จับจังหวะการกลับตัวของหุ้นด้วย RSI

โดย พงศ์พัฒน์ ค้ำชู, CMT, CAIA, CISA ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
3 Min Read
19 ธันวาคม 2567
2.768k views
TSI_Article_648_Inv_Thumbnail
Highlights
  • กลยุทธ์การเทรดทางเทคนิคแบ่งเป็น 2 สาย คือ Trend Following และ Mean Reversion Trading โดย RSI เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการจับจังหวะการกลับตัวของราคา

  • RSI (Relative Strength Index) เป็น Oscillator ที่บ่งบอกความแรงของราคา โดย Divergence ระหว่าง RSI กับราคาหุ้นสามารถบ่งชี้โอกาสการกลับตัวของตลาดได้

  • การใช้ RSI ควรมีการยืนยันสัญญาณด้วยรูปแบบแท่งเทียนที่บ่งชี้การกลับตัว และควรวางแผนการเทรดโดยกำหนด Stop Loss ที่เหมาะสมเพื่อจำกัดความเสี่ยง

ในการเทรดทางเทคนิค เราสามารถแบ่งกลยุทธ์ออกเป็นสองสายหลัก คือ สายเทรดตามแนวโน้ม (Trend Following) และสายเทรดที่เน้นจับรอบการกลับตัว (Mean Reversion Trading) ซึ่งแต่ละกลยุทธ์จะเหมาะกับสภาพตลาดที่แตกต่างกัน ในช่วงที่ตลาดไม่มีแนวโน้มจะทำให้กลยุทธ์การเทรดแบบ Trend Following มีประสิทธิภาพที่ลดลง ในขณะที่กลยุทธ์การเทรดแบบ Mean Reversion Trading ที่เน้นทำกำไรจากการจับรอบการกลับตัว มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่นิยมใช้สำหรับการจับจังหวะการกลับตัวคือ RSI หรือ Relative Strength Index ซึ่งเครื่องมือนี้ช่วยระบุสัญญาณเตือนถึงการอ่อนแรงของราคาและโอกาสที่ตลาดอาจกลับทิศทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

RSI คืออะไร

RSI หรือ Relative Strength Index เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พัฒนาโดย J. Welles Wilder Jr. ซึ่ง RSI เป็น Oscillator ที่มีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 0 ถึง 100 มีจุดประสงค์คือ บ่งบอกความแรงของราคา (Momentum) ในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งมักนิยมใช้ 14 วัน เป็นค่ามาตรฐาน

 

เนื่องจาก RSI เป็น Oscillator ที่คิดคำนวณมาจากราคาปิดของหุ้น ดังนั้น ในภาวะปกติ เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้น RSI ก็มักจะปรับตัวขึ้นตาม และเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง RSI ก็มักจะปรับตัวลดลงตาม กรณีที่ทั้งราคาและ RSI เคลื่อนไหวไปทิศทางสอดคล้องกันเรียกว่า Convergence ดังภาพด้านล่าง

กราฟที่ 1 แสดงการเกิด Convergence ระหว่างราคาและ RSI

RSI Divergence คืออะไร

ในบางช่วงเวลาที่ความผิดปกติเกิดขึ้น คือ RSI ไม่ได้ปรับตัวขึ้นหรือลงสอดคล้องกับทิศทางของราคาหุ้นแสดงถึง Momentum ที่อ่อนกำลังลง เราเรียกสิ่งนี้ว่า Divergence ซึ่ง Divergence สามารถแยกย่อยออกได้เป็น 2 แบบ

1. Bearish Divergence

Bearish Divergence เกิดในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น คือ ราคาปรับตัวขึ้นทำ Higher High แต่ RSI ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม เกิดการทำ Lower High เป็นตัวบ่งชี้ว่า Momentum ขาขึ้นเริ่มอ่อนแรงลง จาก RSI ที่ไม่ได้สนับสนุนการขึ้นต่อของราคา ดังนั้น มีความเสี่ยงที่จะจบรอบขาขึ้น ในกรณีที่มีหุ้นอยู่ควรพิจารณาขายทำกำไร หรือในกรณียังไม่มีหุ้นจะไม่ใช่จังหวะในการเข้าซื้อตาม 

กราฟที่ 2 แสดงการเกิด Bearish Divergence ระหว่างราคาและ RSI (ราคาทำ Higher High ในขณะที่ RSI ทำ Lower High)

2. Bullish Divergence

Bullish Divergence เกิดในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง คือ ราคาปรับตัวลดลงทำ Lower Low แต่ RSI ไม่ได้ปรับตัวลดลงตาม เกิดการทำ Higher Low เป็นตัวบ่งชี้ว่า Momentum ขาลงเริ่มอ่อนแรงลง จาก RSI ที่ไม่ได้สนับสนุนการลงต่อของราคา ดังนั้น มีความเสี่ยงที่จะจบรอบขาลง เป็นจังหวะในการเข้าเทรดรอบใหม่สำหรับคนที่ยังไม่มีหุ้นตัวนั้น หรือในกรณีที่มีหุ้นอยู่ จะไม่ใช่จังหวะในการ Stop Loss   

กราฟที่ 3 แสดงการเกิด Bullish Divergence ระหว่างราคาและ RSI (ราคาทำ Lower Low แต่ RSI ทำ Higher Low)

เทคนิคการยืนยันสัญญาณ RSI Divergence

เนื่องจากการที่ RSI แสดงการอ่อนแรงของแนวโน้มเพียงอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าราคาจะกลับตัวเสมอไป โดยเฉพาะในตลาดที่มีแนวโน้มที่แข็งแรง (Strong Trend) เทรดเดอร์ควรรอให้เกิดรูปแบบแท่งเทียนที่บ่งชี้การกลับตัว เช่น Hammer ในแนวโน้มขาลง หรือ Shooting Star ในแนวโน้มขาขึ้น ประกอบกับการเกิด Divergence ของ RSI จึงจะเป็นสัญญาณที่น่าเชื่อถือมากขึ้น และควรวางแผนการเข้าซื้อขายโดยกำหนด Stop Loss ที่เหมาะสมเพื่อจำกัดความเสี่ยงเสมอ เนื่องจากจุดเด่นของการเทรดแบบ Mean Reversion Trading นั้นไม่ได้อยู่ที่โอกาสชนะที่สูง (%Win) แต่มีจุดเด่นอยู่ที่ Reward/Risk ที่สูง คือทำกำไรได้มากเมื่อถูกทาง และความเสี่ยงจำกัดเมื่อผิดทาง

Case Study: บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)

กราฟที่ 4 แสดงการเกิดสัญญาณ Bullish Divergence ใน RSI พร้อมกับ Candlestick รูปแบบ Hammer ของหุ้น PTTGC

ในเดือนกรกฎาคมแนวโน้มของหุ้น PTTGC เป็นขาลง และเริ่มเกิดสัญญาณ Bullish Divergence ใน RSI ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2567 (ราคาทำ Lower Low แต่ RSI ไม่ได้ทำ Lower Low ตาม) แต่จะสังเกตเห็นว่า Candlestick ยังไม่มีสัญญาณการกลับตัวเกิดขึ้น จนมาวันที่ 13 สิงหาคม 2567 (หลังจากนั้น 6 วัน) Candlestick ได้เกิดสัญญาณการกลับตัวรูปแบบ Hammer ขึ้นเป็น Confirm รอบการกลับตัวของหุ้น PTTGC อย่างไรก็ตาม การจับจังหวะการกลับตัวด้วย RSI ควรมีสัญญาณอื่นยืนยันด้วยเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสการกลับตัว

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับมือใหม่ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ปัจจัยเทคนิค เพื่อกำหนดจังหวะการลงทุน ทั้งจุดซื้อ จุดขาย และจุดทำกำไร เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการลงทุนทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจกราฟเทคนิค” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน