ปี 2025 การเมืองและเศรษฐกิจที่ต้องจับตา

โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บลจ.บัวหลวง
3 Min Read
13 มีนาคม 2568
5.068k views
TSI-Article-669-Inv-politics-economy-outlook-2005-Thumbanil (1)
Highlights
  • เศรษฐกิจโลกในปี 2025 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อและตลาดการเงินโลก

  • ทิศทางนโยบายการเงินและกลยุทธ์ของจีน: ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา จะเริ่มลดลง และประเด็นหลักคือการลดลงมากน้อยเพียงใด จีนกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเติบโตด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI, Semiconductor และ Digital Infrastructure

  • โอกาสการลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินนโยบายเพื่อสร้างผลงานก่อนการเลือกตั้งในปี 2027 นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากวัฏจักรเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อหาจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม

เศรษฐกิจโลกปี 2025 การประเมินและปัจจัยที่มีผลกระทบ

  • การประเมินเศรษฐกิจต้นปีมักสะท้อนข้อมูลจากปีก่อนหน้า ทำให้ประมาณการหลายส่วนยังคงอิงกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ในอดีต เช่น GDP โลกที่เติบโตประมาณ 3% สหรัฐอเมริกา ประมาณ 2% ยุโรปมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตน้อย ส่วนจีนยังคงอยู่ในระดับประมาณ 5%
  • ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดิมทีตลาดมองว่า อยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ปัจจัยใหม่อย่าง Trump Effect อาจเปลี่ยนสมการที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

นโยบายการเงิน ตลาดคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ย

ตลาดการเงินทั่วโลกประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และโจทย์หลักปีนี้จะเปลี่ยนจาก "Fed จะขึ้นหรือคงดอกเบี้ย" ไปสู่ "คัทมาก คัทน้อย" การเปรียบเทียบส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเฟดกับธนาคารกลางอื่น ๆ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดการเงินโลก

 

ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ส่วนใหญ่เป็น Carry Over จากข้อมูลที่ประเมินไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจใหม่ เช่น GDP ไตรมาสแรก หรือดัชนีเศรษฐกิจรายเดือน จะเริ่มทยอยเผยแพร่ในเดือนมีนาคม ทำให้นักลงทุนต้องวิเคราะห์ข้อมูลปัจจุบันอย่างรอบคอบ

การเมืองปี 2025 ปีแห่งการโชว์ผลงาน

ปีนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน แต่การเมืองจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ในหลายประเทศที่ต้องเริ่ม "ปีโชว์ผลงาน" นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและความผันผวนของตลาดการเงิน

 

นโยบายสำคัญของทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่ง

หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 ประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารจำนวนมากเพื่อนำเสนอนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่

  • การค้าและเศรษฐกิจ: เลื่อนการแบน TikTok, ศึกษาภาษีศุลกากร, ตั้งหน่วยงาน External Revenue Service และใช้มาตรการฉุกเฉินด้านเงินเฟ้อ
  • การย้ายถิ่นฐาน: ประกาศภาวะฉุกเฉินชายแดน, ยกเลิกสิทธิการได้สัญชาติจากการเกิด และรื้อฟื้นนโยบาย Remain in Mexico
  • พลังงานและสิ่งแวดล้อม: ยกเลิกข้อบังคับด้านพลังงานยุค Biden, สนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง และถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

การบริหารรัฐบาลกลาง: ให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงาน, หยุดการจ้างงานใหม่ และลดความคุ้มครองพนักงานผ่านคำสั่งบริหารโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Schedule F)

การเมืองกับนโยบายการเงิน Trump ต้องเผชิญโจทย์หนัก

ประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เช่น การแต่งตั้งบุคคลสำคัญในศาลสูงสุด (Supreme Court) และเฟด รวมถึงการเจรจางบประมาณและเพดานหนี้ เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่ 220 ต่อ 215 ทำให้พรรครีพับลิกันมีความได้เปรียบเพียง 5 เสียง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปราะบางต่อการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ

 

การใช้กระบวนการ Reconciliation ในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยให้ร่างกฎหมายงบประมาณผ่านได้ด้วยเสียงข้างมาก 51 เสียง มีข้อจำกัด เนื่องจากต้องจำกัดเนื้อหาให้เกี่ยวข้องกับงบประมาณโดยตรง หากพยายามใส่ “ไส้ใน” อื่น ๆ อาจถูกตัดออกภายใต้การตรวจสอบของ Senate Parliamentarian ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ร่างกฎหมายจะไม่ผ่าน

มุมมองจีน การเปลี่ยนแปลงแนวทางสู่เทคโนโลยี

ที่ผ่านมาตลาดกังวลเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการ Deleveraging และความเสี่ยงด้านหนี้ แต่เมื่อต้นปี 2025 รัฐบาลจีนกลับเปลี่ยนโมเมนตัมไปสู่กลุ่มเทคโนโลยี สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังพยายามหันเหความสนใจของตลาดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นประเด็นกังวล ไปสู่เรื่อง Tech Growth Story ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจจีน

 

แนวทางนี้ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์ของจีนในการส่งเสริมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ รวมถึงภาค AI, Semiconductor และ Digital Infrastructure ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว นักลงทุนจึงควรจับตาดูว่า รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการใดในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดึงดูดเงินลงทุนเข้าสู่ภาคนี้

ประเทศไทย จังหวะขับเคลื่อนนโยบาย

หลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2024 รัฐบาลไทยเริ่มเร่งดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการกระจายฐานคะแนนเสียงและสร้างเสถียรภาพของคณะรัฐมนตรี ปี 2025 เป็นปีที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งปี 2027

จังหวะทางเศรษฐกิจปี 2025 กับการลงทุน

ปี 2025 เป็นปีที่ตลาดต้องปรับตัวต่อการเมืองและนโยบาย นักลงทุนควร “Zoom Out” และมองจังหวะลงทุนในระยะยาว วัฏจักรเศรษฐกิจและการเมืองสามารถช่วยให้จับจังหวะการเข้าลงทุนใน Medium-Long Term ได้ การทยอยลงทุนในจังหวะที่ต้นทุนยังต่ำ อาจเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการเติบโตในปี 2026 - 2027 ซึ่งจะเป็นช่วงที่นโยบายเริ่มส่งผลชัดเจน

สำหรับผู้ที่สนใจ  หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมสามารถ รับชมเสวนาย้อนหลัง หัวข้อ จับทิศเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2025: ลงทุนอย่างไรให้รอดได้ที่นี่



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน