ปิดโชคร้าย ต้องกระจายการลงทุน

โดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
5 Min Read
25 ธันวาคม 2567
4.082k views
eiliminate unfortunable Final-01
In Focus

วิธีการปิดโชคร้ายสุดขีดแบบนี้ได้ด้วยการกระจายการลงทุน ซึ่งดีที่สุดคือการกระจายระดับประเภทสินทรัพย์การลงทุน (Asset Allocation) และรองลงมาคือการกระจายภายในประเภทสินทรัพย์ ศึกษารายละเอียดได้ในบทความนี้เลย!

          ทุกคนที่ลงทุนกันมานาน คงจะเคยผ่านเหตุการณ์ช่วงที่ราคาหุ้น ทอง หรือกองทุนของเรากำไรขึ้นแรง ช่วงราคาทรง ๆ ทำให้เซ็ง ๆ และช่วงที่ราคาตกต่ำกันมาแล้วทุกคน ช่วงที่เรากำไรดี คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในทางตรงข้าม ช่วงที่ขาดทุน แทบทุกคนก็จะเครียดและทุกข์ร้อนใจ และถ้าหากเป็นกรณีหุ้นของคนอื่นขึ้นกันทั้งนั้นแต่หุ้นของเราดันลง  แบบนี้จะทุกข์ระทมเป็นที่สุด แล้วที่แย่สุด ๆ คือตอนที่ทุกข์ระทมมาเป็นปีหรือหลายปี จนรู้สึกทนทุกข์ไม่ไหวแล้ว  หรือตกผลึกความคิดแล้วว่าหุ้นของเรามันหมดอนาคตจริง ๆ ก็เลยขายทิ้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน หุ้นของเรากลับวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แบบเดียวกับหุ้นไทยและหุ้นจีนในไตรมาส 3 ปี 2567

 

          ที่จริงนั้น มีวิธีการปิดโชคร้ายสุดขีดแบบนี้ได้ด้วยการกระจายการลงทุน ซึ่งดีที่สุดคือการกระจายระดับประเภทสินทรัพย์การลงทุน (Asset Allocation) และรองลงมาคือการกระจายภายในประเภทสินทรัพย์ เช่น ในพอร์ตหุ้นไทยก็ให้กระจายลงทุนในหลายธุรกิจที่พิจารณาไตร่ตรองมาแล้วว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ดี อาจมีนักลงทุนบางคนโต้แย้งแนวคิดของการกระจายการลงทุนว่า มันปิดโชคร้ายก็จริง แต่ก็จะทำให้โอกาสร่ำรวยสุดขีดหายไปด้วย โดยเขาอาจคิดว่า ถ้าเราเลือกได้ถูกต้องแม่นยำ ก็ควรจะเน้น ๆ ไปที่เดียวหรือหุ้นเดียวจะดีที่สุด ซึ่งประเด็นถูกปิดโอกาสจะร่ำรวยสุดขีดแบบไปเจอหุ้นที่ขึ้น 2-3 เท่าตัวในเวลาไม่กี่ปีก็อาจจะจริง แต่คำถาม คือ มีหุ้นกี่ตัวใน 900 ตัวที่จะขึ้นได้ 2-3 เท่าตัว  และจะมั่นใจอย่างไรว่าเราจะคาดถูกเป๊ะ ๆ ถึงขนาดทุ่มไปที่ตัวเดียว ซึ่งจากเหตุการณ์จริง นักลงทุนหลายคนไปลงทุนตามที่บรรดาเซียนลงทุนสอนหรือแนะนำเอาไว้ ก็มีหลายครั้งที่กลับขาดทุนด้วยซ้ำไป กลายเป็นระทมทุกข์หนักกว่าเดิมเพราะตั้งความคาดหวังไว้สูงมาก

 

          การกระจายการลงทุนนั้น ปิดโอกาสโชคร้ายสุดขีดและปิดโอกาสโชคดีสุดขีดไปพร้อมกัน โดยจะทำให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนการลงทุนอันพึงจะมีมากขึ้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและจากสถิติจริง ผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (ไม่รวมตลาดล่วงหน้า) มีค่าเป็นบวก ไม่ใช่ Zero-Sum Game การกระจายการลงทุนจึงช่วยให้มีโอกาสแน่นอนมากขึ้นที่จะได้ผลตอบแทนเป็นบวก

 

          แต่กระนั้นก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนก็ยังเหลือโอกาสอยู่บ้างที่บางปีจะโชคร้ายระดับปานกลาง แต่ก็จะไม่หนักหนาเหมือนทุ่มลงทุนสินทรัพย์เดียว   และยิ่งถ้าเราจัดพอร์ตกระจายไปลงทุนสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ชั้นดี (ไม่ใช่หุ้นกู้อันดับต่ำที่จ่ายดอกเบี้ยสูง) ให้มากหน่อย  ก็จะยิ่งทำให้โอกาสขาดทุนลดน้อยลงเสมือนปิดไปได้เลย

 

          วันนี้ขอนำตัวเลขจริงของสินทรัพย์การลงทุน 4 อย่างที่คุ้นเคยกันดี ในระยะ 7 ปีล่าสุด รวมถึงตัวเลขจากการกระจายการลงทุนหลายรูปแบบมาเปรียบเทียบให้เห็นผลตอบแทนและความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน ได้ตัวเลขตามตาราง โดยก่อนจะอ่านตาราง ผมขอชี้แจงการจัดทำข้อมูลเป็นตารางเปรียบเทียบก่อนนะครับ เพราะหากนำไปไว้หมายเหตุตอนท้าย ผู้อ่านจะไม่ทันได้อ่าน

  • ตั้งสมมติฐานว่า นี่คือเงินลงทุนที่ผู้อ่านแต่ละท่าน ได้กันเงินเผื่อการใช้จ่ายตามความจำเป็นแต่ละท่านออกไปแล้ว
  • ผมตั้งใจยืดระยะเวลาเทียบเป็น 7 ปี ไม่ใช่ 5 ปีอย่างที่นิยมทำกัน เพื่อให้ย้อนไปเห็นถึง ปีที่ทองคำให้ผลขาดทุน เพื่อป้องกันท่านผู้อ่านจะเข้าใจผิดไปว่าทองคำไม่มีปีที่ขาดทุนเลย
  • การเทียบผลตอบแทนในหุ้น ต้องรวมเงินปันผลด้วย ไม่ใช่วัดเพียงราคาหรือดัชนีหุ้นเท่านั้น
  • ไม่ได้นับรวมภาษีเงินได้ของเงินปันผลที่อาจมีหรือไม่มี หนำซ้ำหลายท่านจะได้รับประโยชน์เพิ่มจากการเครดิตภาษีแล้วแต่บุคคล
  • กรณีเลือกซื้อเป็นกองทุน จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่แตกต่างกันในแต่ละกอง ขอไม่นำมาคำนวณ
  • สำหรับปี 2567 ยังไม่ครบปี แต่ขออนุญาตสมมติว่า ดัชนีราคาหุ้น กองทุนทอง จบที่ตรงนี้ (6 ธ.ค. 2567) เป็นค่าผลตอบแทนของทั้งปี ส่วนดัชนีพันธบัตร 2 ปีไร้ความเสี่ยง ใช้ข้อมูลที่เปิดเผยถึง 23 กรกฎาคม 2567 มาคำนวณปรับค่าเทียบเท่าเป็น 1 ปี
diliminate unfortunalble-1


คุณสมบัติของสินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภทรวมทั้งข้อมูลผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงใน 7 ปีล่าสุดมีดังนี้

1. พันธบัตรรัฐบาลไทย
  • ตามทฤษฎีเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็คู่กันมากับการให้ผลตอบแทนต่ำแต่ค่อนข้างแน่นอน ส่วนในชีวิตจริง ช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา พบว่าให้ผลตอบแทน เป็นบวกน้อย ๆ มาทุกปี
  • เหมาะกับคนที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงหรือผลขาดทุนในจังหวะโชคร้ายของการลงทุน หรือผู้ที่มีระยะเวลาตั้งใจลงทุนไม่ยาวนานมาก
  • ช่องทางลงทุนในสินทรัพย์แบบนี้มีหลายทาง เช่น การไปจองซื้อพันธบัตร (ซึ่งทางปฏิบัติอาจจองไม่สำเร็จ เพราะคนจองมีมากกว่าของที่มี) การซื้อพันธบัตรเดิมผ่านช่องทางสถาบันการเงิน และการซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตร วิธีสุดท้ายนี้ น่าจะทำได้ง่ายสุด อย่างไรก็ตาม การซื้อเป็นกองทุนรวมจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน และอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นให้กับกองทุนรวมด้วย
2. หุ้นไทย
  • ผลตอบแทนย้อนหลังยืนยันความเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง โดยในช่วง 7 ปีล่าสุด มีผลขาดทุนอยู่ถึง 3 ปี มีกำไร 4 ปี ค่าเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 0.80% อันเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาย่ำแย่เกินคาด (ซึ่งหากในระยะต่อไป เศรษฐกิจดีขึ้น อัตราผลตอบแทนหุ้นไทยก็จะดีขึ้นด้วย) อย่างไรก็ตามปีที่ดีที่สุด มีกำไรถึง 17.67% แต่ปีที่แย่สุด ขาดทุน 12.66%
  • การจะลงทุนในหุ้นไทยมีทางเลือกให้ลงทุนหลากหลาย ทั้งในแบบเลือกลงทุนเป็นรายตัว โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญก็จะแนะนำให้มีการกระจายไปในหลายหุ้นหลายธุรกิจที่มีอนาคตที่ดี โดยเราสามารถใช้บริการบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์มาประกอบการคัดเลือกหุ้น นอกจากนั้น เรายังมีทางเลือกไปลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นหุ้นไทยแบบผู้จัดการกองทุนเลือกให้ (Active Fund) กองทุนรวมแบบลงตามน้ำหนักในดัชนี เช่น SET 50 (Passive Fund) ซึ่งแบบลงตามดัชนีนี้จะถูกคิดค่าธรรมเนียมบริหารกองทุนน้อยกว่า โดยผลงานจะใกล้กับดัชนี แต่ก็มีข้อเสียเล็กน้อยตรงที่ไม่สามารถตัดหุ้นที่เราไม่ชอบที่อยู่ในดัชนีออกไป
  • เหมาะกับคนที่มีความมั่นใจสูงพร้อมรับความเสี่ยงหรือรับผลขาดทุนในจังหวะโชคร้ายของการลงทุน และน่าจะต้องมั่นใจในทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจไทยว่าจะดีกว่า สภาพ 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาเติบโตดีขึ้น มี Fund Flow จากต่างประเทศ หรือ หากมีการส่งเสริมการลงทุนกองทุนใหม่ ๆ ในประเทศก็ตาม ก็อาจช่วยให้หุ้นไทยทำผลตอบแทนที่ดีขึ้นมาได้
  • หุ้นที่น่าสนใจ เช่น หุ้นบริษัทชั้นนำที่มีนักวิเคราะห์เขียนบทวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐานและแนะนำว่าดี มีปันผลสูงสม่ำเสมอ ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่คำนวณทางการเงิน (รายละเอียดดูได้ทาง IAA Consensus ที่เว็บไซต์ www.settrade.com)
  • กองทุนหุ้นที่น่าสนใจ เช่น กอง SET50 ส่วนท่านที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษี และลงทุนได้นานก็ควรเลือกลงในกองประหยัดภาษี มีทั้งกองทุน ThaiESG กองทุน RMF ประเภทกองหุ้น
3. หุ้นสหรัฐฯ
  • หุ้นในต่างประเทศที่เป็นทางเลือกให้แบ่งเงินไปลงทุน มีหลากหลายประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงและศักยภาพการสร้างความมั่นใจ สร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกัน แต่ประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด และสร้างผลงานตอบแทนผู้ลงทุนได้อย่างน่าประทับใจมาเนือง ๆ ก็เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นที่มาของการหยิบมาเขียนในบทความนี้
  • แน่นอนว่าตามลักษณะและตามตำรา หุ้นต่างประเทศ มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะนอกจากจะผันผวนไม่แน่นอนตามลักษณะของสินทรัพย์ประเภทหุ้นแล้ว คนลงทุนไทยยังต้องมีความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่เทียบกับเงินประเทศที่เราไปลงทุน อย่างไรก็ตาม บทความนี้ได้หยิบยกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกามาพิจารณา  เป็นตลาดชั้นนำของโลกที่ผ่านการพัฒนามาไกลแล้ว  จึงน่าจะมีระดับความเสี่ยงน้อยกว่าตลาดหลักทรัพย์ในหลาย ๆ ประเทศที่คนไทยไปลงทุนกัน
  • เหมาะกับคนที่มีความมั่นใจสูงมาก พร้อมที่จะรับความเสี่ยงหรือรับผลขาดทุนในจังหวะโชคร้ายของการลงทุนได้
  • ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แม้โลกใบนี้จะผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มาหลายเรื่อง แต่หุ้นสหรัฐอเมริกานี้ก็ยังคงมีผลงานเฉลี่ยที่ดี เห็นได้จากตัวเลขรายปีตามตารางมีขาดทุนเพียง 2 ปี เทียบกับปีที่มีกำไร 5 ปี ได้ค่าเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 15.69 % โดยมีค่าความผันผวนรุนแรง กล่าวคือ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปีที่กำไรสูงสุดมากถึง 44.24% แต่ปีที่แย่สุด ขาดทุนถึง 15.43%
  • ช่องทางลงทุนที่สะดวกและช่วยกระจายความเสี่ยงของการเลือกหุ้น คือ การเลือกซื้อกองทุนรวมที่มีหลากหลายประเภท และหลากหลาย Theme การลงทุน เช่น กองทุนแบบผู้จัดการกองทุนใช้ฝีมือเลือกหุ้นให้ (Active Fund) ซึ่งก็จะมีการคิดค่าฝีมือในการบริหารจัดการมากหน่อย เช่น 1.5-2.0% ต่อปี กองทุนที่ใส่เงินลงทุนเกาะไปกับดัชนี (Passive Fund) เช่น S&P 500 แบบนี้ก็จะมีค่าบริหารกองทุนน้อยกว่ามาก อาจจะ 0.5-0.6% ต่อปี  เราสามารถซื้อขายกองทุนเหล่านี้ผ่านธนาคารต่าง ๆ หรือซื้อกับบริษัทจัดการกองทุนโดยตรงได้ นอกจากนั้น ยังมีวิธีที่สะดวกสำหรับคนที่เล่นหุ้นไทยอยู่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีหลักทรัพย์ประเภท DRx (ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ) ที่อิงกับหุ้นชั้นนำหลายบริษัทในตลาดสหรัฐอเมริกาให้เลือกลงทุน เช่น Tesla Google Apple Starbucks ฯลฯ
4. ทองคำ
  • ที่จริงน่าจะเรียกได้ว่าเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่คนไทยเราคุ้นเคยที่สุด ในอดีตมักจะเป็นการซื้อสร้อยทองรูปพรรณ ซึ่งจะเสียค่ากำเหน็จเพิ่มเติมค่อนข้างสูง ในช่วงต่อมา จึงเริ่มนิยมซื้อลงทุนเป็นทองคำแท่ง ซึ่งจะมีส่วนต่างราคาซื้อกับขายเพียงประมาณ 100 บาทต่อบาททองคำ ทำให้เหมาะกับการลงทุนมากขึ้น เพราะกำไรไม่วิ่นแหว่งไปกับค่ากำเหน็จ อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการของธุรกิจตลาดทุน เราจึงมีทางเลือกลงทุนในทองคำอีกหลายทาง เช่น การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าทองคำในตลาดล่วงหน้า หรือ TFEX ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การซื้อกองทุนทองคำ ของ บลจ. ต่าง ๆ ผ่านธนาคาร หรือซื้อโดยตรงกับ บลจ. นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ยังมีหลักทรัพย์ประเภท ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ที่ลงทุนในทองคำ ให้เลือกลงทุนอีกด้วย 
  • จากการศึกษาข้อมูลตามบทความนี้ ได้นำราคาปิดสิ้นปีของทองคำในประเทศในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าได้ให้ความประทับใจกับผู้ลงทุน โดยมีกำไร 6 ปี และให้ขาดทุน 1 ปี  ปีที่ดีที่สุดให้กำไรถึง 26.30% แต่ให้ขาดทุน 1 ปี ที่ตัวเลข -1.74%  รวมได้ค่าเฉลี่ยต่อปีที่ 11.74 % ต่อปี  อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้ศึกษาตัวเลขของราคาทองคำในอดีตย้อนไปยาวนานขึ้น พบว่าอัตราส่วนของปีที่ขาดทุนจะสูงกว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงปี 2546-2548 มีการขาดทุนติดต่อกัน โดยปี 2546 ขาดทุนถึง 22% และให้ขาดทุนต่ออีก 2 ปี ปีละ 1.3 % ในปี 2547 และ 2548 เป็นต้น

พิจารณาการลงทุนเน้นอย่างเดียวกับกระจายการลงทุน

  • หากเลือกลงทุนเพียงอย่างเดียวแบบเน้น ๆ สินทรัพย์หุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ให้กำไรในรายปีสูงที่สุดในปี 2564 ที่ 44.24% อันดับรองลงมาเป็นทองคำในปี 2567 (YTD) ที่ 26.30% ส่วนอันดับ 3 เป็นหุ้นสหรัฐฯ ปี 2566 ให้ 25.43%
  • อย่างไรก็ตาม ในยามร้ายของการทุ่มลงทุนเพียงอย่างเดียว อันดับ 1 ของปีที่แสบสัน เป็นของหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2565 ที่ให้ผลขาดทุนถึง 15.43% (โดยที่หุ้นไทยปี 2565 กลับเป็นบวกเล็กน้อย) ส่วนอันดับ 2 เป็นของตลาดหุ้นไทย ปี 2566 ที่ให้ยอดขาดทุน 12.66% ส่วนอันดับต่อ ๆ มาที่เหลือเป็นขาดทุนที่ต่ำกว่า 10 % ต่อปี
  • เมื่อกระจายหลายสินทรัพย์ สถานการณ์จะนิ่งขึ้น ไม่ผันผวนรุนแรง โดยตัวอย่างในที่นี้เป็นการกระจายง่าย ๆ โดยแบ่งเท่ากัน อย่างละ 25 % ในสินทรัพย์การลงทุนทั้ง 4 ประเภท ผลลัพธ์ได้ปีที่ให้กำไร 5 ปี และปีที่ให้ขาดทุน 2 ปี ค่าเฉลี่ยต่อปีเป็นกำไร 7.40 % ต่อปี ปีที่ดีที่สุด กำไรถึง 17.21% ซึ่งให้ความอิ่มเอิบมากพอสมควร ส่วนปีที่แสบสันที่สุด ให้ผลขาดทุนเพียง 3.43%

          สรุปแล้ว ผลทดสอบการกระจายการลงทุนแบบง่าย ประเภทสินทรัพย์ละ 25% ตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนใน 7 ปีที่ผ่านมาข้างต้น พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและช่วยลดความผันผวนลงมาได้ระดับหนึ่ง  จึงช่วยปิดโชคร้าย ไม่ให้ต้องทุกข์ระทมจากการขาดทุนหนักในบางสินทรัพย์และบางปี

          อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้สรุปว่าการทุ่มลงทุนในสินทรัพย์เดียวหรือในหุ้นเดียวเป็นสิ่งที่ผิด เพียงแต่แนวทางดังกล่าวจะเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความมั่นใจสูง พร้อมกับต้องมีภูมิต้านทานทางจิตใจสูงในยามที่ทายผิดแบบโชคร้ายสูงสุดอีกด้วย   
eliminate-unfortunable v2-2

เทคนิคการกระจายการลงทุน

  • ในการพิจารณาแบ่งน้ำหนักการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ นั้น ควรประเมินให้เหมาะสมกับ ระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ในกรณีโชคร้าย ระยะเวลาที่ตั้งใจลงทุน เป้าหมายทางการเงิน และสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดทุน เป็นต้น
  • ต้องเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของสินทรัพย์ทางการเงินในแต่ละประเภทว่าจะให้ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงก็จะพ่วงตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล จะเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นและทองคำ โดยหุ้นและทองคำจัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยงทั้งคู่ ที่ไม่ควรทุ่มลงทุนเพียงอย่างเดียว
  • หลักการกระจายสินทรัพย์การลงทุนที่ดีนั้น ควรกระจายให้กับสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งพันธบัตรของรัฐ และ/หรือหุ้นกู้ชั้นดีของบริษัทที่มีอันดับเครดิตดี หุ้นสามัญหรือกองทุนหุ้น ทั้งของไทย และกระจายแบ่งลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ  นอกจากนั้น ทองคำหรือกองทุนทองคำก็ควรเป็นอีกสินทรัพย์หนึ่งที่กระจายแบ่งไว้ในพอร์ต
  • การจะวางน้ำหนักไว้ที่ประเภทสินทรัพย์ใดมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยงของเราเป็นหลัก แนวทางกว้าง ๆ เช่น ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็ต้องมีสินทรัพย์เสี่ยงน้อยแบบตราสารหนี้ชั้นดีระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาล เป็นจำนวนที่มาก เช่น 60-80% ส่วนที่เหลือ 20-40% ก็กระจายในสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ หุ้นหรือกองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นสหรัฐฯ และทองคำ ส่วนท่านที่พร้อมรับความเสี่ยงมากพร้อมกับรับโอกาสการกำไรสูงถ้าทายถูก ก็แบ่งสัดส่วนลงในสินทรัพย์เสี่ยงน้อยแบบตราสารหนี้ชั้นดีระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาล เป็นจำนวนน้อย ๆ เช่น 30-40% แล้วเน้นลงในสินทรัพย์เสี่ยง 60-70% โดยแบ่งเน้นไปที่หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศซึ่งน่าจะเป็นกองทุนหุ้นโลกหรือหุ้นสหรัฐฯ แล้วควรเหลือพื้นที่สำหรับทองคำ ราว 10-15%
  • ในการลงทุนหุ้นนั้น หากไม่ได้เลือกเป็นกองทุน แต่อยากเลือกเป็นรายตัวเอง แนะนำให้กระจายในหลายหุ้นที่คัดเลือกจากบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานว่าดี และกระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรมที่ดี โดยน่าจะกระจายไปประมาณ 5 อุตสาหกรรมถือเป็นระดับที่เหมาะสมกับการลดโอกาสโชคร้าย และพอจะสามารถติดตามข่าวอุตสาหกรรมและรายงานงบการเงินได้
eliminate-unfortunable v2-2

เลือกตัวชี้วัดการลงทุนที่เหมาะสม

          การวัดผลการลงทุนที่ดีนั้น ต้องเลือก Benchmark หรือตัวชี้วัดผลการลงทุนเทียบกับมาตรฐานที่เหมาะสมมาใช้เทียบกับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นของสินทรัพย์การลงทุน เช่น

  • หากลงทุนในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ควรใช้เป็น Benchmark เช่น SET Total Return Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นที่รวมเงินปันผลบวกกลับเข้าไป (ขณะที่ SET Index หรือ SET50 หรือ SET100 นั้นเป็นดัชนีที่ถูกหักเงินปันผลจ่ายออกไปแล้ว) โดยสามารถดูข้อมูลได้จากทางเว็บไซต์ของ Settrade แต่หากผู้ลงทุนไม่สะดวกค้นหา SET Total Return Index แล้วจะใช้ SET Index หรือ SET50 แทน ก็อย่าลืมว่าเมื่อครบปี ต้องบวกค่าเฉลี่ยอัตราเปอร์เซ็นต์ของเงินปันผลของ SET เข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดภาพลวงตาว่า ฝีมือการลงทุนของเราชนะ SET Index บ่อยเกินจริง
  • หากลงทุนหุ้นหรือกองทุนต่างประเทศก็ควรใช้ Index ของตลาดนั้น ๆ ให้ตรงกัน โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ แบบรวมเงินปันผลด้วย ขอยกตัวอย่างตามบทความนี้ เป็นกองทุนหุ้นของสหรัฐอเมริกา เราจึงควรใช้ดัชนี S&P500 เป็น Benchmark
  • หากลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ชั้นดีของไทย ควรใช้ดัชนีตราสารหนี้ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ หรือสมาคม บลจ. จัดทำเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนไม่สะดวกค้นหา หรือไม่อยากคำนวณเปรียบเทียบให้วุ่นวาย ก็อาจจะใช้เกณฑ์ง่าย ๆ โดยดูอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะ 1 ปีของธนาคาร และแอบดูค่าประกาศเงินเฟ้อประจำปีด้วย เพื่อดูว่าผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและเงินเฟ้อหรือไม่
  • หากลงทุนในกองทุนทองคำ แน่นอนว่า Benchmark ก็คือการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำโลกหรือราคาในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 ค่าจะไม่เท่ากัน เนื่องจากราคาในไทยจะผันแปรไปตามค่าเงินบาทด้วย หากต้องเลือกก็คงต้องขอเลือก Benchmark เป็นราคาทองคำในประเทศ เพราะผู้คนรอบตัวเราเกือบทุกคนพูดถึงราคาเป็นเงินบาททั้งสิ้น นั่นจึงเป็น Benchmark ที่เข้าหูเราตลอดไม่ว่าจะเดินไปอยู่ที่ไหน
แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน