ตลาดตกใจ ทำอย่างไรให้กล้าลงทุน พร้อมคว้าโอกาสที่ซ่อนอยู่

โดย พงษ์ธร ถาวรธนากุล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lief Capital Asset Management
4 Min Read
2 พฤษภาคม 2568
156 views
TSI-Article-683-Inv-market-shock-invest-seize-opportunities-Thumbnail
Highlights
  • นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง แม้จะมีการชะลอการขึ้นภาษี แต่บรรยากาศการลงทุนยังคงมีความไม่แน่นอน สะท้อนจากความผันผวนของดัชนี MSCI World Index ที่ปรับลดลงบ่อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

  • แม้เผชิญความผันผวนและวิกฤตเป็นระยะ ข้อมูลในอดีตบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นยังคงสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่แข็งแกร่ง การลงทุนระยะยาวจึงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในช่วงตลาดปรับตัวลง

  • เงินสดมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมค่าจากเงินเฟ้อมากกว่าการลงทุนในหุ้นระยะยาว ข้อมูลเปรียบเทียบผลตอบแทนระยะสั้นและยาวบ่งชี้ว่าหุ้นมีโอกาสชนะเงินเฟ้อได้มากกว่าเงินสดอย่างมีนัยสำคัญ

  • การตัดสินใจขายหุ้นตามอารมณ์ในช่วงตลาดผันผวนอาจพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สถิติเปรียบเทียบผลตอบแทนของการลงทุนระยะยาวกับการพยายามจับจังหวะตลาดด้วยความผันผวนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างมีเหตุผลและมองในระยะยาว

หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ว่าเป็น “วันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของอเมริกา” พร้อมประกาศใช้นโยบาย “ภาษีแบบตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสงครามการค้า ผลที่ตามมา คือ ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอีก 8 วันถัดมา (9 เมษายน) ทรัมป์จะประกาศชะลอการขึ้นภาษีตอบโต 90 วัน ทำให้ดัชนีหุ้นปรับขึ้น แต่หากพูดถึงบรรยากาศการลงทุนยังคงทำให้นักลงทุนรู้สึกใจหาย เมื่อเห็นดัชนีหุ้นผันผวนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี MSCI World Index ดัชนีที่วัดจากหุ้นขนาดกลางและใหญ่ของ 23 ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้ประเมินสภาพหุ้นโดยรวมทั่วโลก ก็เผชิญกับแรงขายอย่างหนักในปีนี้

ข้อมูลจากบริษัทบริหารจัดการลงทุน Schroders

ชี้ว่า ในรอบ 53 ปีที่ผ่านมา (2515 – 2567) มีช่วงปีที่ ดัชนี MSCI World Index ปรับลดลง 10% ถึง 30 ปี และปรับลดลงมากกว่า 20% ถึง 13 ปี และเป็นน่าสังเกตว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ สี่ปี และหากเกิดขึ้นในปีนี้ หมายความว่าจะเป็นการปรับลดลงมากกว่า 20% มากถึง 4 ครั้งในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ถือว่าบ่อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ

TSI-AR~3

ที่มา: Schroders

โดยเห็นได้ชัดว่าดัชนี MSCI World Index มีช่วงเวลาที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ Global Financial Crisis วิกฤติโควิด-19 ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือล่าสุดเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมาในประเด็นของนโยบายการขึ้นกำแพงภาษี Tariff ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม หากมองในระยะยาว ตลาดหุ้นยังคงสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้อย่างแข็งแกร่ง แม้จะต้องเผชิญกับความผันผวนและแรงกดดันในระยะสั้นก็ตาม โดยพบว่าตลอด 55 ปีที่ผ่านมา (ปี 2513 – 2567) ดัชนี MSCI World Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.1% ต่อปี, 40 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.6%, ต่อปี 20 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.1% ต่อปี, 10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.8% ต่อปี

 

จากสถิติดังกล่าว สะท้อนว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพในการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับลดลงและมีปัจจัยลบเต็มตลาด นักลงทุนควรตั้งสติ ใช้ข้อมูลและเหตุผลในการตัดสินใจ มากกว่าปล่อยให้อารมณ์ชั่ววูบเป็นตัวตัดสินใจลงทุน เพราะวิกฤติต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ก็ถือเป็นช่วงที่เปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ที่เข้าใจความเสี่ยงและพร้อมลงทุนอยู่เสมอ

เงินสด ≠ ปลอดภัยเสมอไป

หลายคนมองว่าเงินสด คือ ที่พักเงินที่ปลอดภัยที่สุด แต่ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ Schroders ชี้ว่าเงินสดมีความเสี่ยงเสื่อมค่าจากเงินเฟ้อมากกว่าการลงทุนหุ้นในระยะยาว โดยจากกราฟด้านล่างซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หุ้นสหรัฐอเมริกาเอาชนะเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเงินสด ระหว่างปี 2469 – 2567 พบว่า

  • ลงทุนระยะสั้น (1 เดือน) หุ้นและเงินสดมีโอกาสชนะเงินเฟ้อใกล้เคียงกันที่ 60%
  • ลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไป หุ้นมีโอกาสชนะเงินเฟ้อ 78% ขณะที่เงินสดมีโอกาสชนะเงินเฟ้อน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงของการอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
TSI-AR~1

ที่มา: Schroders

ตัวอย่าง

  • หากลงทุนในดัชนี MSCI World Index 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2567) เงิน 10,000 ดอลล่าร์ จะกลายเป็น 20,700 ดอลล่าร์ (เติบโต 107%) ขณะที่เงินสดจะเพิ่มเป็นเพียง 11,400 ดอลล่าร์ (เติบโต 14%)

  • นอกจากนี้ สมมติเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปี หากถือเงินสด 100,000 ดอลล่าร์ ผ่านไป 5 ปีจะมีมูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือประมาณ 86,000 ดอลล่าร์สะท้อนว่า การถือเงินสดระยะยาวอาจไม่ปลอดภัยในเชิงมูลค่าที่แท้จริง (กำลังซื้อที่ลดลง จากราคาสินค้า บริการที่แพงขึ้น)

 

ดังนั้น เงินสดเหมาะกับการใช้เป็นสภาพคล่องในชีวิตประจำวันและเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน แต่หากต้องการเพิ่มมูลค่าเงินในระยะยาว ควรพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตเหนือเงินเฟ้อ เช่น หุ้น หรือสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง

อารมณ์ คือ ศัตรูร้าย

ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ข่าวร้ายถาโถม และดัชนีความผันผวน (VIX Index) ปรับขึ้นสูง นักลงทุนอาจตัดสินใจขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง เพราะกลัวขาดทุนมากขึ้น แต่ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ Schroders ชี้ให้เห็นว่า การปล่อยให้อารมณ์นำทางการลงทุน เป็นความผิดมหันต์ อาจทำให้พลาดโอกาสสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

 

จากการศึกษากลยุทธ์ขายหุ้นเมื่อดัชนีความผันผวนสูงกว่าระดับ 33 จุด (นักลงทุนกังวลมาก) แล้วเปลี่ยนไปถือเงินสด จากนั้นกลับมาซื้อหุ้นเมื่อ ดัชนีความผันผวนต่ำกว่าระดับ 33 จุด (นักลงทุนคลายกังวล) ผลปรากฏว่าหากลงทุน 100 ดอลลาร์ใน S&P 500 ตั้งแต่ปี 2533 จากนั้นก็ถือเฉยๆ มาจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2568 เงินลงทุนเติบโตเป็น 2,895 ดอลลาร์ หรือได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.7% ต่อปี แต่หากเปลี่ยนไปถือเงินสดทุกครั้งที่ดัชนีความผันผวนปรับขึ้นสูง ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 1,172 ดอลลาร์ หรือได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.0% ต่อปี

 

สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการลงทุนระยะยาว แม้จะต้องเจอวิกฤติหรือความผันผวน ก็ยังให้ผลตอบแทนเหนือกว่าการพยายามจับจังหวะตลาดด้วยอารมณ์ พูดง่าย ๆ การตื่นตระหนกในช่วงตลาดผันผวน อาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งระยะยาว (ตัวเลขผลตอบแทนต่อปีอาจไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าทบต้นหลายปีด้วยอัตราดังกล่าว มูลค่าเงินปลายทางจะแตกต่างกันมากเลยทีเดียว)

TSI-AR~2

ที่มา: Schroders

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ ควรรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดยสามารถใช้แบบประเมินความเสี่ยงด้วยการทำแบบประเมินเพื่อช่วยให้เข้าใจระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเอง และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและความสามารถในการรับความผันผวน



เนื้อหานี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน?

หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เงินสด ในระยะยาว ใครชนะ

หากพิจารณาแผนภูมิด้านล่างที่แสดงผลตอบแทนที่เหนือกว่าเงินเฟ้อของสินทรัพย์หลัก 4 ประเภทในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2469 – 2567 พบว่าในระยะยาว หุ้นให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าเงินเฟ้อ และให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาลและเงินสด

TSI-AR~1

ที่มา: Schroders

  • หุ้นชนะเสมอในระยะยาว
    ในทุกช่วงเวลา หุ้นให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าเงินเฟ้อ โดยในช่วง 10 ปีล่าสุดที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 10.1%

  • ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าหุ้น แต่มากกว่าเงินสด
    ในระยะยาวตั้งแต่ปี 2469 เป็นต้นมา ทั้งหุ้นกู้พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินเฟ้อ แต่น้อยกว่าหุ้น

  • ตราสารหนี้มีผลตอบแทนติดลบในช่วง 10 ปีล่าสุด
    ทั้งหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลมีผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีล่าสุด ซึ่งอาจสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินเฟ้อสูงขึ้น

  • เงินสดแพ้เงินเฟ้อในระยะสั้นถึงกลาง
    เงินสดมีผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีและ 20 ปีล่าสุด และให้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในระยะยาว คือ 0.6% ในช่วง 50 ปี และ 0.3% นับตั้งแต่ปี 2469

 

ข้อมูลดังกล่าว สนับสนุนแนวคิดหลักที่ว่าการลงทุนในหุ้นเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และการถือเงินสดมักให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อในหลายช่วงเวลา ทำให้อำนาจในการซื้อลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงแนะนำให้นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกกับความผันผวนในระยะสั้นและควรมองการลงทุนในมุมมองระยะยาว

เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation ได้ฟรี!

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน