จับชีพจรเศรษฐกิจโลก ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 2568

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
5 Min Read
1 มีนาคม 2568
11.978k views
TSI-Article-667-Inv-global-and-thailand-economy-outlook-2025-Thumbnail
Highlights
  • เศรษฐกิจโลกปี 2568 มีความผันผวนจากการกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยนโยบายของเขาส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น สงครามการค้า การขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและไทย

  • เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 2.8% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ แต่การส่งออกอาจชะลอตัวลงเหลือ 1-2%

  • คำแนะนำการลงทุนในปีนี้คือ การกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทและตลาดต่างประเทศ เลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และรักษาสภาพคล่องไว้บางส่วน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจโลกปี 2568 ผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกครั้ง นำมาซึ่งนโยบายที่แตกต่างจาก 4 ปีก่อน ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งสงครามการค้า ปัจจัยการผลิต และนโยบายเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่จีนคู่แข่งสำคัญก็เผชิญแรงกดดันจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า

 

ความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นหลังผ่านเดือนแรกของปี คำถามสำคัญคือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกตลอดปี 2568 จะเป็นอย่างไร และไทยในฐานะส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับการลงทุน

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เล่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยในงาน Maruey Talk เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ว่า “ถ้าดูที่ IMF ประมาณการเศรษฐกิจโลกออกมาล่าสุด ก็พบว่าเศรษฐกิจโลกปี 2568 ยังขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3.3% โดยประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเยอะคือสหรัฐอเมริกา”

 

ดร.กิริฎาอธิบายเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล การสร้างงานให้ชาวอเมริกัน และการลดต้นทุนพลังงานด้วยการกลับมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2568 อาจขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายสงครามการค้าของทรัมป์ที่มีต่อหลายประเทศทั่วโลก จะส่งผลให้การค้าโลกไม่สามารถเติบโตได้เท่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ที่มีการค้าขายระหว่างกัน เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า หลายประเทศก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน ทำให้เกิดสงครามการค้าในระดับโลก

 

ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจมีแนวโน้มเติบโตช้าลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง ดร.กิริฎากล่าวว่า “แม้ IMF จะประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.3% ซึ่งเป็น Base Case แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านลบ (Downside Risk) อยู่เป็นจำนวนมาก”

เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ตามประมาณการของ IMF เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2568 จะขยายตัวได้มากกว่าปีที่แล้ว โดยปรับเพิ่มจาก 2.2% เป็น 2.7% เนื่องจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่จะมาจากการจ้างงานที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้อพยพที่เป็นแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายถูกนำออกจากประเทศ จึงน่าจะมีส่วนช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก

 

นโยบายหลักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย มี 5 ประเด็นสำคัญ

1. การลดภาษีนิติบุคคล

คงภาษีนิติบุคคลที่ 21% ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 แต่ลดลงเหลือ 15% สำหรับสินค้าเป้าหมายที่ผลิตในประเทศ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายในสหรัฐฯ แต่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และงบประมาณของสหรัฐฯ อาจขาดดุลมากขึ้น

2. การขึ้นภาษีนำเข้า

สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราสูงถึง 60% และจากประเทศอื่น ๆ 10-20% ซึ่งอาจส่งผลกระทบในหลายมิติ เช่น การเติบโตของมูลค่าการค้าโลกชะลอตัวลง, เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง รวมถึงเศรษฐกิจจีน, การย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนและการส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดนอกสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจช้าลง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

  • สงครามการค้าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากหลายประเทศที่ไทยส่งออกสินค้า เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะได้รับผลกระทบ ทำให้การส่งออกของไทยอาจเติบโตเพียง 1-2% ในปีนี้ ไม่ใช่ 5% เหมือนปีก่อน

  • ความไม่แน่นอนในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีนสูง ไทยอาจได้ประโยชน์จากการทดแทนสินค้าจีน แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเวียดนามน้อยกว่าไทย เวียดนามอาจได้เปรียบกว่า

  • สินค้าจีนไหลเข้าไทยมากขึ้น เนื่องจากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง จีนอาจหันมาขายสินค้าในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น รวมถึงไทย จึงมีความเสี่ยงที่สินค้าจีนจะเข้ามาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้น

3. การปฏิรูปด้านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวด พร้อมกับการเนรเทศแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสูงสุดถึง 8 ล้านคน

การเนรเทศแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมซึ่งพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ค่าแรงจะสูงขึ้น และอาจมีส่วนทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้ซื้อ และอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

4. การถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) และขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

ความตกลงปารีส เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การถอนตัวจากความตกลงปารีสและขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่เน้นการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณ นโยบายและเทคโนโลยีสีเขียวจะลดลง

 

ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของสหรัฐฯ จะช้ากว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก การเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น

ผลกระทบต่อไทย

  • ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น นโยบายของสหรัฐฯ จึงส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมาก

5. การลดความช่วยเหลือแก่ยูเครนและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงไต้หวัน และเพิ่มการสนับสนุนอิสราเอล

สงครามยูเครน-รัสเซียอาจยุติเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ บริษัทไต้หวันอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นมากขึ้น สถานการณ์ในตะวันออกกลางอาจตึงเครียดมากขึ้น และจีนอาจมีอิทธิพลเหนือประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น

ผลกระทบต่อไทย

  • ยูเครน ถ้าสหรัฐฯ และยุโรปลดการช่วยเหลือยูเครน สงครามอาจยุติเร็วขึ้น ส่งผลดีคือราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ธัญพืช อาหารสัตว์ อาจลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและเกษตรกรไทย เพราะไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้

  • ตะวันออกกลาง การสนับสนุนอิสราเอลของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเพิ่มความตึงเครียดกับอิหร่าน ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนด้านการผลิตและการขนส่งน้ำมัน อาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยเฉพาะถ้าช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก

  • ไต้หวัน หากสหรัฐฯ ลดการปกป้องไต้หวัน จีนอาจรุกรานไต้หวันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างไทย จีน และญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้ค่าระวางเรือและค่าประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจทำให้บริษัทไต้หวันย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในไทยมากขึ้น

จะเห็นได้ว่านโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและไทย ไม่ใช่แค่เรื่องการค้าหรือการขนส่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น และส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยตามมาด้วย

นโยบายการเงินสหรัฐฯ

ดร.กิริฎามองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่มาก เพราะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2% นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล จะยิ่งเพิ่มความต้องการ (Demand) ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การขึ้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและค่าแรงที่สูงขึ้น ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิต (Supply) ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเช่นกัน

 

ดังนั้น เงินเฟ้อจึงน่าจะลดลงได้ไม่มาก คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ประมาณ 0.25% และประเทศอื่น ๆ คงลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่มากเช่นกัน

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง จากที่เคยเติบโต 7-9% ปัจจุบันเหลือประมาณ 5% และอาจลดลงเหลือ 4.5% ในอนาคต ดร.กิริฎาบอกว่า “นี่เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก อาจส่งผลให้สินค้าจีนไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น”

 

IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจจีนปี 2568 อาจเติบโต 4.6% ลดลงกว่าปีก่อน เพราะสหรัฐฯ ยังเป็นตลาดสำคัญของจีน และนโยบายของทรัมป์อาจกีดกันการส่งออกของจีน แม้จีนจะพยายามหาตลาดใหม่ แต่ก็ยากที่จะทดแทนตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนปัญหาภายในจีน เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ทำให้กำลังซื้อลดลง ธุรกิจชะลอตัว รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินและการคลัง แต่การพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศที่ยังมีสัดส่วนน้อย (ประมาณ 30% ของ GDP ต่างจากไทยที่อยู่ที่ประมาณ 50%) ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก

 

จีนจึงจำเป็นต้องเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเมื่อประชาชนยังกังวลเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และความไม่แน่นอนของรายได้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่ยังเติบโตได้ 4.6% ถือว่าสูงมากในแง่ของมูลค่า แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอลง จึงมีความเสี่ยงที่สินค้าจีนจะไหลเข้าไทยมากขึ้น ดร.กิริฎากล่าว

 

ในส่วนของการค้า แม้สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน แต่จีนก็จะหันมาหาตลาดอื่น รวมถึงไทย ความต้องการ (Demand) ในประเทศไทยจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วน อุปกรณ์ และเครื่องจักร เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาถูก หากจีนส่งออกสินค้ามาไทยมากขึ้น ราคาสินค้าในไทยอาจถูกลง และอาจมีการลงทุนจากโรงงานจีนในไทยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกับจีน เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ อาจได้รับผลกระทบ การปรับตัวของธุรกิจไทยจึงควรเน้นการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากจีนที่มีราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าสินค้า แทนการแข่งขันโดยตรงกับสินค้าจีน

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ประมาณ 2.8% เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากช่วงโควิด-19 โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่

  • การท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็นประมาณ 39.5 ล้านคนในปีนี้

  • การส่งออก คาดว่าจะเติบโต 1-2% ลดลงจากปีที่แล้วที่เติบโตเกือบ 5% โดยการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2568 จะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกและการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักมาจากสงครามการค้าโลก

โดยสินค้าส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย (ไม่รวมทองคำ) ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อุปกรณ์โทรคมนาคม และเหล็กกล้า ตามมาด้วยสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยางพารา โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีการเติบโตที่ดี

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่แตกต่างจากปีที่แล้ว คือ

  • การใช้จ่ายภาครัฐ ปีนี้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะไม่มีความล่าช้าเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งเพิ่งพาการลงทุนของภาครัฐพอสมควร

  • การลงทุน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดขายเครื่องจักร ในขณะที่ยอดขายวัสดุก่อสร้างและรถบรรทุกลดลง สะท้อนถึงการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ อันเนื่องมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (Board of Investment) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าของบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ออกให้เพิ่มขึ้น 100.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 91.3% โดยเฉพาะจากประเทศจีนและสิงคโปร์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
 
ซึ่งหลังจาก BOI ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว การลงทุนจะยังไม่ได้เกิดขึ้นในทันที ส่วนใหญ่บริษัทจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าจะมาลงทุน และใช้เวลาสร้างโรงงานอีก 1.5-2 ปี ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการตั้งโรงงานเพื่อส่งออก ไม่ใช่เพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ แผงโซลาร์เซลล์) ตามมาด้วยยานยนต์และชิ้นส่วน (เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและยางรถยนต์) และเทคโนโลยีชีวภาพ (เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ) ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของไทยในอนาคต 

  • การบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเติบโตประมาณ 2-3% แต่การเติบโตอาจไม่สูงมากเนื่องจากครัวเรือนไทยมีหนี้สูง อย่างไรก็ตาม รายได้และโอกาสในการทำงานของคนไทยเริ่มฟื้นตัว และมาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินของภาครัฐและธนาคารต่าง ๆ น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ

 

โดยสรุป เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภค แต่การส่งออกอาจเติบโตช้าลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

นโยบายการเงินของไทย

ดร.กิริฎาวิเคราะห์แนวโน้มนโยบายการเงินของไทยในปีนี้ โดยดูจากทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวที่ 0.25% ไทยอาจจะปรับลดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันเพียงครั้งเดียวเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย

 

เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลง ธนาคารพาณิชย์มักจะปรับลดดอกเบี้ยตาม แต่จากสถิติที่ผ่านมา จะลดลงเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราที่ธนาคารกลางปรับลด ดังนั้น ต้นทุนทางการเงินของไทยในปีนี้อาจจะไม่ได้ลดลงมากนัก

 

ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน หากสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจไม่อ่อนตัวลงมาก ส่งผลให้เงินบาทอาจไม่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่มากเท่ากับปีก่อนหน้า เงินทุนไหลเข้าประเทศจึงอาจน้อยกว่าปีที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนสูงในปีนี้ โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก เช่น การแสดงความคิดเห็นของโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ดังนั้น ทุกคนควรเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้น และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่เหมาะสม

คำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2568

ดร.กิริฎาให้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ดังนี้

  1. กระจายการลงทุน ไม่ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ควรมีการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท
  1. ป้องกันความเสี่ยง พิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น ทองคำ ซึ่งควรมีไว้ในพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างสมดุล
  1. ลงทุนในตลาดต่างประเทศ นอกจากลงทุนในหุ้นไทยแล้ว ควรพิจารณาลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี เช่น สหรัฐอเมริกา
  1. เลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ แม้จะต้องกระจายการลงทุน แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการเลือกลงทุนใน Sector ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
  1. รักษาสภาพคล่อง ควรมีเงินสดสำรองไว้ส่วนหนึ่งในพอร์ตลงทุน เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

ดร.กิริฎาเน้นย้ำว่า ธีมการลงทุนของปีนี้คือความไม่แน่นอน ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าต้องถอนการลงทุนทั้งหมดเพื่อถือเป็นเงินสด แต่ควรบริหารพอร์ตลงทุนให้มีความสมดุลระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ และการรักษาสภาพคล่องที่เหมาะสม

 

หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากงานกิจกรรม Maruey Talk หัวข้อ “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 68” ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 จัดโดยห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่นี่



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน