5 เคล็ดลับวิเคราะห์หุ้น หาของดี ราคาถูก

โดย ภัทรธร ช่อวิชิต CISA นักลงทุนเน้นคุณค่า
3 Min Read
25 มีนาคม 2568
1.345k views
TSI-Article-674-Inv-5-tips-stock-selection-analysis-Thumbnail
Highlights
  • เลือกหุ้น P/BV ต่ำที่มีคุณภาพ - หุ้นที่มีอัตราส่วน P/BV ต่ำ หากมี ROE สูงและสม่ำเสมอ แสดงถึงศักยภาพการทำกำไรและสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้น

  • ตรวจสอบสถานะการเงินและสินทรัพย์ - วิเคราะห์ภาระหนี้สิน ความสามารถในการจ่ายคืน และคุณภาพของสินทรัพย์ผ่าน ROA เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

  • เติบโตอย่างยั่งยืนและบริหารต้นทุนได้ดี - เลือกบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรม และสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี โดยมีอัตรากำไรที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

การซื้อหุ้นที่อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี PBV ต่ำ เป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่นิยมกันมาก แต่ซื้อหุ้นPBV ต่ำอย่างไรจึงได้หุ้น ถูก และดีจริง ๆ ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว

 

แม้โดยนิยาม มูลค่าทางบัญชีคือการนำสินทรัพย์ไปขายทั้งหมดและนำไปจ่ายหนี้เหลือเงินถึงเราเท่าไร แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่การนำสินทรัพย์ไปกอดเอาไว้ โดยไม่ทำอะไร แต่ต้องการให้สร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์นั้นมากกว่า ดังนั้น นอกจากการเลือกหุ้นที่ PBV ต่ำ ได้ของถูกแล้ว ต้องมาดูคุณภาพด้วยว่า กระแสเงินสดที่บริษัททำได้นั้นดีไหม โดยมีหลักการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท 5 ข้อดังนี้

1. วิเคราะห์ ROE อยู่ในระดับสูงและความสม่ำเสมอ

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการประเมินประสิทธิภาพการสร้างผลกำไรของบริษัท อัตราส่วนนี้เผยให้เห็นว่าบริษัทสามารถสร้างมูลค่าจากเงินทุนของผู้ถือหุ้นได้ดีเพียงใด เมื่อผู้ถือหุ้นลงทุนไป 100 บาท บริษัทสามารถสร้างกำไรสุทธิกลับมาได้กี่บาท

 

โดยกำไรที่เกิดขึ้นนี้จะถูกจัดสรรเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นใน 2 รูปแบบหลัก ส่วนหนึ่งกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นโดยตรงในรูปของเงินปันผล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้เป็นกำไรสะสมเพื่อนำไปลงทุนต่อยอดขยายกิจการ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ดังนั้น เมื่อสามารถค้นหาบริษัทที่มีค่าอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (Price-to-Book Value Ratio: P/BV Ratio) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับ ROE ที่สูงและรักษาความสม่ำเสมอได้ต่อเนื่อง อาจได้พบกับเพชรเม็ดงามที่ถูกมองข้าม อย่างไรก็ตาม ROE สูงเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ จึงต้องศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย

2. บริษัทมีหนี้จริง ๆ เท่าไร และมีความสามารถในการจ่ายหรือไม่

การประเมินสถานะทางการเงินที่แท้จริงของบริษัทเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยการวิเคราะห์เชิงลึกที่เกินกว่าตัวเลขที่ปรากฏในงบดุล แม้โดยทั่วไปหนี้สินที่บันทึกในงบการเงินจะสะท้อนภาระผูกพันทางการเงินที่เป็นจริง โดยควรระมัดระวังถึงหนี้สินที่ซ่อนอยู่หรือภาระผูกพันนอกงบดุล ซึ่งอาจบิดเบือนภาพความเป็นจริง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินดูต่ำกว่าที่ควรและมูลค่าทางบัญชีปรากฏสูงเกินจริง

 

ประเด็นที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ข้อพิพาททางกฎหมายและคดีความที่บริษัทกำลังเผชิญ ผู้บริหารมักมีแนวโน้มที่จะไม่ตั้งสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากคดีความหากมีความมั่นใจสูงในชัยชนะ โดยข้อมูลสำคัญเหล่านี้มักถูกเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินในข้อท้าย ๆ

 

สมัยก่อนมีการเลี่ยงกันบันทึกหนี้สินเช่นการขายสินทรัพย์ดำเนินงานออกและเช่ากลับ ทำให้หนี้สินหายไปจากงบดุลอย่างไรก็ตาม มาตรฐานการบัญชีสมัยใหม่ได้ปิดช่องว่างนี้ โดยกำหนดให้บริษัทต้องบันทึกเป็นสินทรัพย์และหนี้สินสิทธิการเช่า และเปลี่ยนค่าเช่าเป็น ค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายในงบดุล

 

สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ ความสมเหตุสมผลของการเช่าหรือซื้อในบริบทของโมเดลธุรกิจนั้น ๆ ธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหารหรือธุรกิจค้าปลีก อาจมีเหตุผลเชิงกลยุทธ์ที่จะเลือกเช่าพื้นที่แทนการซื้อ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง หรือให้สามารถปิดกิจการได้หากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

3. สินทรัพย์ดี ต้องสร้าง ROA สูงและสม่ำเสมอ

การลงทุนในธุรกิจ คือ การระดมทุนทั้งจากผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เพื่อสร้างสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทน แต่ไม่ใช่สินทรัพย์ทุกประเภทที่จะสร้างมูลค่าได้เท่าเทียมกัน ดังนั้น อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets: ROA) จึงเป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่สร้างกำไรได้มากน้อยเพียงใด

 

นักลงทุนควรเปรียบเทียบ ROA ของบริษัทเป้าหมายกับคู่แข่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หาก ROA ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ถึงความผิด เช่น ลงทุนในสินทรัพย์มากเกินความจำเป็น หรือรายจ่ายสูงเกินความจำเป็น ซึ่งทั้งสองกรณีสะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารงานที่ลดลง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรวิเคราะห์เกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์

พิจารณาคุณภาพของสินทรัพย์ จากโครงสร้างของงบดุล

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

มองหารายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่มีสัดส่วนเหมาะสมกับขนาดธุรกิจและสร้างรายได้สอดคล้องกับการลงทุน สำหรับสัญญาณเตือนที่มักพบได้บ่อย คือ


  • ค่าความนิยมสูง บ่งชี้ถึงการซื้อกิจการในราคาพรีเมียมสูงเกินมูลค่าทางบัญชี ซึ่งอาจกลายเป็นการด้อยค่าในอนาคตหากการซื้อกิจการไม่สร้างมูลค่าตามที่คาดหวัง
  • เงินลงทุนในบริษัทร่วมที่สร้างส่วนแบ่งกำไรเพียงเล็กน้อย สะท้อนการตัดสินใจลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • ที่ดินอาคารอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงแต่กลับสร้างยอดขายต่ำกว่าคู่แข่ง บ่งชี้ถึงการใช้กำลังการผลิตอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน อาจซ่อนความเสี่ยงของการถ่ายเทผลประโยชน์ระหว่างกิจการ

สินทรัพย์หมุนเวียน

รายการที่ควรพบในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ แต่เมื่อพบสัญญาณต่อไปนี้ นักลงทุนควรตั้งคำถาม

  • ลูกหนี้การค้าที่มีอัตราส่วนระยะเวลาเก็บหนี้ยาวขึ้น อาจบ่งชี้ถึงนโยบายสินเชื่อที่หละหลวมหรือคุณภาพลูกค้าที่ลดลง
  • สินค้าคงเหลือที่มีอัตราส่วนระยะเวลาขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้น อาจสะท้อนถึงผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัย ความต้องการตลาดที่ลดลง
  • เงินจ่ายล่วงหน้าในจำนวนมาก อาจเป็นสัญญาณของอำนาจต่อรองที่มีประสิทธิภาพลดลงกับซัพพลายเออร์
  • สินทรัพย์ตามสัญญาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาในการส่งมอบงานและรับรู้รายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหากระแสเงินสดในระยะยาว

4. คุมรายจ่ายได้ดี อัตรากำไรแต่ละขั้นใกล้เคียงกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ในการลงทุนระยะยาว ความยั่งยืนของผลกำไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง บริษัทที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมักรักษาอัตรากำไรในทุกระดับให้สอดคล้องหรือเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

 

การตรวจสอบเปรียบเทียบแนวโน้มของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin) และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) กับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการเปิดเผยความผิดปกติที่อาจซ่อนอยู่ภายใต้ตัวเลขทางการเงิน ซึ่งการวิเคราะห์โครงสร้างกำไร ควรให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้

อัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ

สถานการณ์นี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การส่งเสริมการขายเชิงรุกด้วยส่วนลดที่มากเกินไปเพื่อรักษายอดขาย การประสบภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือในบางกรณีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เกินความจำเป็นจนส่งผลให้ค่าเสื่อมราคา ซึ่งถูกบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายปรับสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้กำไรขั้นต้นถูกกดดันลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายสูงกว่าอุตสาหกรรม

เมื่อพบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สูงกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณา สถานการณ์นี้อาจสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น

ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงเกินไป

บริษัทที่พึ่งพาเงินทุนจากการก่อหนี้ในสัดส่วนที่สูง มักเผชิญกับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่กัดกินกำไรจากการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ในสถานการณ์เลวร้ายแม้บริษัทจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักที่ดี สร้างกำไรจากการดำเนินงานได้น่าพอใจ แต่เมื่อหักดอกเบี้ยจ่ายแล้ว กำไรสุทธิอาจลดลงจนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับผู้ถือหุ้น



เนื้อหานี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน?

5. วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ

ถึงแม้ P/BV Ratio ต่ำจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากปราศจากแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจน การลงทุนอาจกลายเป็นเพียง กับดักมูลค่าที่ดึงดูดนักลงทุนด้วยราคาถูก แต่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว ดังนั้น ควรค้นหาบริษัทที่ไม่เพียงแต่มีมูลค่าตามบัญชีสูงกว่าราคาตลาด แต่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตที่ดี

 

นอกจากนั้น บริษัทต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่จะทำให้การเติบโตของรายได้และกำไรเป็นไปในอัตราที่เทียบเท่าหรือดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยการลงทุนในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องจะสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนใน 2 รูปแบบที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ผลตอบแทนจากกระแสเงินสด

เมื่อบริษัทเติบโต กำไรที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ประจำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนระยะยาว

การปรับตัวของราคาตลาด

ในระยะยาว ราคาหุ้นมักจะสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริงของบริษัท เมื่อบริษัทสามารถเติบโตและสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่แข็งแกร่งนั้น

สรุปวิธีวิเคราะห์หุ้นดี ราคาถูก

การลงทุนในหุ้นที่มี P/BV Ratio ต่ำ สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาวหากเลือกบริษัทที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง การพิจารณาเพียง P/BV Ratio ต่ำ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหาเพชรที่ซ่อนอยู่ในตลาดหุ้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น ROE ที่แข็งแกร่งและสม่ำเสมอ ศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ คุณภาพของสินทรัพย์ ภาระหนี้สินที่แท้จริง และประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย

 

ความพยายามในการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจะช่วยให้นักลงทุนแยกแยะระหว่าง “หุ้นราคาถูก ที่มีคุณภาพ” กับ “หุ้นราคาถูก ที่อาจมีปัญหา” ซึ่งการลงทุนในหุ้น P/BV Ratio ต่ำ ที่มีคุณภาพจริง ๆ ไม่เพียงแต่สร้างผลตอบแทนที่ดีผ่านเงินปันผลและการเติบโตของราคา แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในราคาที่สูงเกินจริงอีกด้วย

 

สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่าน SET e-Learning หลักสูตร Financial Statement Analysis ได้ฟรี!

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน