“You can’t predict, You can prepare” การลงทุน ไม่ใช่เรื่องของการคาดเดาอนาคต แต่คือการเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน คำกล่าวข้างต้นเป็น Quotes ของ Howard Marks นักลงทุนระดับตำนานผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Oaktree Capital Management ซึ่งสะท้อนหลักคิดการลงทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก และนโยบายการค้าที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว
Howard Marks บอกกับนักลงทุนว่า แทนที่เราจะไปโฟกัส ในการพยายามที่จะคาดเดาตลาดหุ้น ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป การทำความเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ ความผันผวน และจิตวิทยาตลาด หรือการศึกษาเหตุการณ์ในอดีต เราควรเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ “อาจจะเกิดขึ้น” ดีกว่าการคาดเดา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2025 ได้สร้างความผันผวน ความไม่แน่นอน ต่อระบบเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทิศทางนโยบายที่มีลักษณะ "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) ซึ่งครอบคลุมทั้งการค้า การเงิน การคลัง และภูมิรัฐศาสตร์
หนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นมากที่สุด คือการฟื้นฟูนโยบาย กีดกันทางการค้า (Protectionism) เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน ยุโรป และแม้กระทั่งพันธมิตรในอเมริกาเหนือ อย่างเช่น แคนนาดา และเม็กซิโก ซึ่งส่งผลให้ความตึงเครียดทางการค้าและความไม่แน่นอนในห่วงโซ่อุปทานโลก (Supply Chain) อีกครั้ง
ภาษีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ปรับขึ้นสำหรับคู่ค้าทั่วโลก (ถึงแม้ว่าจะเลื่อนการเก็บภาษี Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน) อยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1930 ดังในรูปนี้
รูปจาก J.P Morgan Asset Management
ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของสหรัฐฯ ยังทำให้ตลาดการเงินเกิดอาการ “Risk-Off” คือ นักลงทุนลดความเสี่ยงโดยการถอนเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และเปลี่ยนมาถือเงินสด พันธบัตรรัฐบาล หรือทองคำมากขึ้น ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงเหวี่ยงต่อความผันผวนในตลาดการลงทุนทั่วโลก
นักลงทุนจะเห็นว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ปรับตัวลง ให้ผลตอบแทนติดลบ ถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการค้าน้อย และการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำ เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกก็มีความผันผวนอย่างมาก หรือแม้กระทั่งตลาดพันธบัตร ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ และปลอดภัย ก็จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เช่นเดียวกัน
ทำให้การกระจายความเสี่ยง เริ่มเข้ามามีบทบาทในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พอร์ตของนักลงทุน จะมีสินทรัพย์เดียวคือหุ้น แต่การมาของทรัมป์ในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การมีสินทรัพย์เดียวในพอร์ต จะทำให้พอร์ตขาดทุนหนัก มากกว่าการมีหลากหลายสินทรัพย์
การกระจายความเสี่ยง ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่การถือสินทรัพย์หลายประเภทเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัย “ความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์” ด้วย ในสถานการณ์ที่นโยบายการค้าของมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ อาจกระทบสินทรัพย์บางกลุ่มอย่างรุนแรง นักลงทุนจึงควรปรับการลงทุนดังนี้
Howard Marks เคยกล่าวไว้ว่า “You should have a large number of uncorrelated bets” ซึ่งคือหัวใจของการกระจายความเสี่ยงอย่างแท้จริง
แนะนำการจัดพอร์ตที่ใช้สินทรัพย์หลัก (Core Portfolio) ที่มีเสถียรภาพ ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และ Drawdown ไม่ลึก เช่น กองทุน Multi-Asset อย่างเช่น กองทุน K-Wealthplus หรือ กองทุนรวมดัชนีหุ้นโลก (Index Fund) ควบคู่กับ Satellite ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น หุ้นกลุ่มนวัตกรรม หุ้นตลาดเกิดใหม่ หรือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง “ความมั่นคง” และ “โอกาส”
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ Core-Satellite ในช่วงความผันผวนสูง โดยให้ใช้กองทุนหลากหลายสินทรัพย์เป็น Core Portfolio และสามารถเพิ่มตราสารหนี้ไทย ซึ่งมีความผันผวนต่ำ ในทั้ง Core และ Satellite Port ในช่วงนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง
โลกการลงทุนในปี 2025 กลับเข้าสู่ยุค “ความไม่แน่นอนที่คาดการณ์ได้ยาก” อีกครั้ง จากผลของนโยบายเศรษฐกิจระดับโลกที่เปลี่ยนทิศทางฉับพลัน โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวของเงินทุนโลก
ถึงแม้ว่า “ผลตอบแทนสูงๆ หลายๆ เด้ง พอร์ตโตเป็น 100%” จะเป็นสิ่งที่ทุกคนมองหา แต่ในระยะยาวแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของพอร์ตและการฟื้นตัวได้หลังเผชิญแรงกระแทก
“การกระจายความเสี่ยง” จึงไม่ใช่เพียงคำแนะนำเชิงทฤษฎีอีกต่อไป แต่เป็น “ยุทธศาสตร์หลัก” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการอยู่รอด และเติบโตในระยะยาวท่ามกลางคลื่นเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทางอย่างในปัจจุบัน
นักลงทุนจึงควรรีวิวพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ ปรับน้ำหนักลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และใช้แนวทางการจัดพอร์ตแบบยืดหยุ่นและหลากหลาย เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และไม่แน่นอนเช่นในยุคทรัมป์ 2.0 เช่นนี้
สำหรับผู้ที่สนใจ หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมสามารถ รับชมเสวนา หัวข้อ "กระจายความเสี่ยง สร้างผลตอบแทน : ด้วย Asset Allocation" เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 68 ได้ที่นี่