การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนไม่แพ้ผลประกอบการที่เป็นตัวเงิน ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มกำหนดให้การเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นภาคบังคับกันมากขึ้น ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยสามารถปรับตัวกันได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยข้อมูล ESG ผ่าน SET ESG Data Platform ในปี 2567 จำนวน 690 บริษัท คิดเป็น 78% ของจำนวนบริษัททั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ทยอยยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้สอดรับกับเทรนด์และมาตรฐานการรายงานในระดับสากล
ปี 2567 ที่ผ่านมานับเป็น ‘ปีแรก’ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มโครงการนำร่องในการประเมิน FTSE Russell ESG Scores โดยร่วมมือกับผู้ประเมินระดับโลกอย่าง FTSE Russell เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมและทยอยยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG โดยจะยังไม่มีการเปิดเผยผลคะแนนของแต่ละบริษัทต่อสาธารณชนในช่วงโครงการนำร่องระหว่างปี 2567-2568 นี้
ผลประเมิน ESG ดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนความมุ่งมั่นและการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน แต่บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนควรตระหนักว่า คะแนนมิได้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่ใช้ในการประเมินและวัดผลประสิทธิภาพและพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนจึงควรมุ่งเน้นการลงมือทำและ Integrate ESG ในกระบวนการทำงาน โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ผลคะแนน ในทำนองเดียวกันผลประเมิน ESG ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการพิจารณาลงทุน นักลงทุนจะต้องพิจารณาข้อมูลอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น กลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจ แผนการบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และข้อมูลผลการดำเนินการทางการเงิน เป็นต้น
“คะแนนมิได้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่ใช้ในการประเมินและวัดผลประสิทธิภาพและพัฒนาการด้านความยั่งยืนของธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนจึงควรมุ่งเน้นการลงมือทำและ Integrate ESG ในกระบวนการทำงาน โดยไม่มุ่งหวังเพียงแค่ผลคะแนน ในทำนองเดียวกันผลประเมิน ESG ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการพิจารณาลงทุน นักลงทุนจะต้องพิจารณาข้อมูลอื่นควบคู่กันไปด้วย”
FTSE Russell ESG Scores คือผลการประเมินการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะ โดย FTSE Russell แบ่งการประเมินออกเป็น 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ประกอบด้วย 14 ธีม ครอบคลุมกว่า 300 ตัวชี้วัด ทั้งนี้ จำนวนธีมและจำนวนตัวชี้วัดที่แต่ละบริษัทได้รับการประเมินจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประเทศที่ตั้ง สัดส่วนรายได้ และการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน Industry Classification Benchmark (ICB)
ผลคะแนนของ FTSE Russell ESG Scores ประกาศเป็นคะแนน 0.0 ถึง 5.0 คะแนน ซึ่ง 0.0 คะแนน หมายถึง ไม่มีข้อมูลให้ประเมิน ส่วน 3.0 คะแนน หมายถึง Good practice และ 5.0 คะแนน หมายถึง Best practice
บริษัทจดทะเบียนไทย 225 บริษัทได้รับผลการประเมิน FTSE Russell ESG Scores ประจำปี 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับปีแรกนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะปูพื้นฐานให้บริษัทจดทะเบียนไทยทราบสถานะว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนระดับโลกอย่างไร เพื่อให้พร้อมปรับตัวสู่การประเมินระดับสากลเต็มรูปแบบได้อย่างราบรื่น
การประเมิน FTSE Russell ESG Scores ปี 2567 นับเป็นก้าวแรกของบริษัทจดทะเบียนไทยบนเส้นทางแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐานการประเมินสากล บริษัทไทยจึงควรใช้ผลประเมินเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์จุดแข็งและปิดช่องโหว่ เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียในระยะยาว
พัฒนาจุดแข็ง: ส่อง 4 Theme โดดเด่นสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย
เสริมความแข็งแกร่ง: 4 Theme ที่บริษัทจดทะเบียนไทยควรเร่งพัฒนา
แม้ว่าผลประเมินจาก FTSE Russell จะเป็นกรอบอ้างอิงที่เป็นประโยชน์ในการช่วยบริษัทจดทะเบียนไทยพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนในระดับสากล และยังเป็นตัวช่วยให้บริษัททราบทิศทาง แนวโน้ม ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำไปยกระดับการดำเนินงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในบาง Theme ที่ FTSE Russell ไม่ได้ประเมินบริษัท ไม่ได้หมายความว่าบริษัทไม่ต้องดำเนินการ หากบริษัทวิเคราะห์แล้วพบว่าประเด็นเหล่านั้นมีสาระสำคัญ (Material Issue) ต่อธุรกิจ บริษัทควรวางกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ในทุกประเด็นสำคัญด้วย
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้เน้นย้ำว่า ผลคะแนนไม่ควรเป็นเป้าหมายสูงสุด คุณค่าที่แท้จริงของการประเมินคือการใช้ผลคะแนนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการลงมือพัฒนาและปรับปรุงต่อเนื่องให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้คะแนนที่ได้รับเป็นตัวบ่งชี้ในเบื้องต้นว่าบริษัทมีการดำเนินงานด้าน ESG แต่การยกระดับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับนโยบาย กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน ไปจนถึงการพัฒนาผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
สำหรับนักลงทุน นักลงทุนควรนำข้อมูลหลายส่วนมาพิจารณาประกอบกันในการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผลการดำเนินงานทางการเงิน กลยุทธ์การปรับธุรกิจตามเทรนด์ การบริหารจัดการปัจจัยความเสี่ยงและโอกาสในประเด็นต่าง ๆ ไปจนถึงผลการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์และตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและข้อมูลที่จะช่วยสะท้อนทิศทางการดำเนินงานในอนาคตด้วย จึงจะเป็นการใช้ข้อมูล ESGให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูล FTSE Russell ESG Scores เพิ่มเติมได้ ที่นี่
[1] FTSE4Good Emerging Index เป็นดัชนีความยั่งยืนของ FTSE Russell ที่ประกอบด้วยหุ้นจากประเทศในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด 23 ประเทศ เช่น ประเทศบราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเม็กซิโก เป็นต้น