ทำไมเราต้องรู้จักหลายสินทรัพย์ลงทุน

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
3 Min Read
17 กุมภาพันธ์ 2565
4.278k views
Inv_ทำไมเราต้องรู้จักหลายสินทรัพย์ลงทุน_Thumbnail
Highlights

ในแต่ละสินทรัพย์ลงทุน ไม่มีสินทรัพย์ประเภทไหนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดติดต่อกันสม่ำเสมอ เราจึงไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนระยะสั้นได้ เพราะบางปีอาจเป็นบวก บางปีอาจติดลบ แต่หากมองในแง่ของการลงทุนระยะยาว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ การรู้จักสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย จะเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ลดความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่มีความผันผวนได้

ในโลกของการลงทุน เรามีทางเลือกในการลงทุนสินทรัพย์ที่หลากหลายและมากมายไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้เอกชน หุ้น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ หรือของสะสมต่าง ๆ (ตอนเด็ก ๆ ผมชอบสะสมและซื้อขายแสตมป์) หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ที่ผมก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสินทรัพย์ลงทุนได้ไหม เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า เราต้องรู้จักสินทรัพย์เหล่านี้ไหม ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องมีความรู้ในหลาย ๆ สินทรัพย์ แต่เราไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนทุกสินทรัพย์หรืออาจลงทุนแค่สินทรัพย์เดียวก็ได้ เช่น ลงทุนในหุ้นอย่างเดียว

Inv_ทำไมเราต้องรู้จักหลายสินทรัพย์ลงทุน_01

ทำไมเราต้องมีความรู้ในหลาย ๆ สินทรัพย์

  1. ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากตารางด้านบนจะเห็นว่าผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์มีความผันผวนตั้งแต่น้อยไปหามาก เช่น ในตลาดเงิน (พันธบัตรระยะสั้น) มีความผันผวนต่ำ ทำให้มีโอกาสขาดทุนน้อยมาก แต่ก็ตามมาด้วยผลตอบแทนที่ต่ำ ขณะที่น้ำมันมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน ดังนั้น หากเราไม่หาความรู้ในสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เราจะไม่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งมีผลต่อการมีอิสรภาพทางการเงินของเรามาก ดังที่ผมได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้า

 

  1. เพื่อลดความเสี่ยง จากตารางด้านบน สินทรัพย์ที่ยิ่งให้ผลตอบแทนสูง จะยิ่งมีความผันผวนมาก เช่น หุ้น น้ำมันหรือ Bitcoin ดังนั้น การรู้จักสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย จะทำให้เราสามารถจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเราได้ เช่น หากเราต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5% เราควรมีหุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ เป็นสัดส่วนเท่าไรในพอร์ตลงทุน ซึ่งเราจะเรียนรู้เรื่องการจัดพอรต์ลงทุนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพในบทความถัด ๆ ไป

 

  1. การขึ้นลงของราคาแต่ละสินทรัพย์มีความสัมพันธ์กัน สมมติว่าเรามีความรู้และความเข้าใจเรื่องหุ้นมาก และต้องการลงทุนหุ้นอย่างเดียว จำเป็นไหมเราต้องรู้จักสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย ผมก็ยังคงคำตอบเดิมว่า จำเป็น แม้ว่าเราจะลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (Value Investor) เน้นหุ้นพื้นฐานและลงทุนระยะยาว แต่คำถาม คือ เราจะไม่สนใจปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดทองคำ และตลาดน้ำมันหรืออย่างไร แม้กระทั่งกูรูผู้ยิ่งใหญ่ด้านการลงทุนหุ้นอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ยังศึกษาตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ และวิเคราะห์ว่าช่วงนี้ควรซื้อหุ้นเพิ่ม หรือไม่ควรซื้อหุ้น ดังเช่นปัจจุบัน (ณ สิ้นปี 2564) บัฟเฟตต์มีสัดส่วนเงินสดในพอร์ตลงทุนสูงถึง 40% ของพอร์ตลงทุนรวม ซึ่งการไม่ซื้อหุ้นเพิ่ม เขาจำเป็นต้องรู้จักสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบไปด้วย แล้วรอคอยโอกาสที่จะกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง
Inv_ทำไมเราต้องรู้จักหลายสินทรัพย์ลงทุน_02

แล้วทำไมราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ถึงมีความสัมพันธ์กัน และไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนสูงสุดหรือต่ำสุดในระยะยาว นั่นเป็นเพราะว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่แตกต่างกันจะมีผลต่อราคาสินทรัพย์ลงทุนแต่ละชนิดแตกต่างกันไป (ภาพด้านบน) เช่น ช่วงที่ดอกเบี้ยขึ้น ตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี ในขณะช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว หุ้นจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด หรือหากเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอย การถือเงินสดถือว่าปลอดภัยที่สุด เป็นต้น (ภาพนี้ผมจะนำมาใช้อีกทีตอนอธิบายเรื่องการจัดพอร์ตลงทุน) ดังนั้น แม้ว่าเราจะลงทุนหุ้นอย่างเดียว เราก็ต้องเข้าใจในเชิงเศรษฐกิจเช่นเดียวกันว่าการลงทุนหุ้นช่วงนี้ไม่ดี เราควรลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลงหรือไม่ หรือไม่ควรซื้อหุ้นเพิ่ม และอาจนำเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ เพื่อเป็นการพักเงินไว้ก่อนที่จะถึงรอบลงทุนหุ้นใหม่อีกครั้ง

 

ตอนนี้เราพอทราบแล้วว่า การรู้จักหลาย ๆ สินทรัพย์มีประโยชน์ต่อเราในการลงทุน แต่เราไม่มีความจำเป็นต้องรู้จักสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมดก็ได้นะครับ เอาที่เป็นหลัก เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้เอกชน หุ้น ทองคำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำถามต่อมาคือ เราควรลงทุนสินทรัพย์อย่างไร คำถามนี้ตอบยากมาก ขึ้นอยู่กับแต่ละนักลงทุนว่ามีพื้นฐานความรู้ในสินทรัพย์ลงทุนมากน้อยแค่ไหน ผมเคยสอนหนังสือแล้วเปรียบเทียบเรื่องการขี่จักรยานให้คนเรียนฟังว่า มีคน 2 คนขี่จักรยานคันเดียวกัน คนหนึ่งเป็นแชมป์จักรยานประเทศไทย อีกคนหนึ่งเป็นคนธรรมดาที่ขี่จักรยานเพียงแค่ไปจ่ายตลาด คุณคิดว่าใครจะใช้จักรยานคันเดียวกันได้ดีกว่ากัน แน่นอนครับคนที่เป็นแชมป์ประเทศไทยจะใช้จักรยานได้ดีกว่า เช่นกันครับการลงทุนหุ้นก็เหมือนกัน คนหนึ่งมีความรู้มาก ศึกษามานาน มีประสบการณ์เยอะ กับคนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาในตลาดหุ้น ใครจะเป็นผู้ชนะ (โดยไม่มีโชคช่วยนะครับ) ดังนั้น ผมขอตอบคำถามนี้เป็น 2 แบบ

 

  1. หากคุณยังเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ เพิ่งศึกษาการลงทุนมาไม่นาน ยังไม่มีความเข้าใจในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นพิเศษ ผมคิดว่าการจัดพอร์ตลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเริ่มแรกหากเรายังรับความเสี่ยงได้ไม่มาก ก็อาจเริ่มลงทุนในหุ้นเพียง 10% ก่อน เงินส่วนใหญ่ที่เหลือก็ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี โดยอาจจัดพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ ก็ได้ และเมื่อไรที่เรามีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้นและรับความเสี่ยงได้มากขึ้นแล้ว ก็ค่อยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือทองคำเพิ่มขึ้นได้ และเมื่อเก่งมากพอก็สามารถเลือกลงทุนหุ้นรายตัวได้

 

“ความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากการลงทุนอย่างเดียว แต่เกิดจากเราไม่รู้ว่าเราลงทุนอะไร”

 

  1. หากคุณมีความเข้าใจสูงมากในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นพิเศษ ผมว่าคุณสามารถลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือแม้กระทั่งของสะสม อย่างเดียวพอได้ ผมเคยมีลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาเรื่องลงทุนหุ้น โดยเข้ามีความมั่งคั่งจากวงการพระเครื่อง มีลูกศิษย์ที่รวยจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่มาศึกษาเรื่องหุ้นเพราะอยากมีความรู้มากขึ้น หรือเพื่อนผมที่รวยจากการสะสมและซื้อขายนาฬิกาแบรนด์เนม เป็นต้น หรือแม้กระทั่งตัวผมเองก็เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ทั้งนี้จะเห็นว่าแต่ละคนมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะด้าน เขาสามารถลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ แต่ที่สำคัญคุณต้องมั่นใจนะครับว่า คุณมีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องสินทรัพย์ที่จะลงทุนมากกว่าคนอื่น ต้องประเมินตัวเองให้ดี โดยอาจติดตามผลตอบแทนว่าได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากเรายังไม่เก่งขนาดนั้น การลงทุนแบบแรกถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี สามารถประสบความสำเร็จและมีอิสรภาพทางการเงินได้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนประเภทไหน จะลงทุนระยะสั้น ระยะยาว ลงทุนแบบจัดพอร์ตลงทุน หรือลงทุนเฉพาะในสินทรัพย์ที่ถนัด สิ่งที่สำคัญคือ การหาความรู้ด้านการลงทุนให้รอบด้าน เพื่อเป็นแต้มต่อของเราในการสร้างอิสรภาพทางการเงิน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ทางเลือกการลงทุนประเภทต่าง ๆ รวมถึงผลตอบแทน ความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดทุนอย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร ครบเครื่องเรื่องลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: