เทคนิคลงทุน 3 แบบ 3 สไตล์

โดย SET
4 Min Read
1 มกราคม 2564
14.18k views
TSI_64_เทคนิคลงทุน 3 แบบ 3 สไตล์
Highlights
  • นักลงทุนที่สามารถอยู่รอดปลอดภัย สร้างผลตอบแทนการลงทุนจากหุ้นได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่างก็เป็นพวกที่มีกลยุทธ์หรือสไตล์การลงทุนเป็นของตนเอง

  • นักลงทุนมือใหม่ที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ลองเริ่มจากการสำรวจตัวเองว่า... ชอบสไตล์การลงทุนแบบไหน ระหว่างสายพื้นฐาน สายโมเมนตั้ม หรือสายกราฟเทคนิค ซึ่งการรู้จักสไตล์การลงทุนของตนเอง จะทำให้เราสามารถเลือกหุ้นและกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุน คือ การที่นักลงทุนไม่รู้จักตัวเอง ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน นักลงทุนควรสำรวจสไตล์การลงทุนของตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้ารู้จักสไตล์การลงทุนก็จะสามารถเลือกหุ้นและกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม

 

นักลงทุนที่สามารถอยู่รอดปลอดภัย สร้างผลตอบแทนการลงทุนจากหุ้นได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่างก็ต้องมีกลยุทธ์หรือสไตล์การลงทุนที่ใช้เป็นหลักเอาไว้ยึดเหนี่ยว ไม่ลงทุนอย่างไร้กระบวนท่า ประเภทที่ลงทุนได้กำไร ก็ไม่รู้ว่าได้เงินเพราะอะไร หรือขาดทุน ก็ไม่รู้ว่าเสียเงินเพราะอะไร ซึ่งการลงทุนแบบนี้คงไม่ดีแน่

 

สไตล์การลงทุนที่มีแนวทางชัดเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นั่นเป็นสาเหตุว่า... ทำไมนักลงทุนควรรู้จักตัวเองก่อนรู้จักหุ้น โดยต้องสำรวจตนเองก่อนว่าเหมาะกับสไตล์การลงทุนแบบไหน ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางแตกต่างกันออกไป

 

 

3 แบบ 3 สไตล์ เลือกที่ใช่

 

 

  1. นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)

 

นักลงทุนสไตล์นี้มีความเชื่อว่าการซื้อหุ้น คือ การซื้อกิจการ เชื่อในความเกี่ยวโยงระหว่างผลประกอบการ (กำไร ขาดทุน) กับราคาหุ้น ผลประกอบการจะต้องสะท้อนออกมายังราคาหุ้น (ช้าหรือเร็วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) อีกทั้งจะมองการลงทุนในระยะยาว เพราะพื้นฐานกิจการไม่สามารถสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน สัปดาห์ หรือแม้กระทั่งเดือน แต่การรับรู้พื้นฐานที่ดีขึ้น เช่น รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม กว่าจะสะท้อนมาที่ราคาหุ้น บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นปี นักลงทุนประเภทนี้จึงต้องใจเย็น อดทนรอคอยเป็น มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับความผันผวนระยะสั้น

Tips : ข้อควรรู้ของสไตล์ปัจจัยพื้นฐาน
  • ศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้น ทั้งปัจจัยเชิงคุณภาพ เช่น ความได้เปรียบในการแข่งขัน แนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการ และความสามารถของผู้บริหาร รวมไปถึงศึกษาปัจจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ งบการเงิน (งบกำไรขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด) อัตราส่วนทางการเงิน (Profit Margin, ROE, D/E, P/E Ratio) เป็นต้น

 

  • ติดตาม ตรวจสอบ ฐานะทางการเงิน และประเมินผลการดำเนินงาน หากพบว่าหุ้นที่ลงทุน ทำผลงานไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ รายได้ลด กำไรลด ปันผลลด ซึ่งอาจเกิดจากกิจการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้คู่แข่ง ตลาดโดยรวมหดตัว หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร อาจต้องพิจารณาขายหุ้นออกไป

 

  • ไม่ยึดติด หลงรักกับตัวหุ้น เมื่อถึงจุดที่สมควรขายหุ้น ก็ต้องขาย ซึ่งกฎการขายง่ายๆ มี 3 ข้อ
    • ขายเมื่อราคาหุ้น Overvalue (แพงเกินมูลค่าที่แท้จริง)
    • ขายเมื่อดูปัจจัยพื้นฐานของบริษัทผิดหรือปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลง (Fundamental Change)
    • ขายเมื่อเจอหุ้นตัวใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า นั่นคือ การขายเพื่อเปลี่ยนตัวถือ

นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี กิจการมั่นคง ที่ราคาคุ้มค่า ราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง ตัดสินใจซื้อโดยใช้การประเมินมูลค่า (Valuation) เรียกกลุ่มนี้ว่า “นักลงทุนวีไอ” (Value Investor) หรือนักลงทุนในหุ้นคุณค่า

 

อีกกลุ่ม คือ นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานที่เน้นลงทุนหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตดี กิจการมี Growth Story ที่ชัดเจน เช่น ขยายสาขา เข้าสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งราคาอาจดูแล้ว “ไม่ถูก” นัก โดยมักจะมีค่า P/E Ratio ที่ค่อนข้างสูง ตัดสินใจซื้อที่ Growth Potential เรียกกลุ่มนี้ว่า “นักลงทุนจีไอ” (Growth Investing) หรือนักลงทุนในหุ้นเติบโต

 

 

  1. นักลงทุนแนวโมเมนตั้ม (Momentum Investor : MI)

 

เป็นนักลงทุนที่ลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นของตลาด มักจะเกาะกระแสฟันด์โฟลว์ (Fund Flow) พูดง่ายๆ คือ ลงทุนตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า โดยส่วนหนึ่งสังเกตได้จากยอดซื้อสุทธิของต่างชาติ และอาจใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจมาช่วยในการวิเคราะห์

Tips : ข้อควรรู้ของสไตล์โมเมนตั้ม
  • มองภาพ Global Economics เป็นภาพการลงทุนใหญ่ หากปัจจัยเป็นบวก ก็จะมาดูภาพของประเทศที่จะลงทุน (เช่น ประเทศไทย) หากมีทิศทางที่ดี กระแสเงินนักลงทุนต่างชาติไหลเข้า ก็จะยิ่งมีความน่าสนใจลงทุน
  • มองหาอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในช่วงเวลานั้น หรือ Sector ที่กระแส Fund Flow จะไหลเข้า
  • มองหาหุ้นที่โดดเด่นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เลือกไว้ และวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่จะลงทุน  

การลงทุนสไตล์ตามกระแสโมเมนตั้ม ถือเป็นการลงทุนที่นักลงทุนต้องมีความยืดหยุ่น เพราะหากวิเคราะห์ทุกอย่างไว้อย่างดีแล้ว แต่ตลาดไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ เช่น ไม่อยู่ในภาวะตลาดขาขึ้น เพราะ Fund Flow ต่างชาติกลับทางเป็นไหลออกไปเรื่อยๆ ทำให้ตลาดเสียโมเมนตั้ม นักลงทุนแบบ MI จะตัดสินใจขาย เพราะตลาดไม่มีแรงส่ง ไร้โมเมนตั้ม ทำกำไรได้ยาก นักลงทุนแนวโมเมนตั้มมักจะถือคติ “ไม่ถือยาว ไม่ยอมติดหุ้น” จึงต้องมีจุดตัดขาดทุน (Cut Loss) ไว้ด้วย

 

 

  1. นักลงทุนแนวเทคนิค (Technical)

 

เป็นนักลงทุนที่สนใจพฤติกรรมราคาของหุ้น โดยเฉพาะกราฟราคาหุ้น (Chart) โดยจะอาศัยข้อมูลราคาหุ้นในอดีต ปริมาณการซื้อขาย พร้อมทั้งใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคและอินดิเคเตอร์ (Indicator) ต่างๆ ในการทำนายทิศทางราคาหุ้น โดยจะมีความเชื่ออยู่หลายประการ เช่น

Tips : ความเชื่อสายเทคนิค
  • เชื่อว่าหุ้นที่วิเคราะห์ได้ควรจะต้องมีเทรนด์ (Trend) และมีปริมาณการซื้อขาย (Volume) สนับสนุน
  • เชื่อว่าราคาที่ปรากฏได้สะท้อนปัจจัยทุกอย่างทั้งหมดแล้ว (Price Discount Everything)
  • เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะย้อนรอยตัวเองเสมอ (History Tends to Repeat Itself)
  • เชื่อว่าราคาหุ้นขึ้นลงเป็นรอบ

นักลงทุนแนวเทคนิคจะมีเรื่องให้คุยกันได้ทุกวัน เพราะราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนจะเป็นไปตามสัญญาณทางเทคนิค มีการกำหนดจุดเข้าซื้อและจุดขายออกอย่างมีวินัย เรียกได้ว่า... จิตใจของนักลงทุนสายเทคนิคคอลนั้นจะต้องเข้มแข็ง เมื่อสัญญาณทางเทคนิคบอกว่าซื้อก็ต้องซื้อ บอกขายก็ต้องขาย ถึงจุดตัดขาดทุนก็ต้องทำ ถึงจุด Let Profit Run ก็ทนรวยให้ได้ สรุปคือ ต้องอาศัยการรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด

 

 

เทคนิคการลงทุน 3 แบบ 3 สไตล์นี้ มีทั้งนักลงทุนรายย่อยและมืออาชีพที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย การเลือกสไตล์การลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง นอกจากจะทำให้การลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังทำให้ลงทุนได้อย่างมีความสุข เพราะได้ลงทุนในสไตล์ที่ตัวเองถนัด

 

 

สำหรับใครที่สนใจอยากค้นพบสไตล์การลงทุนในแบบฉบับของตนเอง รวมไปถึงคนที่อยากติดอาวุธการลงทุน อยากเลือกหุ้นเป็น เทรดหุ้นได้  สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนนักลงทุน 24 ชั่วโมง : มือใหม่ลงทุนหุ้น” ฟรี! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: