Options หรือสิทธิในการซื้อขายเป็นสัญญาทางการเงินที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงในราคาและเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แบ่งออกเป็น Call Options (สิทธิในการซื้อ) ที่ให้ผลตอบแทนเมื่อราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และ Put Options (สิทธิในการขาย) ที่ให้ผลตอบแทนเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง ผู้ซื้อ Options จะต้องจ่ายค่าพรีเมี่ยมเพื่อแลกกับสิทธินี้ และสามารถเลือกใช้สิทธิเมื่อเป็นผลประโยชน์ หรือปล่อยให้หมดอายุเมื่อไม่คุ้มค่า โดยจำกัดความเสียหายสูงสุดไว้ที่ค่าพรีเมี่ยมที่จ่ายไป ในขณะที่ผู้ขายจะเป็นผู้รับค่าพรีเมี่ยมแต่ต้องมีภาระผูกพัน (Obligation) ในการดำเนินการตามที่ผู้ซื้อใช้สิทธิ ทั้งนี้ Options มีองค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่
Strike Price (ราคาใช้สิทธิ) เป็นราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา Options ซึ่งผู้ถือสิทธิสามารถซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงได้ การเลือก Strike Price มีผลโดยตรงต่อต้นทุนและศักยภาพกำไรของการลงทุน Strike Price ที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดปัจจุบัน (At-the-Money) มักจะมีค่าพรีเมี่ยมสูงกว่า แต่ก็มีโอกาสทำกำไรมากกว่า Strike Price ที่ห่างจากราคาตลาด
Expiration Date (วันหมดอายุ) วันหมดอายุเป็นวันสุดท้ายที่สามารถใช้สิทธิได้ Options ที่มีระยะเวลาหมดอายุยาวนานจะมีค่าพรีเมี่ยมสูงกว่าเนื่องจากมีเวลาให้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวในทิศทางที่เอื้อประโยชน์มากขึ้น การคำนวณ Time Decay จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน Options
ค่าพรีเมียม คือ ราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่ายเพื่อซื้อ Options โดยประกอบด้วย Intrinsic Value (มูลค่าแท้) และ Time Value (มูลค่าทางเวลา) ค่าพรีเมี่ยมจะเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ความผันผวน ระยะเวลาหมดอายุ และอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ Options ยังแบ่งตามลักษณะการใช้สิทธิได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
American Options เป็นสัญญาออปชั่นที่ให้สิทธิผู้ถือในการใช้สิทธิได้ตลอดระยะเวลาของสัญญา ตั้งแต่วันที่ซื้อจนถึงวันหมดอายุ ความยืดหยุ่นนี้ทำให้นักลงทุนสามารถใช้สิทธิทันทีเมื่อราคาเคลื่อนไหวในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ หรือเมื่อต้องการรับเงินปันผลก่อนวัน ex-dividend นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินจากผลกำไรไปลงทุนในโอกาสอื่นได้ทันที อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นเพิ่มเติมนี้มาพร้อมกับค่าพรีเมี่ยมที่มักสูงกว่า และในหลายกรณีการถือออปชั่นจนหมดอายุอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการใช้สิทธิก่อนกำหนด
European Options มีข้อจำกัดที่สำคัญคือสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะในวันหมดอายุเท่านั้น แม้ราคาสินทรัพย์อ้างอิงจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ในช่วงก่อนหน้า ผู้ถือก็ไม่สามารถใช้สิทธิก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ทำให้ค่าพรีเมียมของ European Options มักต่ำกว่า American Options และยังคงสามารถขายออปชั่นในตลาดก่อนหมดอายุเพื่อรับผลกำไรได้ การคำนวณมูลค่าของ European Options มักใช้แบบจำลอง Black-Scholes ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล และมีระบบการซื้อขายที่โปร่งใสพร้อมผู้ดูแลสภาพคล่อง
ในตลาดสหรัฐอเมริกา หุ้นส่วนใหญ่ใช้ระบบ American Options ที่ให้ความยืดหยุ่นในการใช้สิทธิ เช่น หากนักลงทุนซื้อ Call Option ของ Apple ในเดือนมีนาคมที่ Strike Price 100 ดอลล่าร์ และหุ้น Apple ขึ้นเป็น 150 ดอลล่าร์ ในเดือนมิถุนายน นักลงทุนสามารถใช้สิทธิทันทีเพื่อซื้อหุ้นและขายหุ้นเพื่อรับกำไร 50 ดอลล่าร์ต่อหุ้น (ยังไม่รวมค่าพรีเมี่ยมกับค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ) หรือจะขาย Call Option เพื่อรับกำไรจากส่วนต่างราคาของค่าพรีเมี่ยมก็ได้เช่นกัน
ในขณะที่ประเทศไทย SET50 Index Options เป็นแบบ European Options ที่จำกัดการใช้สิทธิไว้เฉพาะวันหมดอายุเท่านั้น หากซื้อ Call Option ของ SET50 Index และดัชนีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงกลาง จะไม่สามารถใช้สิทธิก่อนหมดอายุได้ แต่สามารถขายออปชั่นในตลาดเพื่อรับกำไรจากการเพิ่มขึ้นของค่าพรีเมี่ยมได้
การลงทุนใน Options ให้ประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทำกำไรในทุกสภาวะตลาด การใช้เงินลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง การจำกัดความเสี่ยงที่ชัดเจน การป้องกันความเสี่ยงขาลงของพอร์ตการลงทุน และการสร้างรายได้จากค่าเสื่อมของเวลา
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่สำคัญคือการสูญเสียค่าพรีเมียมทั้งหมดหากออปชั่นหมดอายุโดยไม่มีมูลค่า ความซับซ้อนของกลยุทธ์ที่ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ และผลกระทบจากความผันผวนของตลาดที่อาจทำให้มูลค่าออปชั่นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมก่อนลงทุน
เรียนรู้การใช้ Options ในแต่ละสภาวะตลาด ทั้งในตลาดที่มีแนวโน้ม, ตลาด Sideway หรือตลาดผันผวน เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้และนำไปประกอบการตัดสินใจในการเทรด Options ผ่าน SET e-Learning ฟรี! กับหลักสูตร “กลยุทธ์เทรด Options”