นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน นักลงทุนกังวลว่าตลาดหุ้นจะปรับลดลงอีกครั้งและตั้งคำถามว่าจะปรับลดลงอีกนานแค่ไหน ซึ่งถ้าเอ่ยถึงตลาดที่เป็นช่วงขาลงต้องนึกถึงคำว่า “การปรับฐานของตลาด” (Market Correction) กับ “ภาวะตลาดหมี” (Bear Market) คำถามที่ตามมา คือ ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร
ประโยชน์ของการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการปรับฐานของตลาดและภาวะตลาดหมี จะช่วยให้นักลงทุนประเมินแนวโน้มตลาดได้ดีขึ้นและคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาดและราคาหุ้นในอนาคตได้ เพื่อตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากความสามารถในการรับความเสี่ยงและสไตล์การลงทุนของตัวเอง
การปรับฐานของตลาดและภาวะตลาดหมี เป็นคำที่ใช้อธิบายสถานการณ์ตลาดหุ้นในช่วงเวลาปรับลดลง ซึ่งก็ไม่น่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ในทางเทคนิคแล้วไม่เหมือนกัน (จากตารางด้านบน) ถ้าเป็นการปรับฐานโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดหุ้นปรับลดลงประมาณ 10% จากจุดสูงสุดล่าสุด และเกิดนานแค่ไหนก็ได้ ในขณะที่ภาวะตลาดหมีเกิดขึ้นเมื่อตลาดปรับลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดล่าสุด อย่างน้อยเป็นเวลาสองเดือน
จากข้อมูลเชิงเทคนิค มีคำถามตามมาว่าเมื่อตลาดหุ้นมีการปรับฐานอาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะตลาดหมี คำตอบคือ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งกรณีที่ตลาดดีดกลับขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว หรือตลาดปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นตลาดหมี อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1974 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ที่เชื้อไวรัส COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด พบว่ามีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่เมื่อตลาดปรับฐานแล้วลุกลามกลายเป็นตลาดหมี
จากกราฟแสดงสถิติด้านบน เมื่อตลาดปรับฐานก็จะดีดกลับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าแนวโน้มตลาดจะปรับขึ้นหรือลุกลามเข้าสู่ภาวะตลาดหมี ดังนั้น วิธีที่นักลงทุนวางกลยุทธ์ในช่วงตลาดเป็นขาลงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับความเสี่ยง ระยะเวลาการลงทุน สถานะทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนสามารถวางแผนได้ว่าจะปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนอย่างไรเมื่ออยู่ในช่วงตลาดปรับฐานหรือตลาดหมี
เช่น นักลงทุนอายุน้อย ยอมรับความเสี่ยงได้สูง มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว อาจหาจังหวะลงทุนเพิ่มในช่วงตลาดปรับลดลง ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำหรือกำลังจะเกษียณ อาจขายสินทรัพย์ทางการเงินบางส่วนเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ด้วยการขายหุ้นที่มีราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เพราะหากตลาดปรับลดลง หุ้นที่มีราคาแพง ๆ จะมีโอกาสปรับลดลงค่อนข้างแรง หรือหากประเมินว่าตลาดมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่องและกินเวลานานก็อาจตัดสินใจขายหุ้นออกทั้งหมดเพื่อรักษาต้นทุนและกำไร
นอกจากนี้ สามารถใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Portfolio Hedge เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ซึ่งนักลงทุนไทยนิยมใช้กลยุทธ์นี้ในตลาดอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น SET50 Futures, Single Stock Futures หรือการลงทุนผ่าน ETFs ซึ่งจะชดเชยการขาดทุนหรืออาจทำให้พอร์ตลงทุนไม่ขาดทุนก็ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนมีโอกาสเจอภาวะตลาดเป็นขาขึ้นและขาลงเป็นระยะ ๆ ตลอดช่วงระยะเวลาของการลงทุน แต่หากลงทุนอย่างมีเป้าหมาย มีวินัย และลงทุนระยะยาวย่อมมีโอกาสได้ผลกำไรที่น่าประทับใจ เพราะจากสถิติดัชนีหุ้น S&P 500 ตั้งแต่ปี 1966 ถึงสิ้นปี 2021 โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดภาวะตลาดหมีประมาณ 15 เดือน (446 วัน) ซึ่งสั้นกว่าการเกิดภาวะตลาดกระทิง (Bull Market) ที่เฉลี่ยประมาณ 70 เดือน (2,069 วัน) ที่สำคัญผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงภาวะตลาดกระทิงราว 209.2% ต่อปี ขณะที่ในช่วงภาวะตลาดหมีให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 38.4% ต่อปี โดยตลาดหมีมักจบลงอย่างกะทันหันและดีดตัวขึ้นเป็นตลาดกระทิงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลที่นักลงทุนระยะยาวจะไม่ขายหุ้นออกจากตลาด และมีโอกาสลงทุนเพิ่มในช่วงตลาดหมีด้วย
การตัดสินใจเข้าหรือออกจากตลาดหุ้นในช่วงตลาดปรับฐานหรือภาวะตลาดหมี ควรตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของคำว่า ปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ อย่าปล่อยให้อารมณ์และความกลัวเข้าครอบงำความคิด เป็นไปได้ว่านักลงทุนอาจซื้อหุ้นบางกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มที่ดี แทนที่จะคิดแต่หาวิธีเอาตัวรอดจากตลาดหุ้นในช่วงที่ตลาดซบเซา ใครจะรู้การตัดสินใจดังกล่าวอาจเป็น “จุดพักรบ” หรือ “จุดเริ่มต้น” ในการทำกำไรก็เป็นได้ เพียงแค่ต้องหาให้เจอ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้ธรรมชาติของตลาดหุ้น ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง เพื่อสามารถคาดการณ์สภาวะตลาดและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Market & Factors” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่