7 เช็กลิสต์ คัดหุ้นเด่นพื้นฐานดี

โดย ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
3 กุมภาพันธ์ 2568
1.766k views
Thumbnail SET ESG_7 เช็กลิสต์ คัดหุ้นเด่นพื้นฐานดี
Highlights
  • การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) เป็นรากฐานสำคัญของการทำธุรกิจ ช่วยให้องค์กรมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับความเสี่ยงและปรับตัวได้ดี

  • บริษัทที่มี Governance ที่ดี มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่โดดเด่นในระยะยาว

  • นักลงทุนสามารถใช้ 7 เช็กลิสต์ในการคัดกรองหุ้นที่มี Governance ที่ดี และค้นหาข้อมูลได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น แบบ 56-1 One Report หรือเว็บไซต์ SETSMART

Governance: รากฐานสำคัญสู่การเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ

การกำกับดูแลกิจการ หรือ Governance (G) คือ ความสัมพันธ์ในเชิงกำกับดูแล รวมถึงกลไกมาตรการที่ใช้กำกับการตัดสินใจของคนในองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุุประสงค์ เป้าหมาย และทิศทางขององค์กรตามวัตถุประสงค์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ มีระบบตรวจสอบการดำเนินงานที่ชัดเจน แม้หลายคนมองว่าเป็นเพียงการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริต แต่ในปัจจุบัน การกำกับดูแลกิจการมีบทบาทมากขึ้นและเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว


การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร และดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ การกำกับดูแลกิจการที่ดียังครอบคลุมถึงการควบคุม การตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง และการถ่วงดุลไปพร้อมกัน ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ธุรกิจที่มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเปรียบเสมือนมีรากฐานโครงสร้างที่มั่นคง สามารถบริหารความเสี่ยงและปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายศักยภาพในการเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และสังคม (S) กำลังมีบทบาทต่อการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน จนกลายเป็นกติกาใหม่ในเวทีการค้าโลก

CG

“การมีรากฐานของบรรษัทภิบาลที่มั่นคง ช่วยให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นไปด้วยดี รวมถึงส่งเสริมให้ธุรกิจโดยรวมสามารถทำกำไรและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

- ดร.ดิเรก เกศวการณุย์ Managing Partner และ Office Head, Bain & Company Thailand -

หุ้น Governance ดี: มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน?

บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีแนวโน้มที่จะสร้างผลการดำเนินงานทางการเงินที่โดดเด่นได้ในระยะยาว โดยมักมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset: ROA) สูงกว่าบริษัทที่มีปัญหาด้านการกำกับดูแลกิจการ เพราะมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวม (Total Shareholder Return: TSR) ได้ดีกว่าและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) สูงกว่า เพราะสามารถปรับตัวได้ดีในภาวะเศรษฐกิจผันผวนและมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี

CG return 2

บทวิจัยจาก Financial Analysts Journal ระบุว่า ในช่วงปี 2009-2017 หากเราลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยแบ่งเป็นพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นที่มีคะแนนการกำกับดูแลกิจการ (G) สูง เทียบกับพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นที่มีคะแนน G ต่ำ พบว่าพอร์ตหุ้นที่มีคะแนน G สูงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ JUST Capital ที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงวิกฤต Covid-19 ปี 2020 การลงทุนในหุ้นที่มีคะแนน G สูงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นที่มีคะแนน G ต่ำ

cg return

7 เช็กลิสต์ ค้นหาหุ้นเด่น Governance ดี

เช็กลิสต์คัดกรองหุ้นเด่น Governance ดีจาก “Bain’s 7 question framework for evaluating your company’s Corporate Governance

  1. คณะกรรมการมีความหลากหลายช่วยให้ตัดสินใจได้รอบด้าน
    บอร์ดที่มีความหลากหลายทั้งในด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ และประสบการณ์ ช่วยให้มีมุมมองที่หลากหลายในการตัดสินใจ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น บริษัท TSMC ที่มีกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเงิน การศึกษาวิจัยและพัฒนา และการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก
  2. บูรณาการ ESG เข้ากับ DNA องค์กร
    โดยผนวก ESG เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์หลักขององค์กร รวมถึงการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่แค่การทำเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น บริษัท Nike ที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบรีไซเคิล การลดการปล่อยคาร์บอน ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลก
  3. มีวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นนวัตกรรมและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
    องค์กรสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดนอกกรอบและนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เช่น บริษัท 3M อนุญาตให้พนักงานใช้เวลา 15% จากเวลางานทั้งหมด ไปทดลองสร้างสรรค์อะไรก็ได้ที่มีความสนใจ โดยที่บริษัทจะสนับสนุนเครื่องมืออย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน เปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพ
  4. กำหนด KPI ด้านความยั่งยืนให้คณะกรรมการและผู้บริหาร
    ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับผลตอบแทนของบอร์ดและผู้บริหารระดับสูง เช่น บริษัท Ørsted ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ภายในปี 2030 โดยผูกเป้าหมายกับโบนัสของบอร์ดและผู้บริหาร ทำให้สามารถเปลี่ยนธุรกิจหลัก จากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 10 ปี
  5. ประเมินความเสี่ยงได้ พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ 
    จากการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทต้องมีการประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะวิกฤต เช่น บริษัท ASML มีระบบการประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานอย่างสม่ำเสมอ เป็นผลให้สามารถรับมือกับวิกฤตการขาดแคลนชิปและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 ในขณะที่หลายบริษัทไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้
  6. พัฒนาศักยภาพกรรมการอย่างต่อเนื่อง
    บอร์ดจำเป็นต้องได้รับความรู้และอัพเดทเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารความเสี่ยงใหม่ ๆ (Emerging Risks) และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น บริษัท NVIDIA ส่งเสริมให้บอร์ดเข้าใจเทคโนโลยี AI อย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ด้าน AI ได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การเป็นผู้นำในตลาด AI Chip
  7. วางแผนสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน
    เพื่อให้บริษัทมีความต่อเนื่องในการบริหารจัดการและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำ บริษัทจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ เช่น บริษัท Apple ที่มีการวางแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจาก Steve Jobs สู่ Tim Cook ที่ใช้เวลาเตรียมการกว่า 10 ปี ด้วยการให้ Cook เข้ามาเรียนรู้งานในตำแหน่ง COO ก่อน ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรและต่อยอดความสำเร็จ จนทำให้ Apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก

นักลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลการกำกับดูแลกิจการของหุ้นเพื่อตอบ 7 เช็กลิสต์ได้จากหลายแหล่ง เช่น เว็บไซต์ของบริษัท แบบ 56-1 One Report (หัวข้อ "การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน" และ "การกำกับดูแลกิจการ") เว็บไซต์ SETSMART (เมนู "ข้อมูล ESG”) ดังรูป

  • ข้อมูลการบริหารความเสี่ยง ช่วยให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนได้แม่นยำขึ้น และมั่นใจได้ว่าบริษัทมาตรการจัดการความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
SETSMART 1
  • ข้อมูลความหลากหลายของคณะกรรมการ ช่วยให้นักลงทุนประเมินศักยภาพของบอร์ดในการนำพาองค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
SETSMART cg 2
  • ข้อมูลการพัฒนาความรู้กรรมการ ทำให้นักลงทุนเห็นความพร้อมของบอร์ดในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
SETSMART cg 3

การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ไม่เพียงเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้ในระยะยาว แต่ยังสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยนักลงทุนสามารถใช้ 7 เช็กลิสต์ในการคัดเลือกหุ้นที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น แบบ 56-1 One Report หรือเว็บไซต์ SETSMART เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

info_7 เช็กลิสต์หุ้นเด่น พื้นฐานดี

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: SET ESG Professionals Forum 2024

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


e-Learning น่าเรียน

e-Learning น่าเรียน