป็นหุ้นอ้างอิงได้ 1 หุ้น
เช่น อัตราแปลงสภาพ 100:1 หมายความว่า DR ทุกๆ 100 หน่วย จะเทียบเท่ากับหุ้นอ้างอิงได้ 1 หุ้น ดังนั้น DR ที่มีอัตราแปลงสภาพ 100:1 จึงมีสิทธิในหุ้นอ้างอิงมากกว่า DR ที่มีอัตราแปลงสภาพ 1000:1
ความแตกต่างของราคา DR ที่เกิดจากอัตราแปลงสภาพที่ต่างกัน ไม่ได้สะท้อนว่า DR ตัวใด “ดีกว่า” หรือ “แย่กว่า” เพียงแต่อัตราแปลงสภาพที่ต่ำกว่าจะมีราคา DR ต่อหน่วยสูงกว่า
2) อัตราแลกเปลี่ยน ผู้ออกแต่ละรายใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันเล็กน้อยในการคำนวณราคา DR ซึ่งส่งผลให้ราคาของ DR แตกต่างกันได้
3) สภาพคล่อง DR จะมี Market Maker ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง ดังนั้น การพิจารณาแค่ปริมาณการซื้อขายอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ควรพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดูแลสภาพคล่องของผู้ออก DR ให้เคลื่อนไหวตามราคาหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศ และการวาง Bid-Offer ให้นักลงทุนสามารถซื้อและขายราคา DR ได้ในราคาที่เหมาะสม
💰 ผลตอบแทนจากการลงทุนใน DR
✅ กำไรส่วนต่างราคา
กำไรที่ได้จากการลงทุนผ่าน DR จะได้รับการยกเว้นภาษี เสมือนการลงทุนในหุ้นไทย ขณะที่การลงทุนต่างประเทศโดยตรง ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรจากการลงทุนมาคำนวณรวมกับรายได้ในปีภาษีนั้น โดยอัตราการจ่ายภาษีจะขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคล
✅ การรับเงินปันผล
ผู้ถือ DR จะได้รับเงินปันผลในสกุลเงินบาท ผ่านบัญชีธนาคารที่ให้ไว้กับโบรกเกอร์ โดยมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งผู้ออกจะหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในสัญญารับฝาก (ถ้ามี) ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการจ่ายเงินปันผลได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
🔔 สำหรับใครที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DR คลิกอ่านต่อที่นี่ : www.set.or.th/dr
DR มีให้เลือกลงทุนมากมายกว่า 100 ตัว ครอบคลุมบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก ทั้งในอเมริกา จีน ยุโรป และอีกหลายประเทศ
📲ผู้ลงทุนที่มีบัญชีหุ้นไทย สามารถพิมพ์ชื่อย่อ DR ก็เทรดได้เลย! หรือจะเลือกดูรายชื่อ DR ทั้งหมดผ่านแอป Streaming ก็ไปที่เมนู “Watch” กดที่ “Favourite” เลือก “SET” ไปที่ “Stock Type” และเลือก “.DR”
🌍 เพิ่มโอกาสการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย ไปกับ DR (Depositary Receipt) สะดวกง่าย ✅ ซื้อขายด้วยเงินบาท ✅ เพียงมีบัญชีหุ้นไทยเทรดได้เลย !
หากยังไม่มีบัญชีหุ้น เริ่มต้นเปิดบัญชีลงทุนผ่านแอป Streaming ได้ที่:📲 https://portaltest2.settrade.com/C00_BeginnerRedirect.jsp?txtPage=beginnerZone/th/beginner-broker-list.html