USD Futures คือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) และเงินบาทไทย (THB) ที่ซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)
เป็นสัญญามาตรฐานที่กำหนดปริมาณการซื้อขายชัดเจน (Contract Size) โดยมีขนาดสัญญาละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 บาท
โดยมีการกำหนดวันครบกำหนดอายุสัญญา (Expiry Date) อย่างชัดเจน และใช้ระบบวางหลักประกัน (Margin) แทนการจ่ายเต็มมูลค่า ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนอย่างมาก โดยได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีก่อนหน้านี้ ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกกระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ประเด็นสงครามการค้าล่าสุดเมื่อต้นปี 2568 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศสามารถส่งผลกระทบต่อค่าเงินอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีคำถามหนาหูมากขึ้นว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นสกุลเงินหลักของโลกต่อไปได้หรือไม่ จากการที่นักลงทุนเริ่มเสียความเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศไทย ทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ผลกระทบจากสงครามการค้า และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็ได้ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ความผันผวนเหล่านี้ทำให้ธุรกิจและนักลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินต่างประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
USD Futures เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้
บริษัทส่งออกไทยที่คาดว่าจะได้รับชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่กังวลว่าเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทสามารถขาย USD Futures จำนวน 100 สัญญา (เท่ากับ 100,000 ดอลลาร์) ที่ราคา 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อล็อกอัตราแลกเปลี่ยนไว้ หากในวันที่ได้รับชำระเงิน อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (ดอลลาร์อ่อนค่าลง/บาทแข็งค่าขึ้น) บริษัทจะได้รับกำไรจาก USD Futures 50,000 บาท (0.50 บาท × 100,000 ดอลลาร์) ซึ่งชดเชยการขาดทุนจากการแปลงค่าเงินในตลาดสปอต
นอกจากการป้องกันความเสี่ยงแล้ว นักเก็งกำไรยังสามารถใช้ USD Futures ในการแสวงหากำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยได้รับประโยชน์จากการใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อขายในตลาดสปอต (Spot Market) เนื่องจากระบบมาร์จิ้นที่ใช้หลักประกันเพียงบางส่วนของมูลค่าสัญญา
นักเก็งกำไรที่วิเคราะห์ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในภูมิภาคเอเชีย สามารถซื้อ USD Futures โดยวางหลักประกันเพียงประมาณ 3 - 5% ของมูลค่าสัญญา
สมมติว่า นักลงทุนซื้อ USD Futures 10 สัญญา (10,000 ดอลลาร์) ที่ราคา 34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยวางหลักประกันเพียงประมาณ 10,000 บาท (ประมาณ 3% ของมูลค่า) หากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็น 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จะได้กำไร 5,000 บาท (0.50 บาท × 10,000 ดอลลาร์) คิดเป็นผลตอบแทนถึง 50% ของเงินลงทุน ซึ่งสูงกว่าการซื้อขายในตลาดสปอตที่ต้องใช้เงินลงทุนเต็มจำนวน ถือเป็นประโยชน์ของการใช้ Leverage หรือการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน USD Futures
อย่างไรก็ดี หากนักเก็งกำไรคาดการณ์ผิดทาง จำเป็นต้องรีบตัดขาดทุน (Stop Loss) อย่างมีวินัย มิฉะนั้นก็อาจพบกับผลขาดทุนจำนวนมากได้เช่นกัน
สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐอเมริกา หรือตราสารแสดงสิทธิหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt: DR) ของบริษัทอเมริกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย USD Futures นับเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย เช่น แม้ราคาหุ้นสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผลตอบแทนเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทอาจลดลงหรือขาดทุนก็เป็นได้ การใช้ USD Futures ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงช่วยให้นักลงทุนสามารถมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของค่าเงิน
USD Futures ในตลาด TFEX เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและการแสวงหาโอกาสในการเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการใช้ตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ ทั้งความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาที่อาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และความเสี่ยงจากการใช้เงินลงทุนน้อยแต่มีโอกาสขาดทุนเกินเงินต้น รวมถึงพิจารณาสภาพคล่องของสัญญาและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจเรื่อง Options สามารถเรียนรู้แนวทางการเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสภาวะตลาด เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้และนำไปประกอบการตัดสินใจในการเทรด Options ผ่าน e-Learning หลักสูตร “กลยุทธ์เทรด Options” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่