โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินเป็นหนึ่งในภาวะเรื้อรังที่แพร่กระจายและขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยผู้ใหญ่มากถึง 2.5 พันล้านคน หรือประมาณ 43% ของประชากรทั่วโลกให้เกิดโรคร้ายแรงและภาวะแทรกซ้อนหลายประการ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคไตเรื้อรัง มะเร็งหลายชนิด รวมถึงปัญหาพฤติกรรม ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์
ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ตลาดยารักษาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเป็นตลาดยาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกโดยมีมูลค่าถึง 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 - 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ซึ่งเติบโตมากกว่า 10 เท่าภายในทศวรรษเดียว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาตั้งแต่การค้นพบจนถึงการได้รับอนุมัติเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานประมาณ 10 – 15 ปี และมีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละขั้นตอนของกระบวนการก็มีความเสี่ยง ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนายา มีอัตราการคัดออกสูง ทำให้อัตราความสำเร็จโดยรวมต่ำ โดยมีเพียงประมาณ 1 ใน 5,000 – 10,000 สารประกอบที่เข้าสู่ขั้นตอนการค้นพบเท่านั้นที่สามารถกลายเป็นยาที่ได้รับอนุมัติได้ แม้ว่ากระบวนการจะซับซ้อนและใช้เวลานาน แต่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับรองว่ายาใหม่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพียงพอก่อนเข้าสู่ท้องตลาด
Eli Lilly & Co. (LLY, Lilly) เป็นบริษัทอเมริกันเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นในปี 1876 จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คปี 1952 เป็นผู้นำด้านเภสัชกรรมระดับโลกที่ค้นคว้า พัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาในกลุ่มยาสำหรับมนุษย์ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมด้านโรคเบาหวาน (GLP-1) โรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ในชื่อผลิตภัณฑ์ เช่น Basaglar, Humalog, Mounjaro, Trulicity และ Zepbound ด้านมะเร็งมีผลิตภัณฑ์ เช่น Alimta, Retevmo, Tyvyt และ Verzenio ด้านภูมิคุ้มกันวิทยามี Ebglyss, Olumiant, Omvoh และ Taltz ส่วนด้านประสาทวิทยามี Cymbalta และ Emgality รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น Cialis และ Forteo โดยปัจจุบันเป็นบริษัทยาที่มีมูลค่าตามราคาตลาดมากที่สุดในโลกที่ 8.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (คำนวณจากราคาปิดของหุ้น ณ 6 มีนาคม 2025)
ในช่วงปี 2020-2024 รายได้ของ Eli Lilly เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากยารักษาโรคเบาหวาน Mounjaro และโรคอ้วน Zepbound ที่บริษัทเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ ส่งผลให้ในปี 2024 ทำรายได้สูงถึง 45.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 32% และเป็นสถิติรายได้สูงสุดของบริษัท
ทั้งนี้รายได้จาก Mounjaro ในปีที่ผ่านมาแตะ 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2023 และคิดเป็นสัดส่วน 26% ของยอดรวม ในขณะที่ Zepbound ทำรายได้ในปีที่ผ่านมาแตะ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับ 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ) ทั้งนี้บริษัทคาดว่าการเปิดตัว Mounjaro ในตลาดใหม่และข้อบ่งใช้เพิ่มเติม รวมทั้งยาที่พึ่งเปิดตัว (Ebglyss, Jaypirca, Kisunla และ Omvoh เป็นต้น) จะช่วยให้รายได้เติบโตต่อไปในปี 2025
ที่มา: LLY และ Refinitiv (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2025)
*หมายเหตุ: ตัวเลขในวงเล็บแสดงอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ช่วง 2020 – 2024 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์
บริษัทเป็นผู้นำตลาดด้านยา GLP-1 โดยมีผลิตภัณฑ์หลักอย่าง Mounjaro และ Trulicity ซึ่งทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดยาโรคอ้วนคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ทำให้มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพัฒนายา GLP-1 แบบรับประทาน ซึ่งอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมนี้
บริษัทลงทุนด้าน R&D สูงถึง 11.0 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 หรือ 24% ของรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ลงทุนด้านนวัตกรรมมากที่สุด การพัฒนายาใหม่ในกลุ่ม อัลไซเมอร์ (Donanemab) มะเร็ง และภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเป็น ยาขายดีในอนาคตอาจช่วยขยายแหล่งรายได้และสร้างการเติบโตระยะยาว
บริษัทมุ่งขยายตลาดไปยังจีน อินเดีย และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้ป่วยเบาหวานและโรคอ้วนจำนวนมาก คาดว่า 90% ของความต้องการยา GLP-1 ในอนาคตจะมาจากนอกสหรัฐอเมริกา บริษัทยังเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ เช่น Morphic Therapeutic และ Point Biopharma เพื่อขยายสู่กลุ่มยาใหม่ ๆ รวมถึงโรคลำไส้อักเสบและมะเร็ง
Novo Nordisk เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดยา GLP-1 โดยมีผลิตภัณฑ์ Ozempic และ Wegovy ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ อีกทั้ง Eli Lilly ต้องเผชิญความท้าทายจาก นโยบายควบคุมราคายา เช่น การที่ Medicare สามารถเจรจาต่อรองราคายาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจกระทบกำไรของบริษัท นอกจากนี้ ความต้องการยา GLP-1 ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาการผลิต แต่กำลังลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดข้อจำกัดนี้
ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง
ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท Eli Lilly and Company (LLY) หรือ DRx ของหุ้น LLY มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ LLY80X เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น LLY ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย (อัตราส่วน 1 หุ้น LLY : 20,000 DRx) ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนหุ้น LLY ในต่างประเทศโดยตรง มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เนื่องจาก DRx สามารถลงทุนขั้นต่ำโดยเริ่มต้นที่ 0.0001 หน่วย และสามารถเลือกซื้อขายเป็นจำนวนเงินบาท หรือจำนวนหน่วยของ DRx ก็ได้
นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายได้ตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเวลา 2 ทุ่มถึงตี 4 ของวันถัดไป ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา DRx จะสอดคล้องกับหุ้น LLY ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม หรือนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้วสามารถขอเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Streaming ได้
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ทางเลือกลงทุนต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย! เรียนรู้การจัดพอร์ตด้วย DR, DRx, ETF และ DW ตั้งแต่ทำความรู้จักลักษณะสินทรัพย์ ข้อดีข้อจำกัด ฟรีบน SET e-Learning กับหลักสูตร “จัดพอร์ตลงทุนต่างประเทศได้ง่าย ๆ ด้วย DR DRx ETF DW”