ทุกวันนี้มีกลยุทธ์การลงทุนมากมายที่นักลงทุนสามารถเรียนรู้และนำมาใช้ในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกลยุทธ์และรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย แต่ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ คาดหวังผลตอบแทนที่ดี
พอมาถึงยุคหนึ่ง นักลงทุนเริ่มรู้สึกว่า... ไม่ได้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเห็นบริษัทที่ตัวเองลงทุน มีการดำเนินธุรกิจที่ดี เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีความโปร่งใส ผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา แนวทางในการคัดเลือกหุ้นจึงเปลี่ยนไป นอกจากจะพิจารณาผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังพิจารณาว่าบริษัทนั้นมี “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (Corporate Governance : CG) หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนระยะยาวด้วย
และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง นักลงทุนกลับรู้สึกว่าแม้บริษัทจะมีทั้งการเติบโตทางธุรกิจที่ดี มี CG สูง ก็ยังไม่เพียงพอต่อความน่าสนใจให้เข้าลงทุน บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ดังนั้น จึงมองหาบริษัทที่มี “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility : CSR) มาประกอบการตัดสินใจลงทุน
โดยนอกจากนักลงทุนจะมุ่งหวังผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังให้ความสนใจกับเม็ดเงินที่ตัวเองลงทุนไปว่า... ผู้บริหารสามารถนำเงินไปบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงใด ก่อให้เกิดประโยชน์ในทุกๆ ด้านหรือไม่ และยังคำนึงถึงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
หมายความว่า... นอกจากนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางการเงิน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากตัวเลขทางการเงิน เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) เพื่อหาบริษัทที่มีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท
โดยนักลงทุนต้องพิจารณาดูว่าบริษัทนั้นมีการดำเนินการด้าน ESG อย่างไร เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อะไรบ้างที่ดำเนินการแล้วบริษัทได้ประโยชน์ รวมถึงมีความเสี่ยงใดบ้าง เช่น ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และมีการจัดการอย่างไร
CSR เป็นเรื่องของการดำเนินงานของบริษัทที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่เฉพาะนักลงทุน ขณะที่ ESG เป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลจากการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจะคำนึงถึงนักลงทุนเป็นหลัก เพื่อให้นักลงทุนใช้ในการประเมินการดำเนินงานของบริษัท ไปจนถึงผลประกอบการในอนาคต
แน่นอนว่า... ESG เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น บริษัทที่เน้นความยั่งยืนทางธุรกิจ จะซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์ที่ไม่จ้างแรงงานเด็ก แรงงานเถื่อน ยกระดับคุณภาพการบริหารงานด้านความปลอดภัยทั้งในองค์กรตนเองและคู่ค้า มีการดูแลพนักงานที่ดี มีการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ มีนโยบายซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดการใช้พลังงาน เพิ่มการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
แนวคิดแบบนี้เรียกว่า “การสร้างคุณค่าร่วม” หรือ Creating Shared Value : CSV โดยบริษัทต้องสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เพื่อความสำเร็จในระยะยาว เน้นการสร้างประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นและสังคมให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน
จากนี้ไป ก่อนนักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในหุ้น นอกจากต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคแล้ว ก็ต้องดูด้วยว่าบริษัทนั้นมีกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนด้านการดำเนินธุรกิจในระยะยาวมากน้อยเพียงใด ซึ่งการมองการลงทุนในมิติแบบนี้เรียกว่า “Sustainable Investment” คือ นักลงทุนต้องการความยั่งยืนด้านการลงทุน
การเลือกลงทุนหุ้นยั่งยืน นอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน สร้างมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจเพื่อโลกที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่อง ESG เพิ่มเติม และบรรษัทภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนมากขึ้น >> คลิกที่นี่