ปัจจุบันเวลาจะวิเคราะห์บริษัทเพื่อลงทุน ข้อมูลด้าน ESG หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลายคนมักเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพว่าด้วยเรื่องการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจว่าผลการดำเนินงานด้าน ESG นั้นสะท้อนอยู่ในตัวเลขในงบการเงินได้เช่นกัน เพื่อให้นักลงทุนนำไปใช้พิจารณาในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
นักลงทุนควรต้องทำความรู้จักกับบริษัทที่เรากำลังจะลงทุนให้ดีเสียก่อน สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเป็นลำดับแรกคือโมเดลธุรกิจ บริษัททำอะไร รายได้มาจากไหน ลูกค้าเป็นใคร ส่วนแบ่งตลาดและความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างไร ไปจนถึงว่าสถานะทางการเงินเข้มแข็งแค่ไหน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นการพิจารณาข้อมูลด้าน ESG ด้วยเช่นกัน เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันคำนึงถึงผลกระทบจากการทำธุรกิจต่อ ESG อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ต่างกันย่อมโฟกัสในเรื่อง ESG ในประเด็นที่ต่างกันตามลักษณะการดำเนินงาน ซึ่งย่อมส่งผลต่อตัวเลขทางการเงินที่แตกต่างกันไปด้วย การทำความเข้าใจ ESG จึงจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ ไปพร้อมกับผลสุดท้ายปลายทางในงบการเงินได้ชัดเจนมากขึ้น
ESG ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ระยะสั้น แต่กำลังกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สะท้อนอย่างชัดเจนในผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท ไม่ว่าจะในรูปแบบอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและบรรทัดต่าง ๆ ในงบการเงินที่นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและให้ความสำคัญ เช่น รายได้จากการขายและบริการ ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุน เป็นต้น หากบริษัทไม่มีการจัดการเรื่อง ESG อาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝงที่สูงกว่าคู่แข่ง หรือค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ค่าปรับ ค่าเสียหายจากการฟ้องร้องของลูกค้า ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ล้วนสะท้อนผ่านตัวเลขงบการเงินในรูปของค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม หากธุรกิจบริหารจัดการเรื่อง ESG ได้ดี ก็อาจช่วยลดต้นทุนการผลิต (เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ฯลฯ) และมีโอกาสเพิ่มรายได้จากสินค้ารักษ์โลกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG กับตัวเลขในงบการเงินนั้น แตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจ นักลงทุนจึงควรเข้าใจก่อนว่าประเด็นด้าน ESG ในเรื่องใดที่ถือว่าสำคัญต่อตัวบริษัท และบริษัทมีวิธีบริหารจัดการประเด็นเหล่านั้นอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วผลการดำเนินงาน ESG ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทอย่างไร
ธุรกิจอาหารต้องคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก สินค้าที่ส่งถึงมือของผู้บริโภคต้องมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและคำนึงถึงโภชนาการอย่างเหมาะสม
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟููดส จำกัด (มหาชน) (TFMAMA) สรรหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น พร้อมพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น
ตัวเลขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ธุรกิจจึงต้องปรับการบริการให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) (PR9) ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทุกวัย
ตัวเลขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท
อุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวตามทิศทางเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมาย Net Zero ของประเทศและของโลก
บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (SJWD) นำนวัตกรรม Smart Warehouse มาจัดการระบบคลังสินค้า โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ในการจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าอัตโนมัติ อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าเป็นรถไฟฟ้าเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตัวเลขทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท
นอกจากตัวอย่างข้างต้น สำหรับธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่อง ESG อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายพิเศษบางรายการที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท เช่น ค่าฟ้องร้องจากชุมชน หากบริษัทปล่อยมลพิษทางอากาศและน้ำเสียที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนโดยรอบ หรือลูกค้าอาจเรียกค่าเสียหายกรณีที่สินค้าหรือบริการของบริษัทไม่ได้มาตรฐานและก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าถูกแบนและบริษัทสูญเสียชื่อเสียงและรายได้อีกด้วย
ในการพิจารณาการลงทุน งบการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องศึกษา ซึ่งทุกวันนี้งบการเงินของบริษัทจะยิ่งสะท้อนภาพผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทไปด้วย นักลงทุนจึงจำเป็นต้องเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่าง ESG และตัวเลขในงบการเงิน เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงและโอกาสของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนได้อย่างรอบด้าน นำไปสู่การตัดสินใจลงทุนอย่างมืออาชีพ