ในโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยการค้าระหว่างประเทศ การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอย่างแคนาดา เม็กซิโก และจีนเท่านั้น แต่ยังสร้างคลื่นกระเพื่อมไปทั่วระบบเศรษฐกิจโลก
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา เปรียบเสมือนการจุดชนวนระเบิดลูกใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลก โดยสถาบันวิจัย Oxford Economics มหาวิยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเมินตัวเลขการเติบโตของ GDP สหรัฐสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะลดลง 0.7% แต่ก็เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ในขณะที่แรงกระเพื่อมลูกใหญ่กำลังก่อตัวใต้ผิวน้ำ การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในแคนาดาและเม็กซิโกสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานในยุคที่ห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกันทั่วโลก
อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลพวงโดยตรงจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ นักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยสำนักข่าว CNBC รายงานบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Volkswagen และ Stellantis ไม่เพียงต้องเผชิญกับการลดลงของรายได้ แต่ยังต้องทบทวนกลยุทธ์การผลิตและห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ
ขณะที่ภาคพลังงาน ข้อมูลจากสำนักข่าว Americas Quarterly ประเมินว่ามูลค่าการค้าที่เสี่ยงสูงถึง 165 พันล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของความมั่นคงด้านพลังงานในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมซึ่งมีมูลค่าการค้าที่เสี่ยง 98 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ข้อมูลจากธนาคารโลก มองว่าแนวคิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพันธมิตร (Friend-shoring) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น บริษัทข้ามชาติจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานมากกว่าการแสวงหาต้นทุนที่ต่ำที่สุด
อีกทั้ง การย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาดมากขึ้น (Near-shoring) กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดความเสี่ยง แม้ว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการตัดสินใจทางธุรกิจ การปรับโครงสร้างเหล่านี้กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การผลิตโลกครั้งใหญ่
อนาคตของการค้าโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ที่มาพร้อมกับความท้าทายและโอกาส การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าไม่เพียงส่งผลต่อรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังนำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ เริ่มจับกลุ่มทางการค้าใหม่ โดยคำนึงถึงความมั่นคงและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและ e-Commerce กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้ง การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทวีความเข้มข้นขึ้น การกำกับดูแลการค้าดิจิทัลและการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นประเด็นท้าทายใหม่ที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันหาทางออก
หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นในทันที
มาตรการภาษีนำเข้าไม่เพียงส่งผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ทั้งการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ประเทศและการรักษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่นกันนักลงทุนต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!