กำไรต้องเก็บ ขาดทุนต้องตัด

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
36.892k views
TSI_Article_063_Inv_Thumbnail
Highlights
  • อย่ากลัวที่จะขาดทุน แต่จงกลัวที่จะขาดทุนหนัก

  • เข้าใจและเลือกใช้วิธีการ Stop Loss อย่างรอบคอบ เพราะแต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ควรศึกษาอย่างละเอียดและควรวางแผนการลงทุนไว้ล่วงหน้า

  • ใช้ Settrade Conditional Order เป็นตัวช่วยในการตั้งคำสั่ง Take Profit และ Cut Loss ล่วงหน้าบน Settrade Streaming

จากสถิติการลงทุนในตลาดหุ้น ว่ากันว่า... มีนักลงทุนเพียง 20% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ที่เหลืออีก 80% ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยัง “ขาดทุนหนัก” อีกต่างหาก ... คำถามที่ตามมา คือ แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงขาดทุน?


เหตุผลสำคัญที่น่าจะเหมือนกันทั่วโลก คือ คนส่วนใหญ่ เน้นทำกำไรเร็ว ได้กำไรเพียง 2% - 3% ก็ขาย แต่เวลาขาดทุน กลับคิดว่าไม่ขายไม่ขาดทุน ปล่อยให้ขาดทุนลึกลงไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจำกัดการขาดทุน ที่ถูกวิธี



กราฟแสดงผลขาดทุนครั้งแรก
VS กำไรที่ต้องทำเพื่อให้กลับมาเท่าทุน

TSI_Article_063_Inv_กำไรต้องเก็บ ขาดทุนต้องตัด_01

จากกราฟนี้จะบอกว่า... ถ้าเราเริ่มต้นลงทุนและขาดทุน จะต้องหาผลตอบแทนให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์เพื่อให้กลับมาเท่าทุน สมมติลงทุนไป 100 บาท ขาดทุน 10% เหลือเงินอยู่ 90 บาท จะทำให้เงิน 90 บาท กลับไปที่ 100 บาท เราต้องได้ผลตอบแทน 11% ไม่ใช่แค่ 10% แต่ถ้าเรายังปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ ลึกไปถึง 50% เราต้องทำผลตอบแทนให้ได้ถึง 100% หรือ 1 เท่า เงินทุนจึงจะกลับมาเท่าเดิม

ดังนั้น เราจึงต้องหยุดขาดทุนให้เป็น และคิดไว้เสมอว่าการลงทุนในหุ้นเปรียบเหมือนการทำธุรกิจ ผลขาดทุน คือ ต้นทุนที่ต้องจ่าย ซึ่งวิธีที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ทำให้ต้นทุนเราต่ำที่สุด


“อย่ากลัวที่จะขาดทุน แต่จงกลัวที่จะขาดทุนหนัก”


5 เทคนิค... วางจุด “Stop Loss”


ในการกำหนดจุดหยุดขาดทุน หรือที่เรียกว่าจุด Stop Loss นั้น มีหลากหลายวิธี วันนี้เรามี 5 วิธีตั้งจุด Stop Loss มาฝาก
 

  1. Fixed Stop

เป็นการกำหนดจุด Stop Loss X% จากราคาซื้อ เช่น กำหนดไว้ว่าหากราคาหุ้นลดลง 10% จาก 100 บาท เหลือ 90 บาท จะขายทันที ซึ่งเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวเป็นค่าที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้


ข้อดี คือ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเลยก็ว่าได้ ไม่จำเป็นต้องดูกราฟหรืออะไรเลย แต่ข้อเสีย คือ หุ้นแต่ละตัวมีเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลง และเปอร์เซ็นต์ความผันผวนที่ต่างกันออกไป เช่น หุ้น XYZ มีความผันผวนอยู่ที่ 15% การตั้ง Stop Loss ไว้ที่ 10% อาจทำให้ต้องตัดขาดทุนโดยไม่จำเป็น

  1. Trailing Stop

เป็นการกำหนดจุด Stop Loss ไว้ที่ X% จากราคาสูงสุด ซึ่งอาจทำให้จุด Stop Loss เลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจสูงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อหุ้นนั้นมา ซึ่งจะช่วยปกป้องกำไรได้บางส่วน เช่น ถ้าซื้อหุ้นมา 100 บาท แต่ราคาค่อยๆ ปรับขึ้นไปเป็น 150 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุด หากเรากำหนด Stop Loss ไว้ที่ 10% จาก 150 บาท ก็คือ 15 บาท จากนั้นเอา 150 บาท ลบด้วย 15 บาท จะเหลือ 135 บาท ดังนั้น ถ้าหากราคาหุ้นลงมาที่ 135 บาท จะขาย จะไม่ปล่อยให้ราคาหุ้นลงไปถึง 90 บาท แล้วค่อยขาย ซึ่งไม่มีกำไร

  1. Indicator Stop

เป็นการกำหนดจุด Stop Loss ที่อ้างอิงจาก Technical Indicator ส่งผลให้ Stop Loss แต่ละครั้งจะมี X% ของผลขาดทุนที่ต่างกัน เช่น เมื่อราคาต่ำกว่าเส้น Moving Average 10 วัน แล้วไม่เด้งกลับ จะขายทันที หรือจะใช้เส้น 50 วัน 200 วัน รวมถึงใช้ RSI เป็นตัวกำหนดก็ได้ แล้วแต่ความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน

  1. Chart Stop

เป็นการตั้ง Stop Loss ตามสิ่งที่กราฟบอก โดยจะทำการวิเคราะห์ Chart Pattern เพื่อดูจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดเดิม จากนั้นจึงนำมาหาแนวรับและกำหนดจุด Stop Loss เป็น X% จากแนวรับนั้น หากราคาหลุดแนวรับเมื่อไรก็ Stop Loss ได้ทันที วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ด้าน Technical ประมาณหนึ่ง


ข้อควรระวัง คือ จุด Stop Loss ของวิธีการนี้จะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและราคาของหุ้นแต่ละตัว ทำให้บางครั้งเกิดสัญญาณหลอกได้

  1. Time Stop

เป็นการกำหนดจุด Stop Loss จากระยะเวลาที่ต้องการถือหุ้น ถ้าเกินระยะเวลาดังกล่าวจะขายหุ้นตัวนั้นทันที เช่น ซื้อหุ้นตัวหนึ่ง เพราะคิดว่าผลประกอบการน่าจะดี และวันที่ประกาศผลประกอบการก็ออกมาดี แต่ราคาหุ้นไม่ขึ้น ก็ควรจะขาย เพราะสิ่งที่คิดได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ราคาหุ้นกลับไม่สะท้อนตาม หรือคนที่มีกลยุทธ์แบบ Technical ถ้าราคา Break ที่ High เดิม ปกติหุ้นควรจะวิ่ง แต่หุ้นตัวนี้ไม่วิ่ง หากในระยะเวลา 5 - 10 วัน ถ้าหุ้นยังไม่วิ่งก็ควรขายและนำเงินไปลงทุนหุ้นตัวอื่นต่อ

วิธีนี้จะเหมาะกับการเล่นหุ้นระยะสั้น หรือแบบ Day Trade ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ค่อนข้างแน่นอน


การตั้ง Stop Loss ทั้ง 5 วิธีนี้ สามารถนำมาใช้ประกอบกันได้ แต่ละคนต้องค้นหาด้วยตัวเองว่าเราชอบหรือถนัดใช้วิธีใดมากที่สุด สิ่งสำคัญ คือ ทำความเข้าใจและเลือกใช้วิธีการ Stop Loss อย่างรอบคอบ เพราะแต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ควรศึกษาอย่างละเอียดและควรวางแผนการลงทุนไว้ล่วงหน้า

TSI_Article_063_Inv_กำไรต้องเก็บ ขาดทุนต้องตัด_02

แต่สำหรับใครที่เป็นมือใหม่มากๆ ไม่รู้จะตั้งจุด Stop Loss อย่างไรดี อยากได้ตัวช่วยเจ๋งๆ ปัจจุบัน Settrade Streaming มีฟังก์ชันที่ชื่อว่า “Settrade Conditional Order” ที่สามารถตั้งคำสั่งเพื่อ Take Profit หรือ Cut Loss ไว้ล่วงหน้า เมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นจริง บอกลาปัญหานั่งเฝ้าหน้าจอไปเลย ดูรายละเอียดเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่


การหยุดขาดทุน... จำเป็นต้องขายทั้งหมดเลยหรือไม่?


การหยุดขาดทุนไม่จำเป็นต้องขายทั้งหมดทีเดียว แต่เราสามารถทยอยขายออกมาบางส่วน หรือที่เรียกว่า Scale Out ได้ เช่น เรามีหุ้นทั้งหมด 1,000 หุ้น เวลาขายอาจใช้ Stop Loss ไม้ที่ 1 ขายไปก่อน 500 หุ้น ที่เหลืออีก 300 หุ้นก็ใช้ Stop Loss ไม้ที่ 2 และอีก 200 หุ้นก็ใช้ Stop Loss ไม้ที่ 3 ทยอยขายจนหมด


กรณีหุ้นที่ถือมีจำนวนหุ้นเยอะและมีกำไรดี เราควรทยอยขายออกมาเพื่อเก็บกำไรบางส่วนไว้ในกระเป๋าก่อน นอกจากจะสบายใจแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้นๆ ที่มีอยู่ในพอร์ตได้ แม้หลายคนอาจมองว่ามีกำไรอยู่ ก็ควรถือยาวสิ การถือยาวในที่นี้หมายถึงถือไปถึงจุดที่เราวางแผนไว้ ไม่ใช่ถือไปเรื่อยๆ ต้องวางแผนว่าถึงจุดใดจะขาย มีแผนและมีวินัย


แต่กรณีที่หุ้นที่ถืออยู่ขาดทุนและคิดว่าหุ้นตัวนั้นไม่สมควรถือแล้ว ควรจะ Stop Loss ขายทั้งหมดทันที ไม่ควรทยอยขาย


ฝากทิ้งท้ายเอาไว้... ถ้าอยากอยู่รอดและประสบความสำเร็จในการลงทุน การหยุดขาดทุนเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ การขาดทุนไม่ได้เป็นจุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนอย่างมีวินัย!!


บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากหลักสูตร ห้องเรียนนักลงทุนภาคพิเศษ ตอนที่ 4 "บทเรียนสอนใจ : กำไรต้องเก็บ ขาดทุนต้องตัด" ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเนื้อหาแบบเต็มๆ >> คลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: